แผน 4 ปี บุก 30 มณฑล หอการค้าไทย-จีนดึงลงทุน 'อีอีซี'

แผน 4 ปี บุก 30 มณฑล  หอการค้าไทย-จีนดึงลงทุน 'อีอีซี'

หอการค้าไทย-จีน วางแผนรุกดึงลงทุนจีน ตั้งเป้า 4 ปี ครบ 30 มณฑล พร้อมตั้งคณะนักธุรกิจรุ่นใหม่ทำงานคู่ขนานนักธุรกิจจีน ไม่หวัน "โคโรน่า" กระทบลงทุน

นักธุรกิจจีนเป็นกลุ่มที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2562 สูงที่สุดแซงหน้านักธุรกิจญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยมีมูลค่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุน 260,000 ล้านบาท โดยในปี 2563 การลงทุนยังมีแนวโน้มเข้ามาต่อเนื่องแม้จะมีการระบาดของไวรัสโคโรนา แต่มีการประเมินว่าบริษัทจีนที่วางแผนการลงทุนในต่างประเทศอยู่แล้วจะยังคงเดินหน้าการลงทุนต่อ ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนยังคงให้ความสำคัญกับการดึงการลงทุนจากจีนเข้ามาไทย

ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน (Thai Chinese Chamber of Commerce หรือ Thai CC) สมัยที่ 27 โดยรับตำแหน่งต่อจาก จิตติ ตั้งสิทธิภักดี เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา

ณรงค์ศักดิ์ บอกว่า แนวนโยบายสำคัญที่จะเร่งดำเนินการ คือ การออกไปดึงดูดการลงทุน โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะนำคณะนักธุรกิจไทยไปเยือนประเทศจีนให้ครบทั้ง 30 มณฑล ภายในวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี (2563-2566) หรือเฉลี่ยปีละ 8 ครั้ง ซึ่งจะเริ่มที่กรุงปักกิ่งเป็นแห่งแรก เพื่อไปเปิดตัวหอการค้าไทย-จีน ให้นักธุรกิจจีนรู้จักเพิ่มมากขึ้น

หอการค้าไทย-จีน จะตั้งคณะนักธุรกิจรุ่นใหม่ประมาณ 20 คน เพื่อต้อนรับคณะนักลงทุนจีนที่เดินทางมาเยือนไทยที่มีกว่า 100 รายต่อปี โดยจะให้นักธุรกิจจีนแต่ละคณะที่เดินทางมาเยือนไทยจะต้องแจ้งวัตถุประสงค์ และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะลงทุนล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อที่จะเตรียมผู้ประกอบการไทยในแต่ละอุตสาหกรรมมาต้อนรับ 

รวมทั้งหอการค้าไทย-จีน จะช่วยให้เจรจากับนักลงทุนจีนได้อย่างตรงจุด และแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด โดยมองว่า บริษัทจีนที่เดินทางมาเยือนไทยก็มีแนวโน้มกว่า 50% ที่ตั้งใจจะมาลงทุนในไทยแล้ว ซึ่งหากหอการค้าไทย-จีน เข้ามาช่วยเสริมก็จะทำให้มีโอกาสเกิดการลงทุนจริงมากขึ้น และจะเดินสายให้ความรู้กับนักลงทุนจีนเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในไทย 

158142561674

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีนักลงทุนจีนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของไทย ที่ให้สิทธิ์การถือหุ้นที่ต่างกัน ซึ่งบางกิจการสามารถถือครองที่ดินได้ 100% รวมทั้งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดินของบริษัทต่างชาติหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน

นอกจากนี้ นักลงทุนจีนทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และเอสเอ็มอีต่างสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่องในเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งคาดว่าในปี 2563 การเข้ามาลงทุนในไทยจะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากปี 2562 ที่มีเข้ามาจำนวนมาก อย่างไรก็ตามต้องการให้ภาครัฐมีชัดเจนในเรื่องนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอีอีซีทั้ง กฎหมาย การถือครองที่ดิน และการถือหุ้นให้ชัดเจน

“ในหอการค้าไทย-จีน มีสมาชิกกว่า 800 ราย รวมทั้งยังมีความร่วมมือกับ 40 สมาพันธ์นานาชาติ ที่จะร่วมมือกันในการขยายการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับจีน โดยในเดือน พ.ย.ของทุกปี ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการประชุมร่วมกัน ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าจะประสานความร่วมมือให้ใกล้ชิดมากขึ้น”

ส่วนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ ไวรัสโคโรนา คาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายได้ภายใน 2-3 เดือน จากนั้นสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาพปกติ โดยใน ช่วงที่ปิดเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย อาจจะกระทบต่อการส่งออกวัสดุการผลิตต้นน้ำในบางรายการและส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมไทย เช่น สินค้าเคมีพื้นฐาน แต่หากสถานการณ์ดีขึ้นก็จะกลับมาส่งออกได้เหมือนเดิม 

“หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หอการค้าไทย-จีน ได้มอบเงิน 15 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือคนจีนที่เผชิญกับไวรัสนี้”

สำหรับงการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศ หอการค้าไทย-จีน มีแผนที่จะเดินทางไปจีนขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น รวมทั้งจะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆดึงดูดการท่องเที่ยวมากขึ้น เช่น การใช้แพลตฟอร์มวีแชต หรือโซเชียลมีเดียที่เป็นที่นิยมของจีน เพื่อใช้ในการดึงดูดการท่องเที่ยวชาวจีนให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย 

ทั้งนี้ หอการค้าไทย-จีน มองว่านักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวด้วยตัวเองเป็นครอบครัวมากขึ้นกว่าการเดินทางมากับกรุ๊ปทัวร์เหมือนที่ผ่านมา โดยถ้าหากมีการเจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะใช้โอกาสครบรอบความสำพันธ์ไทย-จีน 45 ปี ในปี 2563 เพื่อทำการโปรโมทให้ชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น

หอการค้าไทย- จีน ถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างไทยและจีนมาอย่างยาวนานถึง 110 ปี และในฐานะที่เข้ามารับตำแหน่งประธานหอการค้าไทย-จีนครั้งนี้ พร้อมที่จะยกระดับความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อเชื่อมโยงยุทธศาสตร์อีอีซีของไทยกับนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ (One Belt One Road) ของจีนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันในอนาคต

“จีนได้พัฒนาประเทศไปมากแล้วจนการเติบโตเริ่มอิ่มตัวต้องมองหาการลงทุนภายนอกประเทศและผมคิดว่าธุรกิจเอสเอ็มอีของจีนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ดังนั้นทางหอการค้าไทย-จีนพร้อมที่จะร่วมมือกันดึงการลงทุนจากจีนเข้ามาไทยขณะเดียวกันก็จะพัฒนาให้ธุรกิจไทยร่วมมือกับจีนทั้งในประเทศไทยและในจีน ซึ่งเอสเอ็มอีของจีนนั้นถือเป็นธุรกิจที่ไม่เล็กเลย ซึ่งผมเองมีทีมงานที่จะร่วมมือเพื่อดึงดูดเอสเอ็มอีจีนให้เข้ามาลงทุนให้มากขึ้น”