กสทช. เล็ง ‘จอดำ’ กลางอากาศ หากพบการรายงานข่าวเข้าข่ายละเมิดรุนแรง

กสทช. เล็ง ‘จอดำ’ กลางอากาศ หากพบการรายงานข่าวเข้าข่ายละเมิดรุนแรง

เตรียมจัดทำแนวทางการนำเสนอข่าวในภาวะวิกฤติ หลังเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช

โดยในวันนี้ สำนักงาน กสทช. ได้เชิญผู้ประกอบการและสื่อมวลชนเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวและข้อมูลเหตุการณ์กราดยิงประชาชนที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมาในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ที่ปรากฏว่าสื่อมวลชนบางรายได้นำเสนอรายการข่าวด้วยรูปแบบการรายงานสด live สด รายงานสถานการณ์ และข้อมูลต่าง อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน ความปลอดภัยและความตึงเครียดของสังคมและประชาชนในบริเวณโดยรอบ ตลอดจนผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน และอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ 

พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ กล่าวว่า การนำเสนอข่าวและข้อมูลเหตุการณ์ดังกล่าว จำเป็นที่สื่อมวลชนต้องมีองค์ความรู้ในการพิจารณาคัดกรองข้อมูลและข้อเท็จจริงที่สมควรแก่การนำเสนอ 

หากสื่อมวลชนนำเสนอข่าวและข้อมูลโดยขาดองค์ความรู้ การนำเสนอข่าวนั้น อาจเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงทำให้ผู้กระทำความผิดทราบถึงแผนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้  

นอกจากนี้ อาจส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น ทำให้ผู้กระทำความผิดกลายเป็นฮีโร่และอาจทำให้เด็กและเยาวชนซึมซับเรื่องความรุนแรงเห็นเป็นเรื่องปกติ ส่งผลกระทบต่อวิธีคิดและพฤติกรรมในระยะยาว,” พลโท ดร.พีระพงษ์ ระบุ

พลโทพีระพงษ์ กล่าวว่า การรายงานข่าวและการออกอากาศในยามวิกฤิตที่เกิดขึ้นที่โคราชของสื่อทีวีดิจิตอลซึ่งเป็น "สื่อหลัก" นั้น มีประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม 4 ประเด็นด้วยกัน คือ 

1. การไลฟ์สดปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งใช้โซเชียลมีเดียตลอดเวลาสามารถรับรู้ความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ได้ผ่านการติดตามรายงานสด

2. มีการนำเสนอภาพผู้ก่อเหตุซ้ำๆ ในหลายแง่มุม ซึ่งหากไม่ระมัดระวังเพียงพอ อาจส่งผลข้างเคียงทำให้ผู้ก่อเหตุกลายเป็นฮีโร่ในสายตาคนบางกลุ่ม 

3. มีการเสนอภาพความรุนแรงจำนวนมาก จนอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบตามมา นอกจากนั้นยังมีการนำเสนอภาพความรุนแรงซ้ำๆ แม้เหตุการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว อาจส่งผลทำให้ผู้รับสื่อโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึมซับความรุนแรง และมองความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ

4. การทำกราฟฟิกหรือจำลองเหตุการณ์เสมือนจริงที่ละเอียดชัดเจนเกินไป อาจก้าวข้ามนิยามของการรายงานข่าว กลายเป็นแนะนำวิธีการในการกระทำความผิดหรือก่อเหตุรุนแรง

พลโท ดร. พีระพงษ์กล่าวว่า กสทช. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำเสนอข่าวและข้อมูลที่เกิดขึ้น จึงจะจัดทำแนวทางการนำเสนอข่าวและข้อมูลในลักษณะดังกล่าวในระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่ายมายกร่างกฏเกณฑ์การรายงานข่าวในภาวะวิกฤติ โดยจะเร่งรัดให้เสร็จภายใน 2-3 สัปดาห์

”แนวทางคือจำกัดเสรีภาพบางส่วน เพื่อสังคมส่วนใหญ่” พลโทพีระพงษ์ระบุ

นอกจากนี้ จะพิจารณามาตรการลงโทษที่เข้มข้นมากขึ้น เช่น การระงับการออกอากาศรายการในทันทีที่เห็นว่ารายการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และความปลอดภัยของประชาชน ตลอดจนผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน พร้อมทั้งจัดทำบทลงโทษด้านอื่น , พลโท ดร.พีระพงษ์ กล่าว

พลโท พีระพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสทช. ได้ดำเนินมาตรการกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการและสื่อมวลชนอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และ กสทช. จะดำเนินการต่อสื่อมวลชนผู้กระทำการอันขัดต่อหลักเกณฑ์การเป็นผู้รับใบอนุญาตของ กสทช. ให้เป็นบรรทัดฐานของการนำเสนอข่าวและข้อมูลของสื่อมวลชน 

ทั้งนี้ กสทช.จะเร่งรัดดำเนินการให้มีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและจะแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้สังคมและประชาชนได้ทราบต่อไป พลโทพีระพงษ์กล่าว

ส่วนการดำเนินการตรวจสอบเพื่อลงโทษสื่อทีวีดิจิตอลบางช่องที่ออกอากาศเนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยเฉพาะใน 4 ประเด็นที่เป็นปัญหาถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้น พลโท พีระพงษ์ บอกว่า จะเรียกตัวแทนทีวีดิจิตอลช่องที่กระทำการเข้าข่ายเป็นความผิดมาชี้แจงเป็นรายช่องในวันพุธหน้า แต่ไม่ขอเปิดเผยว่ามีช่องใดบ้าง

ภายหลังการประชุมได้มีการเปิดแถลงข่าว และเปิดให้สื่อมวลชนและตัวแทนทีวีดิจิตอลได้สอบถาม ปรากฏว่าคำถามที่ถามกันมากที่สุดคือ จะมีมาตรการลงโทษสื่อทีวีที่ออกอากาศเนื้อหาสาระเข้าข่ายผิดกฎหมายอย่างไร เพราะตามกฎหมายมีโทษทั้งปรับ และสั่งระงับออกอากาศชั่วคราว หรือแม้กระทั่งสั่งระงับใบอนุญาตได้ 

ประเด็นนี้ พลโท พีระพงษ์ บอกว่า มีกฎหมายและขั้นตอนดำเนินการอยู่แล้ว คือ มาตรา 37 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ..2551 แต่ส่วนตัวไม่อยากให้ใช้โทษปรับ หรือใช้บทลงโทษที่รุนแรงกว่านั้น แต่จะเน้นวิธีการตักเตือนและสร้างความเข้าใจเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้ในแนวทางที่ถูกต้องมากกว่า 

มีคำถามเกี่ยวกับมาตรการที่ กสชท.จะดำเนินการตรวจสอบการนำเสนอเนื้อหาผ่าน OTT หรือคอนเทนท์ที่เผยแพร่โดยตรงผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ผ่านสื่อกระแสหลักหรือทีวีดิจิตอลช่องหลัก เพราะเนื้อหาในส่วนนี้มีปัญหามากกว่าสื่อกระแสหลัก และบางครั้งสื่อหลักยังถูกมองเหมารวมในแง่ลบไปด้วยนั้น ประเด็นนี้ พล..พีระพงษ์ บอกว่า จะมีการร่างกติกาแยกอีกส่วนหนึ่ง แต่ก็ยอมรับว่า กสทช.ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการกำกับดูแล OTT จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวงดีอีเอส ซึ่งที่ผ่านมาก็ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดการกับเฟคนิวส์ หรือ "ข่าวปลอม" เกี่ยวกับไวรัสโคโรนา 

ขณะที่ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ กสทช.อีกรายหนึ่ง กล่าวว่า มาตรการที่จะออกมาควบคุม จะแยกส่วนกันระหว่างทีวีช่องหลัก กับ OTT และแน่นอนว่าความเป็นทีวีดิจิตอลช่องหลักย่อมถูกควบคุมตรวจสอบมากกว่า ถือว่ามีความรับผิดชอบมากกว่า ฉะนั้นในกติกาการรายงานข่าวในภาวะวิกฤติ สื่อหลักก็จะต้องได้รับสิทธิในการรายงานมากกว่า OTT ที่มีความรับผิดชอบน้อยกว่า ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไร ขอให้ผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณากำหนดในหลักเกณฑ์ที่จะออกมาในเร็วๆ นี้