ราคาน้ำมันดิบร่วงกว่า 1% กังวลรัสเซียขวางลดการผลิตเพิ่ม

ราคาน้ำมันดิบร่วงกว่า 1% กังวลรัสเซียขวางลดการผลิตเพิ่ม

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส ปิดตลาดวันศุกร์(7ก.พ.) ดิ่งลงกว่า 1% หลังจากที่รัสเซียยังคงไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อข้อเสนอที่ให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร เพิ่มการปรับลดกำลังการผลิต

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนมี.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดไนเม็กซ์ ลดลง 63 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ราคา 50.32 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ร่วงลง 41 เซนต์ ปิดที่ราคา 54.52 ดอลลาร์/บาร์เรล

นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียให้การสนับสนุนข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (เจทีซี) ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร ที่มีมติเสนอให้โอเปกปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 600,000 บาร์เรล/วัน เพื่อพยุงราคาน้ำมันซึ่งได้ทรุดตัวลงในระยะนี้ อันเนื่องมาจากความวิตกที่ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน

นายลาฟรอฟ กล่าวว่า รัสเซียสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว พร้อมระบุว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้หารือกับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของกลุ่มโอเปก เกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโคโรน่า ซึ่งกำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงาน

อย่างไรก็ดี นายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รัฐมนตรีพลังงานรัสเซีย กล่าวในวันนี้ว่า รัสเซียขอเวลาตัดสินใจในประเด็นดังกล่าว เพื่อวิเคราะห์ภาวะตลาดน้ำมัน และจะประกาศจุดยืนของรัสเซียในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ นายโนวัคยังคาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะลดลงราว 150,000-200,000 บาร์เรล/วันในปีนี้ โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า แหล่งข่าวเปิดเผยว่า รัสเซียมีท่าทีคัดค้านข้อเสนอที่ให้กลุ่มโอเปกและพันธมิตรปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 600,000 บาร์เรล/วัน โดยเห็นว่าควรมีการขยายเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตตามโควตาเดิมในขณะนี้ต่อไป

ทั้งนี้ เจทีซี ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่สามารถให้ข้อเสนอแก่โอเปกและชาติพันธมิตรเกี่ยวกับนโยบายการผลิต

ขณะเดียวกัน โอเปกและชาติพันธมิตรยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะมีการเลื่อนการประชุมโอเปกให้เร็วขึ้นเป็นเดือนนี้ จากเดิมที่มีกำหนดการประชุมในวันที่ 5-6 มี.ค.

ในการประชุมของกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรในปีที่แล้ว ที่ประชุมมีมติปรับลดกำลังการผลิตอีก 500,000 บาร์เรล/วัน รวมเป็น 1.7 ล้านบาร์เรล/วันในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.ปีนี้

‘สถานการณ์ไวรัสโคโรน่า’