เทคโนโลยีจดจำใบหน้า ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

เทคโนโลยีจดจำใบหน้า ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

จากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน ทำให้เกิดเทคโนโลยีหนึ่ง ก็คือ การจดจำใบหน้า แม้ภาครัฐอ้างว่าจะใช้เพื่อป้องกันภัยจากการก่อการร้ายหรืออาชญากรรม แต่ประชาชนกลับมองว่านี้อาจลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเอง เพระาไม่สามารถตรวจสอบการเข้าถึงได้

รัฐนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันมาใช้ โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องและป้องกันภัยจากการก่อการร้ายและอาชญากรที่พัฒนาขึ้นทุกวัน แต่ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขากำลังถูกลิดรอน เพราะไม่สามารถตรวจสอบหน่วยงานรัฐได้ว่าเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวมากน้อยเพียงใด โปรแกรมหนึ่งที่กำลังถูกพูดถึงคือ โปรแกรมจดจำใบหน้า หรือ face-recognition technology ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงนำมาใช้เพื่อช่วยให้สืบหาตัวคนร้ายได้รวดเร็วฉับไวมากยิ่งขึ้น

ทางการของเกาะฮ่องกง นำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับกลุ่มผู้ประท้วง เพื่อหาทางจัดการทางกฎหมายกับผู้ประท้วงที่ฮ่องกง เริ่มมาตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคม 2562 ในช่วงแรกการชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ ก่อนที่เหตุการณ์จะเริ่มรุนแรงในเวลาต่อมา หลายต่อหลายครั้งทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ

ต้นตอเริ่มแรกของการประท้วงมาจากความไม่พอใจร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งผู้ชุมนุมมองว่า รัฐบาลจีน กำลังแทรกแซงสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกง การประท้วงยืดเยื้อข้ามปี เพราะผู้ประท้วงต้องการเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป โดยระบุว่ารัฐบาลฮ่องกงไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าว นับตั้งแต่จีนได้เข้าปกครองฮ่องกงในปี 2540

ว่ากันว่า ตอนนี้ทั้งสองฝ่ายพยายามยั่วยุกัน โดยทางการฮ่องกงเชื่อว่า หากปล่อยให้มีการประท้วงต่อไปเรื่อยๆ ผู้ประท้วงเองจะเลิกราไปเอง ส่วนผู้ประท้วงก็พยายามยั่วยุ เพื่อให้ทางการหมดความอดทน

มาตรการหนึ่งที่ทางการฮ่องกงออกมา เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้ผู้ประท้วงหน้าใหม่และขาจรให้ไม่อยากเข้าร่วมชุมนุม คือ การห้ามใช้ผ้าหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาปกปิดใบหน้า ทางการยืนยันที่จะห้ามใส่หน้ากากและบอกว่าพร้อมจะจับกุมโดยทันที ต่อมาผู้ประท้วงกล่าวหาว่า ทางการฮ่องกงนำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้ เพราะสังเกตเห็นมีการติดตั้งกล้องตามเสาไฟฟ้า นี่เองเป็นที่มาของการที่ผู้ประท้วงทำหน้ากากของดารา หรือบุคคลอื่น และนำมาใส่ขณะมาประท้วง เพื่อไม่ให้โปรแกรมดังกล่าวจำหน้าตนเองได้

ครั้งหนึ่งมีการเผยแพร่ภาพหนึ่งในโลกออนไลน์ที่เข้าใจว่า เป็นภาพของผู้ประท้วงชาวฮ่องกงคาดศีรษะด้วยอุปกรณ์ดิจิทัล ประกอบด้วยจอโปรเจ็คเตอร์ ซึ่งจะฉายเป็นภาพบุคคลอื่นบนใบหน้าของคนๆ นั้น เพื่อพรางตัวไม่ให้โปรแกรมจดจำใบหน้าจำได้ แต่ต่อมามีการเปิดเผยว่า ภาพดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่คิดค้นโดย จิง ไซ หลิว นักศึกษาของ Utrecht School of the Arts ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี 2017 โครงการนี้มีชื่อว่า "นิรนาม" (Anonymous) โดยจิงสร้างโปรเจ็คเตอร์สำหรับใบหน้า ซึ่งจะฉายภาพใบหน้าของบุคคลอื่นบนใบหน้าจริงของผู้ใช้ มีจุดประสงค์หลักเพื่อต่อต้านเทคโนโลยีกล้องที่ติดตั้งด้วยซอฟต์แวร์จดจำใบหน้า

ในฮ่องกงผู้ประท้วงใช้เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ง่ายๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ เช่น ใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากที่ทำขึ้นเอง ใส่หมวก ใส่ฮู้ด หรือใส่แว่นตาดำ บางคนก็ใส่ "หน้ากากขาว" ของกาย ฟอกส์ นักต่อสู้ชาวอังกฤษ ส่วนอีกคนถักผมเปียทั่วศีรษะและนำมาปกปิดหน้าของตัวเอง 

หลายประเทศนำเทคโนโลยีจดจำใบหน้านี้มาใช้ แต่ก็โดนประชาชนในประเทศคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการก้าวก่ายสิทธิส่วนบุคคล การคัดค้านมาในรูปแบบต่างๆ แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การปกปิดใบหน้าด้วยวิธีต่างๆ กัน เช่น การใส่หน้ากากหรือการตกแต่งหน้า ทำให้ในปัจจุบันการแต่งหน้ากลายเป็น สัญลักษณ์ของการต่อต้านไปแล้ว

ในอังกฤษ กระแสต่อต้านเทคโนโลยีเริ่มมีมากขึ้น เมื่อตำรวจอังกฤษประกาศว่าจะมีการติดตั้งกล้องที่ติดตั้งซอฟต์แวร์จดจำใบหน้านี้ทั่วถนนในลอนดอน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนประณามว่า เป็นภัยอย่างมากต่อสิทธิมนุษยชน พวกเขากล่าวว่า ตำรวจอังกฤษสามารถใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้านี้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ไม่เหมือนลายนิ้วมือหรือการตรวจหาดีเอ็นเอ พวกเขาจึงเลือกใช้การตกแต่งหน้า เพื่อเป็นการประท้วงต่อการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

ผู้ต่อต้านกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกของ Dazzle Club ได้รวมกลุ่มกัน และจัดการเดินประท้วงอย่างสงบในลอนดอน เพื่อแสดงความไม่พอใจ แอนนา ฮาร์ท หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม กล่าวว่า บริษัทที่ขายเทคโนโลยีอ้างว่าเพื่อป้องกันอาชญากรรม แต่ก็ไม่ได้แสดงหลักฐานเลยว่า มันป้องกันได้อย่างไร หรือได้จริงไหม จริงๆ แล้ว อาจจะใช้ได้เมื่อมีการกระทำอาชญากรรมแล้วมากกว่า แต่บริษัทพวกนี้กล่าวว่า นี่จะทำให้พวกเราปลอดภัยมากขึ้น หรือรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

การจดจำใบหน้านี้ทำงานด้วยการดูใบหน้า โดยเฉพาะตา จมูก และคางด้วย การคำนวณจากแสงสว่าง และความมืดบนใบหน้า แล้วนำมาเทียบกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ ดังนั้นการตกแต่งใบหน้าจะเป็นการเพิ่มความสว่างหรือความมืดบนใบหน้า เพื่อทำให้โปรแกรมสับสน การตกแต่งใบหน้านี้ถูกคิดค้นโดยศิลปิน อาดัม ฮาร์วีย์ ซึ่งดัดแปลงมาจากการพรางตัวของทหารเรือในสงครามโลก ครั้งที่ 1 

ไอเดียของฮาร์วีย์ที่ตกแต่งใบหน้า โดยไม่ต้องหาอะไรมาปกปิดใบหน้า เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินและดีไซเนอร์คนอื่นๆ เช่น จิบ วอน ลีเวนสไตน์ ศิลปินชาวดัชช์ที่ใช้ทำหน้ากากจากพลาสติกใส

ส่วนคนอื่นใช้หมวกหรือเสื้อยืดที่มีลาย ซึ่งออกแบบเพื่อหลอกโปรแกรมนี้ว่า นี่ไม่ใช่มนุษย์นะ นักวิจัยของมหาวิทยาลัย KU Leuven ในเบลเยี่ยม สามารถเลี่ยงการถูกจับใบหน้าโดยการถือรูปคนหลายๆ คน เอมิลี รอดเดอร์ริค ผู้ก่อตั้ง Dazzle Club อีกคน กล่าวว่า สมาชิกของกลุ่มเจอกันเดือนละครั้ง เพื่อร่วมการเดินผ่านส่วนต่างๆ ของลอนดอน และมีผู้คนถามถึงเจตนาของพวกเขามากมาย

“ถ้าตกแต่งใบหน้าอย่างนี้ได้ทุกวัน จะดีมาก”

ส่วนฮาร์วีย์ ศิลปินชาวอเมริกัน ซึ่งพำนักในเบอร์ลิน กล่าวว่า เขาศึกษาเทคโนโลยีนี้ตั้งแต่ปี 2011 เขาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ the Observer ว่า การตกแต่งใบหน้าเพื่ออำพรางนี้ควรมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงเวลาอาจจะ 2 ปีหรือ 3 ปี

ทางด้าน ดร.ซูซาน มามูดิ อาจารย์ด้านคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย Southampton กล่าวว่า โปรแกรมการจดจำใบหน้านี้ อาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีตัวใหม่ ได้การตกแต่งใบหน้าก็ทำได้เฉพาะใบหน้า โดยที่ไม่รวมถึงหู เป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนหูของใครซักคน ถึงแม้ว่าจะซ่อนได้ด้วยผมหรือหมวก นอกจากนี้ยังมี โปรแกรมจดจำท่าเดินด้วย เพราะคนมีท่าเดินที่เป็นแบบเฉพาะตัว ถ้าคุณรู้ว่าตรงไหนมีกล้อง คุณก็เปลี่ยนท่าเดินได้ แต่ถ้าคุณไม่รู้ คุณก็จะเดินท่าเดิม