13 กุมภาพันธ์ "วันรักนกเงือก" สัตว์โบราณที่ส่งต่อ DNA คู่แท้มา 60 ล้านปี

13 กุมภาพันธ์ "วันรักนกเงือก" สัตว์โบราณที่ส่งต่อ DNA คู่แท้มา 60 ล้านปี

เนื่องใน "วันรักนกเงือก" ที่ตรงกับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี ชวนรู้จัก "นกเงือก" ในฐานะเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เป็นสัญลักษณ์แห่งรักแท้ และเป็นสัตว์โบราณที่ส่งต่อ DNA สืบต่อสายพันธุ์มายาวนาน 60 ล้านปี

เป็นที่รู้กันดีว่า "นกเงือก" นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของรักแท้ ยังเป็นนักปลูกป่ามือฉมัง เป็นกลไกสำคัญตามกระบวนการทางธรรมชาติในการขยายพันธุ์พืช และสร้างความหลากหลายให้กับป่าใหญ่ มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์นกเงือก ต้องการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน และทำให้เห็นคุณค่าของงานอนุรักษ์ จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น วันรักนกเงือกโดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา 

นกเงือก (Hornbills) เป็นสัตว์โบราณถือกำเนิดมาเมื่อประมาณ 50-60 ล้านปี มีจุดเด่นตรงจะงอยปากหนาที่ใหญ่ รวมทั้งมีโหนกทางด้านบนเป็นโพรง ซึ่งภายในโพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ เนื่องจากธรรมชาติของนกเงือกมีลิ้นที่สั้น เราจึงมักได้เห็นภาพการกินอาหารของพวกมันโดยการจับอาหารอยู่ที่ส่วนปลายปากแล้วโยนกลับลงคอ อาหารหลักๆ ของนกกลุ่มนี้ คือ ผลไม้ และสัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ

ลักษณะของตัวนกจะมีทั้งที่มีขนสีดำ-ขาว บางชนิดอาจจะมีสีอื่นๆ บ้าง อย่าง น้ำตาล หรือเทา ส่วนที่ถือว่าฉูดฉาดที่สุดบนตัวนกเงือกจะอยู่ที่บริเวณหนังคอ ไม่ก็ขอบตา มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงใหญ่มาก บางชนิดอาจใหญ่ถึง 1.5 เมตร ขณะที่เมื่อกางปีกออกอาจวัดความยาวของปีกได้ถึง 2 เมตร เลยทีเดียว และด้วยความที่มีปีกใหญ่และแข็งแรง เวลานกเงือกบินจึงมักส่งเสียงดัง

158149321592   นกเงือกหัวแรด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

จากการศึกษาของนักวิชาการพบว่า นกเงือกทั่วโลกมีอยู่ราว 55 ชนิด สำหรับประเทศไทยพบอยู่ 13 ชนิด ได้แก่

- นกกก (Great Hornbill)

- นกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbilll)

- นกแก๊ก (Oriental Pied Hornbill)

- นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (White-throated Brown Hornbill)

- นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill)

- นกชนหิน (Helmeted Hornbill)

- นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill)

- นกเงือกปากดำ (Black Hornbill)

- นกเงือกดำ (Black Hornbill)

- นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill)

- นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill)

- นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill)

- นกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill)

158149321594   นกชนหิน

"นกเงือก" มีบทบาทเด่นในการช่วยกระจายพันธุ์ไม้ในป่า เนื่องจากนกเงือกกินผลไม้สุกเป็นอาหารมากกว่า 300 ชนิด 100 สกุล 40 วงศ์ ทั้งผลไม้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่อย่างเช่น ต้นมาง ตาเสือใหญ่ และค้อ นกเงือกจึงเป็นนักปลูกต้นไม้ที่สำคัญและปลูกได้ในป่าสูงๆ ที่คนเรายากจะปีนป่ายไปถึง และด้วยพฤติกรรมของนกเงือกบินหาอาหารไปทั่ว และกินผลไม้เข้าไปทั้งผลแล้วขย้อนเมล็ดออกมา

 

โดยในการศึกษาพื้นที่มรดกโลก 2 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นกเงือกคอแดง มีขนาดพื้นที่อาศัยตลอดปี 288 ตารางกิโลเมตร และมรดกโลกอีกแห่ง คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน พบว่า นกเงือกกรามช้าง มีพื้นที่อาศัยตลอดปี 995 ตารางกิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมไปถึงอุทยานแห่งชาติทับลาน ส่วน นกกก มีพื้นที่อาศัยตลอดปี 434 ตารางกิโลเมตร ทำให้มันกลายเป็นนักกระจายเมล็ดพันธุ์แห่งผืนป่าไปโดยปริยาย

ข้อมูลวิจัยของ ดร.วิจักขณ์ ฉิมโฉม เลขาธิการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ระบุว่า แค่มีต้นไม้ที่รอดตายจากการถ่ายมูลของนกเงือก เพียงวันละ 1 เมล็ดในแต่ละวัน ผืนป่าทั้ง 3 แห่งดังกล่าว ก็จะต้นไม้เพิ่ม 700,000 ต้นแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีงานวิจัยของโครงการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือก ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่บอกว่า นกเงือกเป็นตัวกลางเชื่อมโยงดุลยภาพต่างๆ ในสังคมป่าเขตร้อนให้คงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง นกเงือกอาจมีอายุยืนถึง 30 ปี แต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้นต่อสัปดาห์ ต้นไม้เหล่านี้จะมีอัตรารอดตายเติบโตเป็นไม้ใหญ่ราว 5 เปอร์เซ็นต์ หนึ่งชีวิตของนกเงือกจึงสามารถปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ป่าได้ถึงราว 500,000 ต้น

1581493209100

158149321230

ส่วนชีวิตครอบครัวของนกเงือกนั้น จะเป็นสัตว์ที่จับคู่ครั้งเดียวในชีวิต เริ่มต้นราวกลางเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ช่วงนั้นนกเงือกอยู่กันเป็นคู่ ตัวผู้จะเที่ยวเสาะหาโพรงรังให้ตัวเมียสำหรับกกไข่ เพราะนกเงือกไม่ได้สร้างเองเหมือนนกตัวเล็กๆ แต่อาศัยโพรงรังในต้นไม้ที่เกิดจากการเจาะของนกหัวขวาน โพรงที่เกิดจากรอยเล็บหมีมากินผึ้ง หรือโพรงที่เกิดจากฟ้าผ่า และโพรงรังต้องมีขนาดใหญ่พอสมควร

โดยต้องมีความสูงของชั้นเรือนยอดไม่น้อยกว่า 30 เมตร ต้นไม้ใหญ่ที่มีลักษณะอย่างนี้ มักจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี ซึ่งปัจจุบันเหลือน้อยมาก นกเงือกจะใช้โพรงเดิมเป็นรังประมาณ 10 ปี จากนั้นก็จะเสาะหาโพรงรังใหม่ ทำให้ในผืนที่มีปัญหาการตัดไม้ จะส่งผลถึงการหาโพรงรังไปโดยปริยาย

ด้วยความสำคัญดังกล่าว บวกกับสถานการณ์การล่านกเงือกในปัจจุบัน ทำให้ ได้มีการกำหนดให้ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น วันรักนกเงือก โดยกิจกรรมหลักๆ ของวันรักนกเงือกจะมีการจัดงานและกิจกรรมต่างๆ จากหลายภาคส่วน ทั้งทีมงานวิจัย ผู้สนับสนุน หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยจุดประสงค์ในการจัดงานนั้น เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนกเงือก ธรรมชาติ และการอนุรักษ์ มีการรายงานสถานภาพของนกเงือก และงานวิจัยต่าง ๆ

ทั้งหมดก็เพื่อนำไปสู่การสร้างความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของนกเงือก ที่ไม่ได้มีเพียงเรื่องราวของความโรแมนติกอย่างรักแท้ หากแต่ยังเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการปกปักษ์รักษาผืนป่า และการคงความหลากหลายทางธรรมชาติให้อยู่คู่กับโลกของเราต่อไป ท่ามกลางความท้าทายของการพัฒนาที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอยู่ในขณะนี้อีกด้วย

158149320915

----------------------------

อ้างอิง: seub.or.thpttreforestation