‘ภัยแล้ง’ เริ่มกระทบภาคอุตสาหกรรม

‘ภัยแล้ง’ เริ่มกระทบภาคอุตสาหกรรม

ล่าสุดฝ่าย วิจัยฯ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ประเมินปริมาณน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.ระยอง ที่อยู่ในระดับต่ำมาก และมีความเสี่ยงที่โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อาจต้องลดกำลังการผลิตลง

ประเด็นเรื่องของความเสี่ยง "ภัยแล้ง" 2563 ที่ผมเคยเขียนถึงมาก่อนหน้า ว่าจะกระทบต่อภาคการเกษตรและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ ล่าสุดฝ่าย วิจัยฯ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ประเมินปริมาณน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.ระยอง ที่อยู่ในระดับต่ำมาก มีความเสี่ยงที่ โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าวอาจต้องลดกำลังการผลิตลง หากสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้รุนแรงกว่าคาด หรือหากสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยปีนี้เข้าสู่ฤดูฝนช้ากว่าปกติ

จากข้อมูลของกรมชลประทาน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง จาก 5 อ่างเก็บน้ำหลักใน จ.ระยอง อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 30% ของความสามารถในการกักเก็บน้ำ ซึ่งอาจจะไม่พอใช้ไปจนถึงฤดูฝนในช่วงปลายเดือน พ.ค.-มิ.ย.2563 ล่าสุด บริษัท EASTW ซึ่งเป็นผู้ป้อนน้ำให้กับผู้ใช้โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ จ.ระยอง ได้ขอความร่วมมือผู้ใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมให้ช่วยกันลดปริมาณการใช้น้ำลง 10% จากการศึกษาข้อมูลของฝ่ายวิจัยฯ ผู้ประกอบการที่ตั้งอยู่ในนิคมฯ ของ WHA มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากนิคมฯของ WHA พึ่งพาน้ำจาก EASTW เป็นหลัก โดยนิคมฯของ WHA ต้องซื้อน้ำดิบจาก EASTW และกรมชลประทานราว 90% ของปริมาณน้ำดิบทั้งหมดที่ใช้ 

แต่สำหรับนิคมฯอมตะซิตี้ (ระยอง) และนิคมฯอมตะซิตี้ (ชลบุรี) ของ AMATA จะไม่ถูกกระทบจากภัยแล้ง เพราะมีปริมาณน้ำสำรองของนิคมฯ เพียงพอที่จะรองรับการใช้น้ำรายวันไปได้อีกอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งจะทำให้สามารถผ่านพ้นฤดูแล้งปีนี้ไปได้ ทั้งนี้มีโรงไฟฟ้าประเภท SPP ที่อาจได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อาจต้องลดกำลังการผลิตลง ทำให้ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลง โรงไฟฟ้าที่มีความเสี่ยง ได้แก่ GPSC, WHAUP, GULF, และ EGCO

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ ทำการวิเคราะห์ Sensitivity ผลกระทบต่อประมาณการกำไรของโรงไฟฟ้าต่างๆ โดยอิงจาก i) สมมติฐานว่าเกิดภาวะภัยแล้งนานหกเดือน (ม.ค. - มิ.ย. 2563) ii) คำนึงถึงผลกระทบต่อโรงไฟฟ้า SPP ทุกแห่งใน จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี ยกเว้นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในนิคมฯของ AMATA iii) ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากปริมาณการขายไอน้ำ (Steam load) ที่ลดลง 5% ในปีนี้ (ภายใต้ สมมติฐานว่า Steam load ลดลง 10% เป็นเวลา 6 เดือน) และ iv)

การวิเคราะห์ Sensitivity ของปริมาณการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ (SPP load) ที่ลดลง 1-5% ในปีนี้ (ตาม ปกติ SPP load จะอยู่ในช่วง 40-60% ซึ่งผลการวิเคราะห์ Sensitivity ของเราพบว่า ผลประกอบการของ GPSC ในปีนี้มี downside มากที่สุดอยู่ที่ 4.6% เนื่องจากมีสัดส่วน IU capacity ของ SPP ที่จะถูกกระทบจากภัยแล้งสูงที่สุด (20.6% ของพอร์ต) ในขณะที่เราประเมินว่าผลประกอบการ ปีนี้ของ BGRIM EGCO GULF และ WHAUP จะมี downside 1.4%, 0.5%, 2.4% และ 3.0% ตามลำดับ

นอกจากนี้ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทย ทั้งจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (สายพันธุ์ใหม่), ความล่าช้า ของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563, และปัญหาภัยแล้ง อาจส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคในปีนี้ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า มีความเสี่ยงที่นักวิเคราะห์จะต้องทำการปรับลดประมาณการกำไรปี 2563 ลง แม้แต่หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ถือเป็นหุ้น Defensive ก็ตาม 

จากปัจจุบันที่นักวิเคราะห์ทำการปรับลดประมาณการกำไรปี 2563 ลงมาแล้วราว -3% ตั้งแต่ต้นปี 2563 (ข้อมูล Bloomberg consensus) และมีโอกาสที่นักวิเคราะห์จะใช้การประชุมนักวิเคราะห์ในช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค.นี้ ในการพิจารณาปรับลดประมาณการกำไรปี 2563 ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีผมเชื่อว่าราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่ได้ทำการปรับตัวลง Underperform ตลาดหุ้นโลกมาตลอด ตั้งแต่ต้นปี 2563 น่าจะสะท้อนประเด็นดังกล่าวไปพอสมควรแล้ว 

และคาดว่าภายหลังการปรับลดประมาณการโดยนักวิเคราะห์เสร็จสิ้นแล้ว ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ น่าจะเริ่มคลี่คลาย หรือลดความกังวลไปได้พอดี เช่น การแพร่ระบาด ของไวรัสโคโรน่า (สายพันธุ์ใหม่) คาดว่าจะเริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ (อิงจากข้อมูลในอดีตของโรคอุบัติใหม่), ปัญหา พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 น่าจะสามารถเบิกจ่ายได้อย่างช้าภายในเดือน พ.ค.นี้ (ระหว่างที่ผมเขียนบทความนี้ ยังไม่ทราบผลการลงมติของศาลรัฐธรรมนูญ) และปัญหาภัยแล้ง น่าจะเริ่มคลี่คลายเมื่อประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนช่วง เดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้เป็นต้น