ประชาสังคมไซเบอร์ในเวียดนาม

ประชาสังคมไซเบอร์ในเวียดนาม

ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญทางการเมือง ไม่เว้นกระทั่งประเทศที่เป็นสาธารณรัฐสังคมนิยม เช่น เวียดนาม จึงเป็นที่น่าสนใจว่านักกิจกรรมทางสังคมมีลูกเล่นอะไรที่ช่วยให้หลบหนีการควบคุมที่เข้มงวด ในระดับที่คนใกล้ตัวอาจเป็นหนึ่งในผู้จับตาการเคลื่อนไหว

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาชาวเวียดนามเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะการส่งเสริมของรัฐด้านโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างเสริมการลงทุนทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของอินเทอร์เน็ตทำให้เกิดการขยายโอกาสในการเข้าถึงข่าวสาร สร้างความท้าทายใหม่ทางการเมือง และทำให้เกิดการก่อตัวของ ‘ภาคประชาสังคมไซเบอร์’ ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารและความคิดเห็น นำไปสู่กิจกรรมทางสังคมภายใต้การบริหารงานแบบรวมศูนย์อำนาจของภาครัฐ

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เจ้าของบทความ "ประชาสังคมไซเบอร์ในเวียดนามปัจจุบัน" บอกเล่าถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดงานวิจัยฉบับนี้ว่า ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญทางการเมือง ไม่เว้นกระทั่งประเทศที่เป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดผูกขาดการชี้นำ เช่น ประเทศเวียดนาม จึงเป็นที่น่าสนใจว่านักกิจกรรมทางสังคมชาวเวียดนามมีลูกเล่น (tactics) อะไรที่ช่วยให้พวกเขาสามารถหลบหนีการควบคุมที่เข้มงวดในระดับที่คนใกล้ตัวของพวกเขาก็อาจเป็นหนึ่งในผู้จับตาการเคลื่อนไหว และแจ้งเบาะแสต่อเจ้าหน้าที่หากมีใครก้าวล้ำเส้นที่รัฐบาลขีดไว้ ซึ่งแตกต่างจากไทยที่ค่อนข้างมีเสรีภาพมากกว่าพอสมควร

ประชาสังคมไซเบอร์ในเวียดนาม
รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • อินเทอร์เน็ตในรัฐเวียดนาม

สัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรเวียดนามในปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 53 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 50 ล้านคน ร้อยละ 65 ของผู้ใช้ทั้งหมดเป็นประชากรอายุ 18-34 ปี จึงอาจกล่าวได้ว่าประชากรวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงานเป็นประชากรหลักของสื่อออนไลน์ และน่าจะเป็นพลังหลักของการเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมไซเบอร์

สภาพการณ์ของอินเทอร์เน็ตในเวียดนามอยู่ในสถานะ "not free" หรือไม่มีเสรีภาพ เพราะรัฐเป็นเจ้าของกิจการผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ควบคู่ไปกับการใช้กลไกทางกฎหมายควบคุมการเผยแพร่เนื้อหาผ่านสื่อใหม่

"สภาพการณ์ของอินเทอร์เน็ตในเวียดนามอยู่ในสถานะ 'not free' หรือ 'ไม่มีเสรีภาพ' เพราะรัฐเป็นเจ้าของกิจการผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในเวียดนาม ทำให้รัฐสามารถควบคุมการเข้าถึงเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ต ควบคู่ไปกับการใช้กลไกทางกฎหมายควบคุมการเผยแพร่เนื้อหาผ่านสื่อใหม่ เช่น การทำให้มีขึ้น สะสม เผยแพร่ข้อมูลหรือโฆษณาชวนเชื่อ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านรัฐถือเป็นความผิด แม้เผยแพร่ด้วยนามแฝงก็อาจถูกลงโทษได้ ทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อกิจกรรมทางสังคมมีข้อจำกัดสูงมากและมีบทลงโทษที่รุนแรงมากเช่นกัน”

  • ประชาสังคมไซเบอร์

แม้จะมีการใช้ข้อกฎหมายอย่างเข้มงวดและบทลงโทษที่รุนแรง การใช้สื่อสมัยใหม่นี้ไม่ได้บังคับให้ประชาชนต้องเปิดเผยตัวตนอย่างตรงไปตรงมา (อย่างน้อยก็ในการเข้าถึงข้อมูล) คนเวียดนามจึงสามารถเข้าถึงข้อมูลนอกเหนือช่องทางสื่อเดิมซึ่งอยู่ในการควบคุมของรัฐ social network กลายเป็นทางเลือกใหม่ในการเข้าถึงข้อมูลที่แตกต่าง เป็นโอกาสในการแสดงความคิดเห็น และก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบใหม่

"เนื้อหาที่กลุ่มประชาสังคมไม่เป็นทางการ (Informal civil society) หรือองค์กรที่ไม่อยู่ในกำกับของรัฐนำเสนอ จะเป็นประเด็นเฉพาะกลุ่ม เช่น ความหลากหลายของเพศ (LGBTQ) และสถานการณ์โลกร้อน เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่กลุ่มประชาสังคมทางการ (formal civil society) สนใจ ถึงกระนั้น แม้เนื้อหาที่นำเสนอจะค่อนข้างไม่เป็นเรื่องทางการเมือง แต่แน่นอนว่าล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น

พวกเขารู้ว่าจะทำเรื่องอะไร และประเทศมีเพดานในการสื่อสารอยู่ตรงไหน ประเด็นใดควรแตะหรือประเด็นใดไม่ควร เพราะหากแตะต้องไปแล้วอาจมีความเสี่ยงสูง หรือหากไม่แตะเลยก็อาจไปไม่ถึงประเด็นที่ต้องการ เพดานสำคัญที่มี เช่น การวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐ การพูดถึงพรรคการเมืองระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น

ดังนั้นในการสื่อสารนักเคลื่อนไหวจะเลี่ยงคำ ใช้ถ้อยคำที่สุภาพเรียบร้อย หรือสื่อสารด้วยภาพที่ต้องอาศัยการตีความแต่เป็นที่เข้าใจได้แทน หากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็จะสื่อสารทางใต้ดิน ไม่ใช้ช่องทางที่อยู่ในการควบคุมของรัฐไปเลย"

  • โลกไซเบอร์ แค่ช่องทางหนึ่ง

แม้อินเทอร์เน็ตจะมีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมชาวเวียดนามในปัจจุบัน แต่ก็ยังคงอยู่ในฐานะรูปแบบหนึ่งของสื่อสารเท่านั้น พวกเขาใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างเครือข่ายกับนักกิจกรรมด้วยกันเอง หรือเพื่อสื่อสารกับบางกลุ่มทางสังคม แต่การสื่อสารประเภทอื่นที่มีอยู่ดั้งเดิมก็ยังคงทำหน้าที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อ

"กลุ่มประชาสังคมไม่เป็นทางการเลือกที่จะใช้สื่อหลายประเภทผสมผสานกัน นอกจากการสื่อสารทางออนไลน์ ยังมีรูปแบบการสื่อสารประเภทอื่นที่มีลูกเล่นให้รอดพ้นจากการจับตาของรัฐ อาทิ การผลิตสื่อแล้วแจกจ่ายเอง หากใครจะสนับสนุนก็สามารถบริจาคได้ เพื่อให้สื่อที่ผลิตไม่ต้องผ่านการตรวจสอบของรัฐเหมือนหนังสือจากโรงพิมพ์ หรือหากการทำกิจกรรมถูกสั่งห้าม ก็รอจนพ้นการควบคุมแล้วค่อยเผยแพร่ใหม่ได้ การจัด Queer Market เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานสามารถแสดงออกได้โดยไม่จำกัดเฉพาะประเด็นเพศสภาวะ ก็เป็นอีกกิจกรรมทางเลือกที่ได้รับความสนใจ

นอกจากนั้นการสื่อสารผ่านการจัดแสดงผลงานทัศนศิลป์ก็สามารถหลีกเลี่ยงการจับจ้องของรัฐได้เช่นกัน ด้วยการนำเสนอภาพที่ซับซ้อนต้องอาศัยการตีความเพื่อทำความเข้าใจ จะเห็นว่าหลายครั้งการสื่อสารจะเป็นไปในเรื่องปัญหาสังคมที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข มากกว่าการปะทะกับการเมืองโดยตรง เพราะการสื่อสารเรื่องการเมืองอาจไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและยังเสี่ยงอันตรายอีกด้วย”

ถึงที่สุด รัฐก็ไม่สามารถปิดกั้นการสื่อสารได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะแม้จะมีเส้นกั้นอยู่ว่าประเด็นใดห้ามแตะต้อง แต่ก็ยังมีช่องทางให้ใช้สื่อสารได้อีกมาก นักเคลื่อนไหวสามารถกระทำได้ หากอยู่ในขอบเขตที่ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ ยิ่งหากรู้จักเลือกใช้ช่องทางในการทำกิจกรรม หาวิธีในการสื่อสาร ก็จะสามารถทำอะไรได้อีกมาก

นี่เป็นบทเรียนที่ รศ.ดร.ยุกติ ได้จากคนทำกิจกรรมทางสังคมในประเทศที่มีการปิดกั้นสูง