ฝ่าแล้ง EEC I Green Pulse

ฝ่าแล้ง EEC I Green Pulse

จากสภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป จนส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง ประกอบกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ซึ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามีดำริเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยุคใหม่ในพื้นที่ภาคตะวันออก ทำให้ความต้องการใช้น้ำในภูมิภาคขยายตัวขึ้น
แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำจะให้ความเห็นว่า การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ยังไม่เป็นไปอย่างก้าวกระโดดรวดเร็ว จนส่งกระทบกับการจัดสรรซัพพลายด์น้ำในปัจจุบัน หากมีแนวโน้มของการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อม โดยการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนให้มากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้น้ำดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาคตะวันออกมีสภาพที่ไม่ต่างจากภูมิภาคอื่นๆที่โครงการขนาดใหญ่ไม่สามารถเป็นไปได้ เมื่อพิจารณาถึงบริบททางสังคม อาทิ การคัดค้านของคนในพื้นที่ การจัดหาซัพพลายด์น้ำในอนาคตโดยเฉพาะสำหรับภาคอุตสาหกรรม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาช่วยด้วย อาทิ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะล (Desalination) เป็นต้น
โดยนายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการลุ่มน้ำภาคตะวันออก ของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า ความต้องการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกในเวลานี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงจนเกินไปนัก จนส่งผลกระทบต่อน้ำต้นทุนและปัญหาการขาดแคลนน้ำ แต่ในปีนี้ ภาคตะวันออก ได้ประสบปัญหาภัยแล้งเหมือนกับภูมิภาคอื่นๆที่ประสบภัยแล้งที่รุนแรงเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศในรอบ 40 ปี ที่มีฝนตกโดยเฉลี่ยลดลงถึงราว 50% ทำให้ปีนี้ต้องมีการจัดสรรและใช้น้ำกันอย่างระมัดระวังบ้าง
โดยนายไพฑูรย์กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กรมชลประทานจัดหาน้ำมาให้คนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรหรืออุตสาหกรรม โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรมจะมีบริษัทอีสวอเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการประปรส่วนภูมิภาครับหน้าที่ในการจัดสรรบำรุงน้ำต่อให้กับภาคอุตสาหกรรมจากแหล่งน้ำของกรมชลฯ ซึ่งในภูมิภาคตะวันออก มีแหล่งน้ำใหญ่ๆเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น
การบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก จึงมีลักษณะผสมผสาน กล่าวคือ มีการจัดสรรน้ำจากแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง และมีการดึงน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาและบางปะกงเข้ามาช่วย นอกเหนือจากโครงการผันน้ำผ่านระบบท่อและบ่อบาดาล
ในปัจจุบัน กรมชลประทานมีแหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่รวมถึงอ่างเก็บน้ำประแสร์ ในจังหวัดระยองที่เป็นอ่างหลัก 4 อ่าง และอ่างขนาดกลางอีก19 แห่ง รวมความจุน้ำประมาณ1,638 ล้าน ลูกบาศก์เมตร และอีกส่วนคือการดึงน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาและปราจีนบุรีและบางปะกงมาช่วยอีกเกือบพันล้าน ลบ.ม.  โครงข่ายผันน้ำอีสวอเตอร์อีกราว 100 ล้าน ลบ.ม. และบ่อบาดาลอีกราว 79 ล้าน ลบ.ม.
จากข้อมูลของ สทนช. น้ำต้นทุนของภาคตะวันออกอยู่ที่ประมาณ 2,539 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 2,419 ล้าน ลบ.ม. โดยแบ่งออกเป็นภาคเกษตร 64.5% หรือประมาณ 1,562 ล้าน ลบ.ม. ภาคอุตสาหกรรม 25% หรือประมาณ 600 ล้าน ลบ.ม. และอุปโภคบริโภคในครัวเรือนอีก 10.4% หรือประมาณ 250 ล้าน ลบ.ม.
นายไพฑูรย์กล่าวว่า จากการประมาณการของ สทนช. ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า คือ ปี 2570-2580 จะมีการขยายตัวของความต้องการใช้น้ำในภาคอุปโภคและบริโภค และภาคอุตสาหกรรม แม้จะไม่มากนักคือ ภาคอุปโภคบริโภคในครัวเรือนจะมีความต้องการใช้น้ำ 10.70-12.69% หรือ 309-392 ล้าน ลบ.ม. และภาคอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 25.90-28% หรือ 748-865 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงที่ 59.3%หรือ 1,832 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2580
“มองในแง่การลงทุน รัฐก็จำเป็นต้องเข้าไปช่วยอุดหนุนอุตสาหกรรมเพื่อให้ต้นทุนต่างๆไม่แพง สามารถแข่งขันได้ มันก็เป็นนโยบายเรื่องการบริหารจัดการน้ำว่า มันก็ต้องช่วยทุกภาคส่วน ทั้งอุตสาหกรรมด้วย เกษตรด้วย คนก็อาจว่าทำไมอุ้มแต่ภาคอุตสาหกรรม แต่จริงๆพื้นที่อีอีซีไม่ได้มีแค่ภาคอุตสาหกรรม แต่ยังมีภาคเกษตรด้วย ซึ่งใช้น้ำมากกว่าเพื่อนในเวลานี้ ซึ่งต้องหาแนวทางการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพกว่านี้” นายไพฑูรย์กล่าว
เพื่อสร้างความมั่นคงด้านบริหารจัดการ รัฐจึงแนะนำภาคเอกชนให้บริหารจัดการด้านดีมานต์และซัพrลายด์ด้วยตัวเองด้วย อาทิ การประยุกต์หลักการ 3R เข้ามาช่วยทำให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การขุดสระนำ้สำรองของตัวเอง และแนวคิดการผลิตน้ำจืดจากนำ้ะทะเล ซึ่งถูกบรรจุรวมในแผนพัฒนาแหล่างน้ำต้นทุนรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในปี2563-2580 ซึ่งจะทำให้ได้น้ำต้นทุนเพ่ิมถึง 50-57 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้แผนดังกล่าว จะช่วยเพิ่มน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่อีอีซีอีกราว872 ล้าน ลบ.ม. ผ่านโครงการ 38 โครงการ จนถึงปี2580
ทางภาคเอกชน ได้เริ่มมีการขยับตัวเพื่อรับมือกับเรื่องนี้บ้างแล้ว โดยทางกลุ่มปตท. ได้ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ข่าวพลังงานในอาทิตย์นี้ว่า ได้เสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ (Public Private Partnership-PPP) เพื่อผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลป้อนพื้นที่แหลมฉบังมาบตาพุด
ทั้งนี้ บริษัทในกลุ่มปตท.  มีความพร้อมทั้งบริษัทพีทีทีโกลบอลเคมิคอลจำกัด(มหาชน)หรือPTTGC และบริษัทไทยออยล์จำกัด(มหาชน)หรือTOP โดยการประมูลรูปแบบ PPP นั้น รัฐบาลควรจะเข้ามาสนับสนุนในส่วนของการถมทะเล, ที่ดิน, และค่าภาษี เพราะการดำเนินโครงการมีต้นทุนที่สูง แต่มองว่าคุ้มค่าในระยะยาวเพราะน้ำทะเลไม่มีขาดแคลน, นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าว
“ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมพึ่งพิงแหล่งน้ำจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ถ้าไม่มีน้ำจากแหล่งธรรมชาติก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมได้ดังนั้นหากสามารถผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลได้ในสัดส่วน 10-20% ก็จะสามารถช่วยลดผลกระทบในภาวะที่ขาดแคลนน้ำจากธรรมชาติลงได้บ้าง” นายชาญศิลป์กล่าว
นายชาญศิลป์ยังกล่าวถึงภัยแล้งในปีนี้อีกว่า ในปี 2563 นี้ กลุ่มปตท.เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำเพื่ออุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเบื้องต้นกลุ่มปตท.มีแผนลดการใช้น้ำลงและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ นายชาญศิลป์กล่าวว่า กนช. ได้เข้ามาดูแลและบูรณาการทุกฝ่ายเพื่อให้มีน้ำเพียงพอทั้งการกักเก็บน้ำและผันน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆเพื่อนำมาใช้ โดยหวังว่าปริมาณฝนจะตกลงมาในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2563 ซึ่งจะทำให้สามารถผ่านพ้นปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมไปได้ในปีนี้ ซึ่งจากการเปิดเผยของนายไพฑูรย์ ในพื้นที่จะมีคณะกรรมการลุ่มน้ำที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนร่วมเจรจา และนับเป็นเวทีที่มีความสำคัญในช่วงวิกฤติอย่างภัยแล้งนี้