ลงทุนอย่างไร? ในภาวะวิกฤติไวรัส และเศรษฐกิจขาลง

ลงทุนอย่างไร? ในภาวะวิกฤติไวรัส และเศรษฐกิจขาลง

เดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้ นักลงทุนจะวางกลยุทธ์การลงทุนอย่างไร ในภาวะวิกฤติไวรัสโคโรน่าและเศรษฐกิจขาลงแบบนี้

ผ่านพ้นเดือนแรกของปี 2020 เข้าสู่เดือน ก.พ. อย่างรวดเร็วนะครับ ปี 2019 เป็นปีที่เรียกได้ว่ามีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนเยอะแล้ว แต่ปี 2020 แค่เดือนแรก ก็มีเรื่องราวต่างๆ หลายเรื่องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่การเจรจาการค้าที่สามารถตกลงกันได้ระหว่างสหรัฐกับจีน ต่อด้วยเรื่องการถอนตัวออกจากยุโรปของอังกฤษ (Brexit) แต่ก็เกิดความรุนแรงระหว่างสหรัฐกับอิหร่านในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นข่าวในเชิงลบต่อตลาดทั่วโลก จนล่าสุดคือ การระบาดของไวรัสโคโรน่าที่ขยายวงออกไปทั่วโลก ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินอยู่ใน ขณะนี้ ก็เรียกได้ว่าเรื่องเก่าไปเรื่องใหม่มา และก็ยังไม่แน่นอนว่าเรื่องเก่าจะกลับมาเป็นเรื่องใหญ่ได้อีกหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นนี้มีผลกระทบต่อเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างมาก

สำหรับประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลาดหุ้นเกิดผันผวนตามข่าวสารเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างที่เราเห็นได้ แม้จะมีข่าวดีจากการทำข้อตกลงทางการค้า แต่ก็แทบไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเกิดการระบาดของไวรัสโคโรน่าที่รุนแรง ซึ่งกระทบต่อตลาดหุ้น การท่องเที่ยว และการเดินทางต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะเจอผลกระทบค่อนข้างมาก ที่สำคัญคือผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะทำให้ SET Index มีทิศทางที่จะปรับตัวลงต่อเนื่องในเดือนนี้ เป็นภาวะที่เราต้องเตรียมตัวรับมือกันให้ดีนะครับ

ถามว่าในเดือน ก.พ. นี้ จะบริหารการเงิน หรือใช้กลยุทธ์ลงทุนอย่างไรกันดี ในภาวะที่เหตุปัจจัยทั้งในและต่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย หลักๆ แล้วเรามีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อ การลงทุนในเดือน ก.พ. ดังนี้ครับ

ปัจจัยแรกคือ การระบาดของไวรัสโคโรน่าที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดลง แม้การแพร่ระบาด ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย แต่กระทบเศรษฐกิจและการส่งออกทั่วโลก โดยคาดว่าต้องใช้ระยะเวลากว่า 2-3 เดือน สถานการณ์ถึงจะผ่านจุดสูงสุดและอัตราการติดเชื้อจะเริ่มลดลงในระยะถัดไป

ปัจจัยที่ 2 คือ เรื่องการเมืองในประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อตลาดหุ้นมากพอสมควรมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยในเดือน ก.พ.นี้จะมีเรื่องงบประมาณปี 2563 ที่ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าผ่านหรือไม่ รวมไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ช่วงกลางเดือน ก.พ. ที่จะมีต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและจะมีส่งผลต่อเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องการโครงการลงทุนของรัฐบาล อีกเรื่องคือ ปัญหาภัยแล้งที่จะมีผลต่อกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่ต้องพึ่งพาน้ำโดยตรง

ทำให้ทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวนี้ จะนำมาซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ 3 คือ นักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ จะเกิดการปรับพอร์ตลงทุน ทำให้ตลาดหุ้นไทยเผชิญความผันผวนต่อเนื่องอาจเห็นดัชนีลงไปต่ำสุดได้ และทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 1 อาจเติบโตลดลงอย่างมีนัย โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน, ธนาคาร, ท่องเที่ยว, ขนส่ง แม้ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ลงมาเหลือ 1% เป็นระดับดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่ก็ต้องติดตามดูว่าจะช่วยหนุนเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน

158142654675

ด้วยภาพรวมเช่นนี้ ผมมองว่า ในระยะสั้นนี้ นักลงทุนจะเกิดควำมกังวลไม่กล้าลงทุน ปัจจัยบวกอย่างเดียวที่จะมีคือปัจจัยลบที่คลี่คลายลงเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องมองการลงทุนในระยะยาวตลอดทั้งปี เพราะหากพิจารณาตลาดหุ้นอื่นๆ แล้ว ต้องบอกว่ามีหลายตลาดที่ยังเติบโตต่อไปได้ในปีนี้ โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐในกลุ่มเทคโนโลยี, ธุรกิจด้านความปลอดภัย และตลาดหุ้นอินเดีย รวมไปถึงสินทรัพย์อื่นๆ ที่ยังสามารถเลือกลงทุนได้ อย่างไรก็ตาม อาจต้องพิจารณาปรับพอร์ตลงทุน บ้างในบางส่วน

เหนืออื่นใดแล้ว ไม่ว่าการลงทุนจะบวกหรือลบมากน้อยแค่ไหน สำคัญที่สุดคือสุขภาพของทุกคนที่ผมอยากให้ทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญมากๆ นะครับ ติดตามข่าวสารและระมัดระวังการลงทุนช่วงนี้สักนิดนะครับ