'อสมท' จ่อยื่นศาล หากเยียวยา 2600 ไม่สมเหตุสมผล

'อสมท' จ่อยื่นศาล หากเยียวยา 2600 ไม่สมเหตุสมผล

อนุฯพิจารณาจ่ายค่าเรียกคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ เผยเสร็จภารกิจ ระบุยึด 4 เกณฑ์สากลเยียวยา ชงบอร์ดกสทช.ลงมติวันนี้ ด้าน อสมท.หวังรับเงินเยียวยา 10% ของมูลค่าประมูล เล็งยื่นบอร์ดวางแผนฯรับหรือไม่รับมติกสทช. แจงหากไม่สมเหตุผลมีสิทธิ์ฟ้องศาลไม่เป็นธรรม

นับถอยหลังการประมูล 5จี ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 ก.พ.นี้ โดยหนึ่งในคลื่นที่จะนำมาประมูลคือ ย่านความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกคืนจากบมจ.อสมท จำนวน 146 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อสรุปถึงวงเงินเยียวยากรณีคืนคลื่นดังกล่าว

 

ล่าสุดวานนี้ (11 ก.พ.) บมจ.อสมท ได้จัดงานกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ พบพนักงาน ชี้แจงกรณีคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ พร้อมกับเชิญ

 

ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทน ชดใช้ หรือ จ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2600 เมกะเฮิรตซ์ มาบรรยายเพื่อสร้างเข้าใจพนักงาน

 

นายจิตรนรา นวรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทน ชดใช้ หรือ จ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2600เมกะเฮิรตซ์ (MHz.) เปิดเผยว่า โดยอนุกรรมการฯ ได้พิจารณา 2 ประเด็นคือการคืนคลื่น และการชดเชย เยียวยา การจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่น ซึ่งภารกิจของอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว และได้ส่งเรื่องไปให้กับคณะกรรมการกสทช. (บอร์ด) พิจารณาลงมติในวันนี้ (12 ก.พ.2563)

 

อนุฯยึด 4 เกณฑ์ชดเชยเยียวยา

สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาในการคืนคลื่นความถี่เป็นไปตามกฎหมายที่กสทช. มีสิทธิ์ในการเรียกคืนคลื่นเพื่อจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับส่วนรวม เพียงแต่จะต้องมีหลักเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชย หรือผลตอบแทนให้สมเหตุผล ซึ่งทางอนุกรรมการฯได้พิจารณยึด 4 หลักเกณฑ์ จาก 3 สถาบันในต่างประเทศมาศึกษาเปรียบเทียบ ประกอบด้วย

1.สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU-International Telecommunication Union) ที่กำหนดคลื่นความถี่ให้เป็นสากล มีการวางแนวทางมาจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่พร้อมกับการชดเชยกับผู้ที่ต้องคืนคลื่นความถี่ 2.กรณีการจ่ายเงินชดเชยที่ใกล้เคียงกันกับไทย คือ ประเทศรัสเซีย มีการคืนย่าน2600 เมกะเฮิรตซ์จากโทรทัศน์ เป็นโทรคมนาคม มีรูปแบบการนำไปใช้ใกล้เคียงกันกับไทย และ 3. สหรัฐอเมริกา ที่เป็นต้นแบบการนำคลื่นมาจัดสรรใหม่ มีหลักเกณฑ์ตัวเลขการจ่ายเงินชดเชยมาเป็นแนวทางในการพิจารณา รวมถึง 4.กรณีการจ่ายเงินชดเชยให้กับทีวีดิจิทัล 24 ช่องในไทย

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) องค์กรจัดคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนานาคม พ.ศ.2553 ในข้อ 12 ได้กำหนดการประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่ และการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการจ้างสถาบันการศึกษาของรัฐหรือสถาบันวิจัยของรัฐ หรือวิจัยอื่นที่ไม่แสวงหาผลกำไร

 

ปัดตกผลศึกษา 3 สถาบัน

โดยอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาผลศึกษาจาก 3 สถาบันที่ทำการประเมินราคาเยียวยา ได้แก่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ทั้ง 3 สถาบันมีหลักเกณฑ์การวิจัยที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การทำธุรกิจที่จะมีหลักเกณฑ์สากล และสอดคล้องกันกับที่หลักเกณฑ์ที่เคยจ่าย ขณะเดียวกันยังไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ในหมวดการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนฯ ในข้อ 15 ที่กำหนดทดแทน และข้อ16 ที่กำหนดให้ชดใช้การถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ตามที่ 3สถาบันได้ศึกษา จึงไม่นำหลักเกณฑ์ของ 3 สถาบันมาพิจารณา

 

อสมท จ่อฟ้องศาลชี้ขาด

 

ด้านนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท กล่าวว่า ทางอสมท จะรอฟังมติบอร์ดกสทช.วันนี้ (12 ก.พ.2563) ก่อนนำเสนอให้บอร์ดอสมท พิจารณาต่อไป หากบอร์ดไม่ยอมรับมติของกสทช. ในกรณีเสนอเงินเยียวยาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งควรจะอยู่ที่ประมาณ 10% ของมูลค่าเงินที่ได้รับจัดสรรการประมูล หรือไม่ต่ำจนเกินไป หากน้อยเกินไปทางอสมท สามารถดำเนินการฟ้องร้องศาล ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

“ทางเราถือคลื่นความถี่แต่ต้องยอมคืนให้กับทางกสทช.เพื่อประโยชน์โดยส่วนรวม ซึ่งคลื่นที่ถืออยู่ถือว่ามีมูลค่าหากทางกสทช.มองว่าจะสามารถนำไปเพิ่มมูลค่าให้มากกว่าก็พร้อม แต่ก็ควรมีการจัดสรรอย่างเป็นธรรม เพราะเมื่อคืนคลื่นไปแล้วทางอสมท.ไม่สามารถทำธุรกิจด้านนี้ต่อไปได้”