เปิดแผนลงทุน 'บริษัทประกัน' ปรับพอร์ต 'สู้' ดอกเบี้ยต่ำ

เปิดแผนลงทุน 'บริษัทประกัน' ปรับพอร์ต 'สู้' ดอกเบี้ยต่ำ

"ธุรกิจประกันชีวิต" ขานรับเกณฑ์การลงทุนใหม่ จ่อปรับพอร์ตลงทุนหวังเพิ่มผลตอบแทน "ไทยประกันชีวิต" พิ่มสัดส่วนหุ้น กองทุน-กองทรัสต์ต่างประเทศ 10-20%  "โตเกียวมารีน" หาจังหวะเข้ากองรีท "กรุงเทพประกันชีวิต" ลุยธุรกิจอินชัวร์เทคสตาร์ทอัพปลายปีนี้ 

หลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)  ปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของธุรกิจประกันให้มีความยืดหยุ่น  โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศ เพิ่มประเภทสินทรัพย์ลงทุน และขยายขอบเขตการลงทุนในธุรกิจอื่น  ส่งผลให้ธุรกิจประกันเริ่มปรับแผนการลงทุนเพื่อรองรับเกณฑ์ดังกล่าว  

นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสามัญ กองทุน และกองทรัสต์ต่างประเทศ คาดว่าจะลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 10- 20% ของเงินลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ ส่วนการลงทุนในธุรกิจเฮลธ์แคร์และ ธุรกิจอินชัวร์เทคยังไม่มีแผนในขณะนี้ ปัจจุบันพอร์ตลงทุนของบริษัทอยู่ที่ 470,000 ล้านบาท เป็นตราสารหนี้ภาครัฐ 45% ตราสารหนี้อื่นๆ 43%  ที่เหลือเป็นตราสารทุนและการลงทุนทางเลือก 12%  มีผลตอบแทนประมาณ 3.9%

นางสาวยุวดี เฉลิมศรีภิญโญรัช รองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารการเงิน บริษัท โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนหาจังหวะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนกองทุนอสังหาริมทรัพย์  กองรีทและกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน จากปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 1% ปัจจุบันยังเน้นลงทุนในประเทศเป็นหลัก แต่จะทบทวนออกไปลงทุนในต่างประเทศด้วย รวมถึงสนใจเข้าไปถือไปร่วมลงทุนธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ภายใต้การบริหารความเสี่ยงให้สมดุลระหว่างสินทรัพย์และหนี้สิน สอดคล้องกับภาวะดอกเบี้ยต่ำ คาดว่าผลตอบแทนปีนี้อาจไม่ดีเท่าเดิม โดยผลตอบแทนปี 2562 อยู่ที่ 4% ปัจจุบันมีพอร์ตลงทุน 38,000ล้านบาท เป็นพันธบัตรรัฐบาล 90% หุ้น 2% กองรีท 1% หุ้นกู้เอกชน 5% และอื่นๆ อีก2%

นายจิรเศรษฐ์ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ BLA เปิดเผยว่า บริษัทสนใจการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี เช่น อินชัวร์เทคสตาร์อัพ คาดว่าน่าจะได้เห็นการลงทุนในช่วงปลายปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจสตาร์อัพที่มีเทคโนโลยีที่มีความเป็นไปได้อยู่ เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยสนับสนุนต่อยอดการดำเนินธุรกิจได้ทันที โดยบริษัทไม่ต้องลงทุนทางด้านดิจิทัล ถือว่าการลงทุนรูปแบบนี้ช่วยพัฒนาด้านเทคโนโลยีของบริษัทได้เร็ว

ด้านนายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL เปิดเผยว่า เราคงมองหาโอกาสพิจารณาการลงทุนใหม่ แต่ต้องบริหารเรื่องผลตอบแทนควบคู่กับบริหารความเสี่ยง  คงไม่ลงทุนจนเต็มเพดาน เช่น การลงทุนอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนแค่ 1-2% เท่านั้น การลงทุนของธุรกิจประกันชีวิตปีนี้ เป็นอีกปีที่ยากลำบาก เพราะมีปัจจัยทั้งเสี่ยงรอบด้านทั้งในประเทศ และ นอกประเทศ ปีก่อนบริษัทมีผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ถึง 5%  

นางสาวปรมาศิริ มโนลม้าย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ FWD เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีมการลงทุนอยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุนตามหลักเกณฑ์ใหม่ของคปภ. โดยมีความสนใจการลงทุนที่สนับสนุนในภาพกว้าง แต่ต้องพิจารณาถึงการบริหารความเสี่ยง ควบคู่ด้วยและหากจะลงทุนต้องรอตลาดหยุดผันผวนก่อน