จุฬาฯ เปิด 15 ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์

จุฬาฯ เปิด 15 ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์

นิเทศฯ จุฬาฯ เผยผลการสำรวจ 15 ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ 4 ช่วงวัย พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ ความรุนแรง โฆษณาเกินจริง เนื้อหาสุขภาพที่ไม่น่าเชื่อถือ ข่าวปลอม และเนื้อหาลามกอนาจาร กลุ่มวัยทำงานช่วงอายุ 23-39 ปีเจอความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางด้านดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ (DIRU) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลงานวิจัย “15 ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ และความรอบรู้ทางดิจิทัลของคนไทย” ที่ ห้องประชุม Executive Junction ชั้นใต้ดิน โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษา อธิบายความผูกพัน (Engagement) และความเสี่ยง (Risk) บนสื่อออนไลน์ ผ่านการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (สำนักงาน กสทช.)

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวเก็บข้อมูลทั้งในเชิงคุณภาพ ผ่านการสัมภาษณ์เจาะลึก (In-Depth Interview) ประชาชน 4 ช่วงวัย ได้แก่ วัยรุ่นและเยาวชน ช่วงอายุ 15-22 ปี วัยหนุ่มสาว ช่วงอายุ 23-39 ปี ผู้ใหญ่ ช่วงอายุ 40-59 ปี และผู้สูงอายุ ช่วงอายุ 60 ปี ขึ้นไป ระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2562 จำนวน 74 คน หลังจากนั้นนำผลการสัมภาษณ์มาพัฒนาเป็นแบบสอบถาม เพื่อดำเนินการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ในกลุ่มตัวอย่างทั้ง 4 กลุ่ม จำนวนรวม 2,580 คน ใน 11 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา หนองคาย อุบลราชธานี จันทบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา กรุงเทพฯและปริมณฑล

158121831961

  • ใช้เวลาออนไลน์มากสุด 8 ชม.ต่อวัน

รองศาสตราจารย์ดร. พนม คลี่ฉายา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางด้านดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ (DIRU) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากการวิจัยด้านความผูกพันกับสื่อค้นพบว่า 5 สื่อที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ไลน์ เฟซบุ๊ค ยูทูป อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ มีความถี่ 7-8 ครั้งต่อวัน ระยะเวลาที่ใช้ คือ ครึ่ง – 1 ชั่วโมงต่อครั้ง หมายถึงในแต่ละวันคนจะใช้เฉลี่ย 3 ชั่วโมงครึ่ง – 8 ชั่วโมงต่อวัน โดย 4 กิจกรรมหลัก คือ ความบันเทิง ติดต่อพูดคุย อ่านข่าว และเรื่องงานหรือเรียน

158121874259

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำมากที่สุด คือ โพสต์เนื้อหาของตัวเอง กดไลค์แสดงความรู้สึก รองลงมา คือ แสดงความเห็น แชร์ และการไลฟ์สด ตามลำดับ ขณะที่ความเป็นเครือข่ายในโซเชียลมีเดีย พบว่า กลุ่มตัวอย่าง มีจำนวนเพื่อนอยู่ระหว่าง 101-500 คน ติดตามเพจ 16-25 เพจ จำนวนกลุ่มสนทนา 11-20 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มตัวอย่างจะรู้สึกอึดอัดใจหากต้องงดใช้สื่อสังคมออนไลน์

158121874278

  • 15 ความเสี่ยงบนออนไลน์

รองศาสตราจารย์ ดร.พนม กล่าวต่อไปว่า สำหรับ 15 เรื่องความเสี่ยงบนสื่อสังคมออนไลน์ ที่ได้รวบรวมจากการสำรวจ ประกอบด้วย ความรุนแรง โฆษณาสินค้าเกินจริง ข้อมูลสุขภาพที่ไม่จริง ข่าวปลอม เนื้อหาลามก หวยออนไลน์ การพนันออนไลน์ ถูกหลอกการซื้อสินค้า ถูกหลอกชักชวนหารายได้ ภัยจากระบบคอมพิวเตอร์ แชร์ออนไลน์ ถูกหลอกจากคนแปลกหน้า ข้อมูลส่วนตัว หุ้นออนไลน์ และถูกกลั่นแกล้ง โดย ความเสี่ยง 5 อันดับแรก คือ เนื้อหาที่มีความรุนแรง 63.02 % โฆษณาเกินจริง 62.87 % เนื้อหาสุขภาพที่ไม่น่าเชื่อถือ 60.66 % ข่าวปลอม 60.39 % และเนื้อหาลามกอนาจาร 51.59 % ตามลำดับ

158121874393

ทั้งนี้ หากแยกแต่ละกลุ่มวัย พบว่า 7 อันดับความเสี่ยง “กลุ่มอายุ 15 – 22 ปี” ได้แก่ เสี่ยงด้านภาพความรุนแรง โฆษณาเกินจริง ข้อมูลสุขภาพที่ไม่จริง ข่าวปลอม เนื้อหาลามก การพนันออนไลน์ และถูกหลอกชักชวนหารายได้ “กลุ่มอายุ 23 – 39 ปี” ได้แก่ เสี่ยงโฆษณาเกินจริง ภาพความรุนแรง ข้อมูลสุขภาพที่ไม่จริง ข่าวปลอม ภาพลามก การพนันออนไลน์ และถูกหลอกการซื้อสินค้า เนื่องจากเป็นกลุ่มทำงานมีกำลังซื้อทำให้มีความเสี่ยงจากการถูกหลอกขายสินค้าออนไลน์ได้

ด้าน “กลุ่มอายุ 40-59 ปี” ได้แก่ เสี่ยงในด้านโฆษณาเกินจริง ข้อมูลสุขภาพที่ไม่จริง ความรุนแรง ข่าวปลอม เนื้อหาลามก หวยออนไลน์ และพนันออนไลน์ กลุ่ม “อายุ 60 ปีขึ้นไป” ได้แก่ ข้อมูลสุขภาพที่ไม่จริง ข่าวปลอม ภาพความรุนแรง หวยออนไลน์ โฆษณาเกินจริง ภาพลามก และแชร์ออนไลน์ ตามลำดับ

จากผลวิจัยแสดงให้เห็นว่า คนไทยทุกช่วงวัยมีโอกาสที่จะพบเจอความเสี่ยงบนโลกออนไลน์หลายเรื่องด้วยกัน โดยกลุ่มวัยทำงานช่วงต้น 23-39 ปี เป็นกลุ่มที่พบเจอความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยทำงานมีรายได้

  • 2 ทักษะต้องปรับปรุง

สำหรับ ทักษะความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ทั้ง 7 ด้าน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีทักษะโดยรวม 5 ด้าน ได้แก่ Access (การเข้าถึง) Information Evaluation (การประเมินผล) Utilization (การใช้ประโยชน์) Identity and Citizenship (การแสดงถึงความเป็นพลเมือง) และ Risk Reduction (ป้องกันตัวเองเมื่อเจอความเสี่ยง) ซึ่งแต่ละวัยมีความแตกต่างกันไป

 “ทักษะที่ต้องปรับปรุง 2 ทักษะ คือ “Social Communication” ทักษะในการสื่อสารในสังคม เช่น คอมเมนต์ ยังมีลักษณะในการใช้สื่ออย่างไม่รู้เท่าทัน อาจนำมาซึ่งความอันตรายได้ และ “Media Text Understanding” การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาบนสื่อทั้งเนื้อหาโดยตรง เนื้อหาแฝง เนื้อหากำกวม เป็นจุดที่อาจต้องพัฒนาอยู่ ดังนั้น จุดที่ต้องเน้นคือ ทั้งสองทักษะนี้” รองศาสตราจารย์ ดร.พนม กล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.พนม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า คนไทยทุกช่วงวัยมีโอกาสที่จะพบเจอความเสี่ยงบนโลกออนไลน์หลายเรื่องด้วยกัน ดังนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ การเพิ่มความสามารถด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัยเพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งต้องเน้นความรู้ ทักษะ ความสามารถในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์

158121874351

“ส่งเสริมให้ความรู้และฝึกทักษะที่จำเป็นที่จะนำไปสู่ความรอบรู้ทางดิจิทัล ได้แก่ ฝึกทักษะการใช้งานสื่อออนไลน์ ฝึกความเคยชินในการตั้งคำถามกับเนื้อหาในเรื่องความถูกต้อง อคติหรือความหมายแฝง ความน่าเชื่อถือ ซึ่งการตั้งคำถามกับเนื้อหาถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรู้เท่าทัน สุดท้ายคือมีการปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงที่นำไปสู่อันตรายจากการใช้งานสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในด้านความรอบรู้ทางดิจิทัล ที่จะช่วยให้ประชาชนใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์” รองศาสตราจารย์ ดร.พนม กล่าวสรุป

หลังจากนี้ DIRU จะนำผลงานวิจัยดังกล่าวไปทดลองพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ผ่านการระดมความคิดของผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา อาทิ จิตวิทยา คุรุศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ไอที เพื่อให้ได้แพลตฟอร์มที่รวบรวมทั้งกิจกรรมที่เสริมการรอบรู้ด้านสื่อ มีคอนเทนต์ เรื่องราว บทเรียน แบบฝึกหัด ที่จะฝึกฝนด้านวิธีคิดเชิงวิเคราะห์ และการฝึกทักษะในการเผชิญความเสี่ยง รวมถึงการพูดคุยแลกเปลี่ยนในรูปแบบชุมชน เพื่อช่วยในการเตือน และสุดท้ายคือ มีฟีเจอร์ในการสืบค้นข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม และเปิดให้ทดลองใช้ 2-3 เดือน เพื่อนำไปพัฒนา ลงรายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้น และเปิดใช้งานจริงต่อไป