ชะตากรรม 'นกเงือก' ในภาวะเสี่ยง 'สูญพันธุ์' จากน้ำมือมนุษย์

ชะตากรรม 'นกเงือก' ในภาวะเสี่ยง 'สูญพันธุ์' จากน้ำมือมนุษย์

ย้อนรอยความเสี่ยงสูญพันธุ์ของ "นกเงือก" ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่าง "นกชนหิน" โดยเฉพาะการล่าเพื่อเอาโหนกของพรานกำลังยิ่งทำให้นกชนหินที่มีไม่ถึง 20 คู่ในเทือกเขาบูโด ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างยิ่ง

“วิวัฒนาการกว่า 45 ล้านปีจะต้องมาสิ้นสุดในยุคสมัยเรา คุณว่ามันน่าเสียใจไหมล่ะ”

ความตายของ "นกชนหิน" ที่เทือกบูโดถูกถ่ายทอดอย่างเงียบเชียบและหดหู่ ในวันที่วาระสิ่งแวดล้อมกลับขึ้นมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้งจากวิวาทะของ เกรต้า ธุนเบิร์ก เมื่อปี 2562

ถ้าจำกันได้ หรือผ่านหูผ่านตาในออนไลน์ ราว 4 ทุ่มของวันที่ 25 กันยายน 2562 ปรีดา เทียนส่งรัศมี นักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของ "นกเงือก" คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกเล่าถึงความอัดอั้นตันใจผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Preeda Budo ถึงโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับนกชนหินในค่ำคืนนั้น 
เขาเขียนว่า...

"..ขณะที่พิมพ์ข้อความอยู่นี้.ผมนอนอยู่ในเปลบนเขาตะโหนด อ.รือเสาะ ใจสับสนและกังวลเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้มาว่า ตอนนี้มีพรานจากรือเสาะและยะลากำลังขึ้นเขามาล่าสัตว์ และสัตว์ที่เขามาล่าคือหัวนกชนหิน.. มีตลาดรับซื้ออยู่ในเมืองนราเขาให้ราคาถึงหัวละหมื่น ชาวบ้านมาบอกว่าสองวันก่อนเขาเจอพรานมาซุ่มยิง "นกเงือก" ที่ต้นไทรสุก..พบยิงนกชนหินถึง 4 ตัว ใจหายและรู้สึกโกรธจะทำอย่างไรกันดี? สิ่งที่เราช่วยกันดูแลรักษากำลังถูกทำลาย และผมก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย เพียงแค่บันทึกบอกกล่าวและได้ระบายอะไรบ้าง ชาวบ้านที่ให้ข้อมูลเขาก็กลัวเพราะพวกมันมีปืน

ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า “ผมเคยเตือนเขาแล้วว่าอย่ายิง "นกเงือก" เขาอนุรักษ์กัน มันกลับท้ายิงผมอีก”

หลายปีที่ผ่านมาสำหรับผมคือความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง หากปล่อยให้เหตุการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป.. จะมีประโยชน์อะไรสำหรับงานอนุรักษ์นกเงือกที่บูโด ขอพื้นที่ตรงนี้ได้บอกเล่าความจริงเผื่อว่าจะมีทางออกที่ดีกว่าและมาช่วยกันหาทางแก้ไข ซึ่งเวลานี้ผมก็เพียงแค่ภาวนาต่อเจ้าป่าเจ้าเขาบูโดขอให้คุ้มครองพวกมันด้วยเถิด.."

การพูดคุยผ่านระบบสื่อสารท่ามกลางสายฝนกลางคืนในเทือกบูโด แม้สัญญาณจะติดขัด และขาดหายเป็นบางช่วง แต่ก็จับน้ำเสียงความโกรธของเขาได้อย่างชัดเจนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 
“ตอนนี้มันลามมาถึงบูโดแล้วครับ” เขาตอบเสียงสั่นด้วยความโกรธ

158148969592

  • อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

13 กุมภาพันธ์ 'วันรักนกเงือก' นักปลูกผู้ปกปักษ์ป่าสมบูรณ์

วันรักนกเงือก ถึง 'นกเงือก' ที่รัก(ษ์)

เป็นที่รู้กันดีในวงการอนุรักษ์ว่า นกชนหิน หรือ Helmeted Hornbill สัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และจัดเอาไว้ในบัญชีที่ 1 ของอนุสัญญาไซเตสกำลังถูกคุกคาม และล่าอย่างเป็นล่ำเป็นสันเพื่อเอาโหนกบนจะงอยปากบนของ "นกเงือก" ไปแกะสลักทำเป็นเครื่องใช้ และเครื่องประดับราคาสูง มันจึงมีสถานะไม่ต่างจาก “งาเลือด” ที่แม้จะมีการตรวจจับอย่างเข้มงวด แต่บริเวณคาบสมุทรมลายูก็ยังถือเป็นแหล่งล่านกชนหินขนาดใหญ่ 

ขณะที่นิเวศนกเงือกในประเทศไทยนั้นถือเป็นนิเวศที่สมบูรณ์อีกแห่งหนึ่งของภูมิภาค โดยมีพื้นที่ศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้นอยู่ 3 พื้นที่ คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ซึ่งพื้นที่ทั้ง 3 แห่งนี้มี นกเงือกได้ครอบคลุมทั้ง 13 สายพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทย

สำหรับสถานการณ์นกเงือก ปี 2559 นั้นค่อนข้างมีปัญหา เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้อาหารขาดแคลน นกเงือกจึงไม่ค่อยเข้ารัง ส่งผลให้มีอัตราการขยายพันธุ์น้อย แต่ในปี 2560 สถานการณ์ดีขึ้นมาก จนกระทั่งเมื่อไม่นานนี้ ปากกระบอกปืน และใบสั่งนั้นก็หันมาเล็งใส่นกบนเทือกบูโดในที่สุด

จากการสำรวจของโครงการคุ้มครองนกเงือกฯ ในพื้นที่นั้น พวกเขามีนกเงือกอยู่ในความดูแลราว 200 โพรงรัง ขณะที่นกชนหินที่เจ้าหน้าที่สำรวจพบมีอยู่ประมาณ 20 โพรงรัง ซึ่งตลอดทั้งปีนี้ นกชนหินเพิ่งเข้ามาเพียง 1 โพรงรังเท่านั้น

เมื่อย่างเข้าฤดูฝน ก็เป็นเหมือนสัญญาณที่จะต้องเฝ้าระวังการล่าหัวนกเงือก และนกชนหิน เนื่องจากจะเป็นช่วงเวลาที่พ่อนก แม่นกออกจากโพรงรังไปหากินลูกไทร พรานก็ไปดักซุ่มยิงเอาบนต้นไทรอย่างง่ายดาย 

“ชาวบ้านที่ทำงานกับโครงการของเราเขาบอกว่า โพรงรังเบอร์ 10 ที่เป็นนกชนหินนั้น ตัวผู้ไม่เข้ารังมาสักพักแล้ว คาดว่าพ่อนกน่าจะโดนยิงไปแล้ว เพราะนกชนหินทั้ง 4 ตัวที่ชาวบ้านเจอในมือพรานก็น่าจะมาจากที่บูโดนี่แหละ”

ปรีดาประเมินปริมาณประชากรนกชนหินในเทือกบูโดว่า น่าจะมีอยู่ราว 20 คู่ (อย่างมาก) หากเป็นดังคำบอกเล่าของชาวบ้านที่เจอพรานจริงๆ เท่ากับว่า บ้านหลังสุดท้ายของนกชนหินที่นราธิวาส (หรืออาจจะประเทศไทย) กำลังอยู่ในภาวะเปราะบางอย่างยิ่ง เพราะข่าวที่มาทำให้ทุกอย่างดูแย่ลงไปอีกก็คือ พรานกลุ่มนี้ น่าจะเป็นอดีตทหารพรานเก่า ที่มีความเจนจัดในพื้นที่อย่างดี สังเกตได้จากการพกปืนผ่านเข้านอก-ออกในพื้นที่ได้อย่างสะดวก ทั้งๆ ที่บริเวณนี้ เต็มไปด้วยด่าน และป้อมของเจ้าหน้าที่ 

158148969514

ขณะที่ราคาของโหนกนกชนหินก็ดูจะยั่วยวนเป็นอย่างมาก เพราะสนนราคาตัวละกว่า 1 หมื่นบาท และมีแหล่งรับซื้ออยู่ในตัวเมืองนราธิวาสเลยด้วยซ้ำ อีกทั้งความซับซ้อนของขบวนการลักลอบค้านกเงือกนั้นก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น 

ป่าดิบแดนใต้ในช่วงนี้ถือเป็นช่วงเฝ้าระวังที่เข้มข้น และเจ้าหน้าที่โครงการฯ ต้องทำงานหนักที่สุดอีกช่วงของปีในการเฝ้าระวังไม่ให้มีผู้มาลักลอบล้วงลูกนกเงือกจากรัง ให้หายหน้าจากผืนป่าไปปรากฏอยู่ในลิสต์รายชื่อสินค้าบนโลกออนไลน์

“ตัวหลักจะเป็นนกเงือกหัวแรด จะโดนค่อนข้างเยอะ ทุกปี” สรยุทธ ไชยเขียว หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโคกไม้เรือ จ.นราธิวาส เคยเล่าถึงสภาพการล้วงลูกนกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งถือเป็นแหล่งใหญ่ในการอยู่อาศัย ของบรรดานักแพร่เมล็ดพันธุ์แห่งธรรมชาติ

มูลค่านกเงือกตัวหนึ่ง จะมีการซื้อขายกันตั้งแต่หนึ่งถึงสองพันบาท ไปจนถึงหลายหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับใบสั่ง โดยมีแหล่งรับซื้อใหญ่ๆ อยู่ที่บริเวณพื้นที่รอยต่อ จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ก่อนจะถูกส่งต่อไปตามเส้นทางจนถึงตัวผู้ที่อยากเลี้ยงสวนสัตว์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับตลาดต่างประเทศนั้นจะมีประเทศจีนและสิงคโปร์ แหล่งรับซื้อสำคัญของลูกนกเหล่านี้ ซึ่งข้อมูลในตลาดมืดระบุว่า เฉพาะหัวนกชนหินนั้นหากส่งไปถึงมือผู้ซื้อได้จะมีราคาสูงถึงหัวละ 30,000 บาทเลยทีเดียว

การลักลอบค้าสัตว์ผิดกฎหมายในพื้นที่ปลายด้ามขวานตามรายงานการจับกุมการลักลอบค้าสัตว์ป่า ผิดกฎหมายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งไปกว่านั้น การประกาศซื้อขายลูกนกเหล่านี้ผ่านเว็บไซต์ หรือเครือข่ายออนไลน์อย่างโจ่งแจ้ง ยิ่งตอกย้ำถึงวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นกับผืนป่าธรรมชาติบ้านเราในวันนี้

ด้วยพฤติกรรมการหากินที่หลากหลายทำให้นกเงือกได้ชื่อว่าเป็น "นักปลูกป่า" ซึ่งข้อมูลจาก มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่า ลูกนกเงือกที่มีการสำรวจพบเกือบ 4,000 ตัวในปี 2559 นั้นจะสามารถปลูกต้นไม้ได้มากถึง 72,000 ต้น การหายไปของนกเงือกจึงหมายถึงป่าที่จะหายไปด้วย

ด้าน กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าระบุว่า ประชากรนกชนหินในประเทศไทยเป็นกลุ่มประชากรขนาดเล็กมีการประมาณประชากรไม่เกิน 100 ตัว โดยสภาพปัญหาการล่านกชนหินในปัจจุบัน แบ่งการล่าออกเป็น 2 แบบคือล่าเพื่อเอาลูกซึ่งฤดูกาลทำรังประมาณเดือนธันวาคม - พฤษภาคมและแบบที่ 2 ถูกนายพรานล่าเพื่อเอาโหนก

158148969681

สำหรับการดำเนินคดีตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2562 มีคดีการกระทำผิดด้านสัตว์ป่า กรณีของนกชนหิน จำนวน 3 คดี จับผู้ต้องหาได้จำนวน 5 คน นกชนหินที่ยึดมาได้ยังมีชีวิตจำนวน 3 ตัวเป็นซากจำนวน 1 ตัว ด้านมาตรการเชิงรุกได้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการจัดการพื้นที่เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่ที่พบนกชนหินอยู่อาศัย หากิน และทำรังโดยการจัดเจ้าหน้าที่สำรวจลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) เพิ่มเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจในการเฝ้าระวังดูแลนกชนหินในพื้นที่

"วิวัฒนาการกว่า 45 ล้านปีจะต้องมาสิ้นสุดในยุคสมัยเรา คุณว่ามันน่าเสียใจไหมล่ะ มันสำคัญมากนะ นกชนหินนี่ถือเป็นสัญลักษณ์ของนราธิวาสก็ว่าได้ อย่างที่เรารู้กันนั่นแหละว่า นกเงือกเป็นดัชนี้ชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า หรือแค่คิดว่าการล่า "นกเงือก" ที่ยังมีอยู่มันก็เท่ากับว่าสิ่งที่พวกเราพยายามอนุรักษ์กันมาตลอดหลายปีนั้นสูญเปล่าไปแล้ว"

เขาก็ได้แต่หวังลึกๆ ว่าจะมีผู้ใหญ่สักคนมองเห็น และเข้ามาช่วยดูแลเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนที่สุด เมื่อพรานยังวนเวียนอยู่ในป่า เท่ากับว่าความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะต้องสูญเสียนกชนหินหรือนกเงือกตัวอื่นๆ ก็ยิ่งมีสูงขึ้นเท่านั้น 

“หรือถ้าไม่มีใครสนใจ ผมกับชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ นี่แหละจะช่วยกันดูแลเอง!”