ตกขอบเทคโนโลยี

ตกขอบเทคโนโลยี

ธุรกิจใดที่ยังมองโอกาสทางเทคโนโลยีไม่เห็น ก็มีโอกาสสูงที่จะตกขอบโลก เพราะปรับตัวตามกระแสเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ทัน

แต่ละปีมีเทคโนโลยีใหม่ถือกำเนิดขึ้น เราต้องติดตามและมองหาโอกาสเทคโนโลยีเหล่านั้น

การถือกำเนิดของแพลตฟอร์มดิจิทัล สร้างโอกาสมากมายมหาศาลให้โลกธุรกิจ ซึ่งสหรัฐอเมริกามองเห็นแนวโน้มเช่นนี้ก่อนใครเพื่อน จึงฉวยโอกาสตักตวงผลประโยชน์จากแต่ละแพลตฟอร์มจนทำรายได้ทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่บ้านเราที่คุ้นเคยกับเฟซบุ๊ค กูเกิล แอ๊ปเปิ้ล เน็ตฟลิกซ์ สปอตติฟาย ฯลฯ เป็นอย่างดี

ธุรกิจไทยจึงอยู่ในยุคที่มองเห็นโอกาสเหล่านี้และเร่งปรับตัวเข้าสู่แนวทางดังกล่าวกันอย่างเต็มพิกัด แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเหลือบริษัทอีกหลายแห่งที่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกและมองไม่เห็นว่าดิจิทัลแพลตฟอร์มเหล่านี้จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจของตัวเองได้อย่างไร

ฉบับที่แล้วผมได้เกริ่นถึงแนวทางการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของตัวเอง เริ่มจากข้อแรก คือ เข้าใจความสำคัญของมันเสียก่อน เพราะแพลต์ฟอร์มระดับโลกอย่างแอมะซอนก็ยังต้องใช้เวลาเรียนรู้และปรับตัวอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปีกว่าที่จะหาแนวทางในการต่อยอดธุรกิจของตัวเองได้สำเร็จ

ประการที่สอง คือ ต้องรู้จักบูรณาการข้อมูลของตัวเองที่มีทั้งหมด เพื่อใช้ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ตรงเป้าที่สุด และใช้พยากรณ์ความต้องการของลูกค้าว่า จะมีทิศทางเป็นอย่างไรในอนาคตเพื่อให้เราวางแผนปรับตัวได้ทันท่วงที

ต่อกันในประการที่สาม ต้องรู้จักการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหม่แค่ไหน หรือเป็นเรื่องที่ฟังดูห่างไกลจากธุรกิจหลักของตัวเองมากเพียงใดก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น บริษัทโซนี่ ที่ทราบกันดีว่าหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจของโซนี่ ถูกดิสรัปอย่างรุนแรง ทำให้ต้องหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมา และโซนี่ได้สร้างความแปลกใจ และทำให้เกิดข่าวฮือฮาขึ้นมาในงาน Consumer Electronics Show หรือ CES ครั้งล่าสุด คือ การประกาศเปิดตัวรถไฟฟ้า Vision-S อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

เพราะโซนี่มองเห็นทิศทางของธุรกิจยานยนต์ในอนาคต ที่เปิดกว้างให้ตัวเองเต็มที่ ในฐานะผู้ผลิตสินค้าไฮเทค ทั้งด้านบันเทิงและสินค้าด้านเทคโนโลยีชั้นสูง การแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้หันมาใช้เทคโนโลยีเข้าห้ำหั่นกัน โซนี่จึงมีจุดได้เปรียบสูงมาก การประกาศเปิดตัว Vision-S ครั้งนี้จึงสร้างความฮือฮาให้กับสื่อมวลชนได้สูงที่สุด

เทคโนโลยีอื่นล้วนเกิดขึ้นเพื่อยกระดับการแข่งขันในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น บล็อกเชนที่ไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะแวดวงการเงินธนาคาร แต่เป็นการปฏิวัติรูปแบบการจัดเก็บฐานข้อมูลที่เน้นการกระจายศูนย์ซึ่งมีประโยชน์กับทุกวงการ ทั้งธุรกิจ การตลาด การแพทย์ ฯลฯ

ในแต่ละปีก็จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้น ทำให้เราต้องติดตามและมองหาโอกาสที่เทคโนโลยีเหล่านั้น จะเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจของเราได้ หลายคนอาจเหนื่อย อาจท้อแท้ใจเพราะเหมือนกับต้องเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด แต่มันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในโลกของการแข่งขันทุกวันนี้ 

เพราะถ้าสังเกตให้ดีเราจะเห็นว่าวงจรของผลิตภัณฑ์ใหม่นั้นสั้นลงเรื่อยๆ จากเดิมเราจะเห็นรถยนต์ ในอดีตใช้เวลาเกือบสิบปีกว่าที่จะเปลี่ยนรุ่นใหม่ แต่ทุกวันนี้ถูกหดสั้นลงเหลือเพียง 4-5 ปีและมีแนวโน้มจะสั้นลงอีกในอนาคต เพราะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทำให้ผู้ผลิตต้องหาทางนำเอาเทคโนโลยีล่าสุดใส่ลงในรถของตัวเองให้เร็วที่สุด การเปิดตัวรถรุ่นใหม่จึงมีระยะเวลาสั้นลง เช่นเดียวกับมือถือใหม่ที่ทุกวันนี้รุ่นเรือธงของแต่ละค่ายเปิดตัวรุ่นใหม่กันทุกปี และมีรุ่นย่อย ๆ อีกมากเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่แตกต่างกัน

เทคโนโลยีบางเรื่องอาจดูเป็นเรื่องไกลตัว เช่น เอไอ แมชชีนเลิร์นนิ่ง แต่วันนี้หลายธุรกิจพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มันตอบโจทย์ธุรกิจและยกระดับให้บริษัทสามารถพัฒนาสินค้าและบริการได้ตรงความต้องการของลูกค้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ธุรกิจใดที่ยังมองโอกาสเหล่านี้ไม่เห็นก็มีโอกาสสูงที่จะตกขอบโลกเพราะปรับตัวตามกระแสเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ทัน