กรมเจ้าท่าเปิดตัวแพต้นแบบ 'แพพระยาวิสูตรสาคร'

กรมเจ้าท่าเปิดตัวแพต้นแบบ 'แพพระยาวิสูตรสาคร'

กรมเจ้าท่าเปิดตัวแพต้นแบบ “แพพระยาวิสูตรสาคร” มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการทั่วประเทศ เผยมียื่นขออนุญาตกว่า 3 พันลำ อนุญาตไปแล้ว 746 ลำ

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยภายหลังรับมอบเรือนแพพระยาวิสูตรสาครซึ่งเป็นแพต้นแบบที่ถูกต้องตามมาตรฐานของกรมเจ้าท่า จากนายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ ว่า แพพระยาวิสูตรสาคร “ชื่อวิสูตรสาคร” หรือรู้จักกันในนามกัปตันจอห์น บุช โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ว่าจ้างให้มาทำหน้าที่พัฒนากิจการเจ้าท่า ตำแหน่ง “เจ้าท่า” หรือ “หับประมาสะแตน” หรือ “Habous Master” เป็นผู้เชี่ยวชาญในการเดินเรือ การท่าเรือ การนำร่องปฏิบัติภารกิจอำนวยการในด้านการท่า และการนำร่องเพื่อให้เกิดความคล่องตัว เป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยในการสัญจรไปมาในเขตน่านน้ำไทย เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

กัปตันจอห์น บุช ปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ “พระวิสูตรสาครดิฐ” นับได้ว่าท่านเป็นบุคคลสำคัญที่ได้วางรากฐานงานเจ้าท่าในประเทศไทยนับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน กรมเจ้าท่าจึงนำชื่อ “พระยาวิสูตรสาคร”มาตั้งเป็นชื่อเรือนแพเพื่อเป็นเกียรติแก่อธิบดีกรมเจ้าท่าคนแรก ถือเป็นผู้บุกเบิกงานด้านเจ้าท่าให้มีรากฐานมั่นคง ให้มีประสิทธิภาพมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ แพพระยาวิสูตรสาครมีขนาด กว้าง 7.5 ยาว 14.35 เมตร กรมเจ้าท่าจัดทำขึ้นเพื่อนำมาเป็นเป็นแพต้นแบบมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำ โครงสร้างของแพมีมาตรฐานแข็งแรง เป็นไปตามระเบียบที่กรมเจ้าท่ากำหนด

สำหรับปัญหาเกี่ยวกับแพในประเทศไทยที่ผ่านมาคือ แพไม่มีความปลอดภัย ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด กรมฯได้มีประกาศกรมเจ้าท่า ฉบับที่ 227/2559 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกหนังสือรับรองความปลอดภัยของแพ โดยหนังสือรับรองความปลอดภัยของแพจะออกโดยสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ หรือผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ต้องมีการกำหนดแบบให้เป็นมาตรฐาน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ป้องกันผลกระทบต่อประชาชน และป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำ เป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยวแพได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนแพอย่างรวดเร็ว ตลอดจนมีการพัฒนารูปแบบแพที่หลากหลายมากขึ้น นำไปสู่มาตรฐานความปลอดภัยของแพ และมาตรการควบคุมและรักษาสิ่งแวดล้อมทางน้ำ รวมทั้งกำหนดพื้นที่จอดให้เหมาะสม

ปัจจุบันมีแพทั่วประเทศในเขื่อนหลักๆ อาทิ เขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี รวมแล้วกว่า 5000 ลำ โดยแพพระยาวิสูตรสาคร กรมเจ้าท่าตั้งเป้าหมายเป็นตัวอย่างของแพที่จะช่วยสร้างมาตรฐานแพท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ภายในปี 2563 – 2564 นี้ให้เป็นต้นแบบแพมาตรฐานที่มีโครงสร้างความปลอดภัย แข็งแรง และเป็นไปตามระเบียบกรมเจ้าท่าต่อไป

อธิบดีกรมเจ้าท่า ระบุอีกว่าล่าสุดมีแพที่มายื่นขออนุญาต 3,330 ลำ อนุญาตไปแล้ว 746 ลำ ยังไม่อนุญาตและสั่งแก้ไข 2,584 ลำ และคาดว่ายังมีแพที่ไม่นำมายื่นขออนุญาตอีกประมาณ 3,000 ถึง 4,000 ลำ