วิศวะฯ มหิดล เปิด 3 นวัตกรรม รับมือไวรัสโคโรนา และ ภัยพิบัติ

วิศวะฯ มหิดล เปิด 3 นวัตกรรม  รับมือไวรัสโคโรนา และ ภัยพิบัติ

จากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่แพร่ระบาดในประเทศจีนและอีก 27 ประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อชีวิต สุขภาพ และเศรษฐกิจ โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 11 ก.พ. พบผู้ติดเชื้อในไทยสะสม 33 ราย

ประเด็นที่ตามมาคือ ความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ ข่าวปลอมต่างๆ ที่มักพบเห็นได้บ่อยเมื่อมีประเด็นเกิดในสังคม ล่าสุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิด 3 นวัตกรรม ได้แก่ 1. หุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ Doctosight สำหรับการวินิจฉัยและรักษาผ่านระบบโทรเวช (Telemedecine) 2. ถุงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในการป้องกันเชื้อโรคและสารเคมี และ 3. ระบบ AI คัดกรองข่าวปลอมในเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรนา เพื่อรับมือไวรัสโคโรนาและภัยพิบัติจากสารเคมี หรือกัมมันตรังสี ทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต

  • หุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานแถลงข่าวเปิด 3 นวัตกรรม รับมือไวรัสโคโรนาและภัยพิบัติ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงที่มาของนวัตกรรมหุ่นยนต์ว่า ที่ผ่านมาเราทำงานวิจัยเรื่องหุ่นยนต์ทางการแพทย์ทั้งผ่าตัด ฟื้นฟู และช่วยบริการอำนวยความสะดวกในโรงพยาบาลมากว่า 15 ปี ขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ มีอัตราส่วนจำนวนบุคลากรทางด้านการแพทย์ต่อประชากรทั้งหมดค่อนข้างต่ำ เฉลี่ย 0.393 คนต่อประชากร 1000 คน โดยเฉพาะในวิกฤติไวรัสโคโรนา ย่อมต้องการนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาแบ่งเบาภาระแพทย์พยาบาล ตลอดจนมุ่งพัฒนายกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศ

158142830852

“การที่บุคลากรทางการแพทย์เข้าไปพูดคุยกับผู้ติดเชื้อ มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการคิดค้น การพัฒนาหุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ Doctosight สำหรับการวินิจฉัยและรักษาผ่านระบบโทรเวช (Telemedecine) จะช่วยให้แพทย์และบุคลากรไม่ต้องเข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ”

158142830844

Doctosight

จุดเด่นของหุ่นยนต์ คือ ทำงานร่วมกันได้มากกว่าหนึ่งตัว สามารถควบคุมได้ผ่านแอพพลิเคชั่น สื่อสารได้ทั้งระยะใกล้และระยะไกล สามารถขนส่งยาภายในโรงพยาบาลได้ ถูกออกแบบให้ติดตั้งระบบเซนเซอร์ตรวจวัดสัญญานชีพต่างๆ ทั้งอุณภูมิความร้อน และการวัดอื่นๆ ซึ่งสามารถติดตั้งเพิ่มเติมได้ เคลื่อนที่หลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ เข้าเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงได้โดยไม่จำเป็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมาที่หน้าคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบัน มีทั้งหมด 3 ตัว รวมถึงมีการหารือร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช และ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการพัฒนาศักยภาพเพื่อใช้ในโรงพยาบาลในอนาคต ซึ่งหากหน่วยงานอื่นๆ สนใจ สามารถทำเพิ่มได้ในจำนวนมาก

อ่านข่าว
เจาะเรื่องลับ 'ไวรัสโคโรน่า' และอัพเดตข้อมูลที่ต้องรู้!

  • ถุงเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

ขณะเดียวกัน การขนย้ายผู้ป่วยในสถานการณ์อุบัติภัยโรคระบาด สารเคมีหรือสารกัมมันตรังสี สำคัญมาก เนื่องจากสามารถส่งผลอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง กรณีไวรัสโคโรนา ผู้ติดเชื้อสามารถส่งผ่านเชื้อไปยังแพทย์พยาบาลหรือผู้ที่ช่วยเหลือได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความปลอดภัยต่อผู้ที่ช่วยเหลือ หากต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจากจุดอันตรายไปยังที่ที่ปลอดภัย

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเราได้ผสานความร่วมมือการวิจัยกับสำนักวิจัยทหารอากาศราว 2 ปีก่อน ในการพัฒนาถุงเคลื่อนย้ายผู้ป่วย แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 1. ถุงเคลื่อนย้ายแบบ Negative Pressure Bag : NPB สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และ 2. ถุงแบบ Positive Pressure Bag : PPB สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ไม่มีเชื้อ แต่อยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยถ่ายเทอากาศออกไปด้านนอก ใช้ในสถานการณ์ที่สิ่งแวดล้อมรอบด้านเป็นพิษ จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในถุงที่ปลอดภัย และปรับความดันภายในถุงให้เป็นบวก ดังนั้น อากาศภายนอกจะเข้าไปข้างในไม่ได้

158142830929

Negative Pressure Bag

โดยวัสดุห่อหุ้ม แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนผ้าใบห่อหุ้มด้านล่างและส่วนพลาสติกใสในการห่อหุ้มตัวโครงสร้างด้านบนทั้งหมด ถุงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมีขนาดมาตรฐาน ประมาณ 60 ซม. x 200 ซม. x 70 ซม. มีที่จับสามารถขนย้ายผู้ป่วยได้สะดวก ปลอดภัยและติดตั้งระบบกรองและถ่ายเทอากาศ รวมถึงปรับความดัน นอกจากนี้ ยังมีช่องทางที่เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยที่อยู่ด้านในได้ เพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ได้

158142830745

Positive Pressure Bag

“ตอนทำวิจัยเราเน้นทั้ง 2 สถานการณ์ คือ เมื่อพบไวรัส และ สงครามชีวภาพ ซึ่งมีทั้งหมด 2 ชุด มอบให้กับทหารอากาศนำไปทดสอบ เชื่อว่าเรามีศักยภาพ ที่เราสามารถพัฒนาได้ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้อย่างรวดเร็วและทันที เพราะตอนนี้เรามีความรู้อยู่ในมือ องค์ประกอบต่างๆ สามารถสร้าง ประดิษฐ์ขึ้นมา สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องในระดับทางการทหาร เพื่อการป้องกันด้านชีวภาพ ตามมาตรฐานความต้องการการขนส่งผู้ป่วยติดเชื้อ” รศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าว

  • เอไอคัดกรองข่าวปลอม

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือ Anti-Fake News Center Thailand ขึ้น เพื่อเผยแพร่ข่าวสารที่มีข้อเท็จจริง แต่ล่าสุด จากการมอนิเตอร์และรับแจ้งเรื่องเกี่ยวกับประเด็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ระหว่างวันที่ 25-29 มกราคม 2563 พบว่า มีจำนวนข้อความที่แจ้งเข้ามากว่า 7,587 ข้อความ แต่มีจำนวนที่ต้องตรวจสอบยืนยัน (Verify) 160 ข้อความ โดยพบว่ามีข่าวที่เกี่ยวข้องโดยตรง 26 เรื่อง แบ่งเป็น ข่าวปลอม 22 เรื่อง และข่าวจริง 4 เรื่อง เท่านั้น

158142831194

นำมาซึ่งการคิดค้นนวัตกรรม ระบบ AI คัดกรองข่าวปลอมในเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดย ดร.สุเมธ ยืนยง ร่วมกับ ผศ.ดร.นริศ หนูหอม และ ดร. กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี กล่าวว่า ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมของคนไทย ไม่ได้รับข่าวสารทางโทรทัศน์อย่างเดียวแต่รับทางโซเชียลมีเดียที่มีความหลากลายด้านเนื้อหา ข้อเท็จจริง ความคิดเห็นส่วนตัว หรือข่าวปลอม การแชร์ข้อมูลต่างๆ หลายครั้งขาดการคัดกรอง ทำให้ข่าวกรองแพร่กระจายรวดเร็วกว่าไวรัส นำมาซึ่งการนำเอไอมาคัดกรองเบื้องต้น

158142830962

ดร.สุเมธ ยืนยง หัวหน้าโครงการระบบเอไอคัดกรองข่าวปลอมฯ กล่าวเสริมว่า ภาพรวมการทำงานของระบบ เราพยายามทำเว็บไซต์โดยออกแบบให้ใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยาก เพื่อให้คนที่ต้องการตรวจสอบ สามารถก๊อบข้อความที่ต้องสงสัยลงไปในหน้าต่างของหน้าเว็บ เพื่อเปรียบเทียบกับคลังข้อมูล หากไม่ตรงกันก็ต้องสงสัยว่าเป็นข่าวปลอม กรณีค้นพบข้อความที่ต้องสงสัยจะมีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ ในกรณีระบบไม่ชัวร์ ผู้ใช้สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ด้วยตัวเองอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งระบบได้รวบรวมไว้ให้ จุดเด่นคือ สามาถตรวจสอบข้อความได้ในปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็วและไม่ใช่แค่ข้อมูลไวรัสโคโรนาอย่างเดียว แต่ยังสามารถตรวจสอบข้อมูลอื่นได้อีกด้วย ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาหลังจากนี้ 1 เดือน

158142830960

“สำหรับในตอนนี้ใช้ได้กับข้อความที่เป็นตัวหนังสือเท่านั้น ยังไม่รวมคลิป ภาพ วิดีโอ หรือตัวหนังสือในภาพ โดยในระยะยาว จะขยายไปให้ตรวจสอบเหล่านั้นได้ รวมถึงครอบคลุมข่าวปลอมอื่นๆ คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ คำว่าเช็กก่อนแชร์ก็จะมีคนทำตามมากขึ้น” ดร.สุเมธ กล่าว ​