'ส.นภา' ดันธุรกิจรีไซเคิลน้ำ หนุนผลิตน้ำจืดจากทะเล

'ส.นภา' ดันธุรกิจรีไซเคิลน้ำ หนุนผลิตน้ำจืดจากทะเล

ธุรกิจการบริหารจัดการน้ำมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีการนำเทคโนโลยีการรีไซเคิลน้ำ รวมถึงการผลิตน้ำจืดจากทะเลที่กำลังจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในอีอีซี

เกตุวลี นภาศัพท์‎ ประธานกรรมการ บริษัท ส.นภา (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ส.นภา เป็นผู้นำและเป็นที่ยอมรับในการให้บริการระบบบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรมา 60 ปี โดยมีธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่ ระบบผลิตน้ำประปาและผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรม การรีไซเคิลน้ำเสีย การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล สระว่ายน้ำและน้ำเพื่อความสวยงาม เช่น น้ำพุ น้ำตก 

รวมทั้งการวางระบบและบริหารจัดการน้ำที่หลากหลายตั้งแต่การให้คำปรึกษา ออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้งอุปกรณ์ รวมถึงการตรวจสอบระบบเพื่อส่งมอบงานตามสัญญา สำหรับระบบผลิตน้ำประปาและผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรมระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนและอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน

ส่วนธุรกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา การบำบัดน้ำเสีย และสาธารณูปโภคได้มีบริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด (กัสโก้) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีลูกค้าเป็นนิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนทั่วประเทศ โดยลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในอีอีซี

บริษัทได้ให้บริการผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรม และบำบัดน้ำเสียโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เข้ามาใช้เพื่อให้ลูกค้ามีต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำที่ลดลง ซึ่ง ส.นภา จะให้บริการเริ่มตั้งแต่การออกแบบก่อสร้าง การให้คำปรึกษาจนจบโครงการ และส่งให้กัสโก้เป็นผู้บริหารจัดการระบบในระยะยาว

นอกจากนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาสร้างนวัตกรรมใหม่ร่วมกับสถาบันวิจัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลน้ำเสียให้ได้น้ำดีกลับมาใช้มากขึ้น ลดขนาดการใช้พื้นที่ และมีต้นทุนลดลง 

158108402653

เทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียใหม่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้กับภาคอุตสาหกรรมในอีอีซี ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุตสาหกรรมในระยะยาว และที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตน้ำจากรีไซเคิลจะสูงกว่าการใช้น้ำประปาและน้ำดิบมาก แต่ต้นทุนนี้ทยอยลดลงจนขณะนี้สูงกว่าน้ำปกติไม่มากแล้ว ทำให้โรงงานและนิคมฯ ที่ติดตั้งระบบรีไซเคิลน้ำเสียลดการพึ่งพาน้ำดีจากภายนอกได้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง

ส่วนการช่วยเหลือนิคมฯและโรงงานในภาคตะวันออกในช่วงภัยแล้งขณะนี้ บริษัทฯ มีเทคโนโลยีระบบโมบายการรีไซเคิลน้ำเสียแยกน้ำดีส่วนหนึ่งนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์นำไปติดตั้งรีไซเคิลน้ำให้กับโรงงานได้ทันที ทำให้ช่วยเหลือโรงงานในช่วงระยะสั้นได้ มีกำลังการบำบัดน้ำเสีย 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อบรรเทาผลกระทบน้ำแล้ง โดยมีระบบโมบายรีไซเคิล 2-3 ระบบ ส่วนต้นทุนการบำบัดก็มีความแตกต่างกันในแต่ละโรงงานขึ้นกับคุณภาพน้ำเสียมากหรือน้อย และน้ำดิบที่ต้องการมีคุณภาพอย่างไร

การรีไซเคิลน้ำ หรือการนำน้ำเสียที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่นั้น เป็นมาตรการสำคัญที่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำไว้ให้นิคมฯ หรือโรงงานได้อย่างมีนัยยะ ซึ่งจะทำให้ลดการใช้ทรัพยากรน้ำในช่วงภาวะปกติ และในภาวะภัยแล้งเช่นนี้ โดยน้ำจากโรงงานรีไซเคิลมีส่วนสำคัญในการทดแทนน้ำดิบ หรือน้ำประปาที่ขาดหายไป 

จึงเห็นว่าทุกนิคมฯ ควรพิจารณามีโรงงานรีไซเคิลน้ำเสียไว้ในนิคมฯ เพราะในภาวะแล้ง การไม่มีน้ำให้ผู้ประกอบการนั้นมีผลกระทบที่สูงมาก และการมีโรงงานรีไซเคิลน้ำนั้นไม่สามารถกระทำได้ทันที หากแต่ต้องมีการออกแบบและก่อสร้าง ซึ่งต้องใช้เวลาอันอาจไม่ทันต่อการผลิตน้ำทดแทนได้

ในฐานะที่ ส.นภา มีบริษัทในเครือ 2 บริษัท คือ กัสโก้ และ เจม รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการน้ำในนิคมอุตสาหกรรรม โดยได้มีส่วนร่วมลดปัญหาน้ำแล้งหลายประการ ซึ่งช่วงภาวะแล้งจะเห็นประโยชน์ของมาตรการที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการไปชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม และการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่

“ในปัจจุบันโรงงานในอีอีซี ลงทุนติดตั้งระบบรีไซเคิลน้ำเสียในโรงงงานมากขึ้น เพื่อนำน้ำดีกลับมาใช้ใหม่ เพิ่มการพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้นในช่วงฤดูแล้ง จากเดิมที่ส่งน้ำเสียไปให้ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางในนิคมฯเป็นผู้บำบัดน้ำเสีย ซึ่งผู้ประกอบโดยเฉพาะนิคมฯ ใหม่ที่จะก่อตั้งขึ้นหรือโรงงานจะให้ความสำคัญต่อการบำบัดน้ำสีย และการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่”

ส่วนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะยาวนั้น ภาครัฐควรจะมีนโยบายให้การสนับสนุนในการลงทุนตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ซึ่งในขณะนี้มีต้นทุนลดลงเรื่อยๆ อยู่ในระดับกว่า 30 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าในอดีตที่มีราคา 40-50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่การผลิตน้ำประปาจากแหล่งน้ำบนดินจะมีราคาประมาณ 20 บาทต่อลูกบาศก์เมตร 

ทั้งนี้หากนำต้นทุนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลมาเฉลี่ยกับราคาการผลิตน้ำประปาปกติ ก็จะทำให้ราคาน้ำประปาเฉลี่ยทั้งปีสูงขึ้นกว่าเดิมไม่มาก เป็นราคาที่เหมาะสมที่โรงงานต่างๆอยู่ได้ และมีความมั่นคงในเรื่องน้ำ เพราะหากไม่มีน้ำก็จะกระทบธุรกิจอย่างรุนแรง เหมือนอย่างในช่วงภัยแล้งในปี 2548 โรงงานต้องซื้อน้ำในราคาสูงถึง 200 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากมีโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ก็จะทำให้เกิดความมั่นคงในเรื่องน้ำ และทำให้ต่างชาติมั่นใจในการเข้ามาลงทุนในอีอีซีมากขึ้น

สำหรับ ลูกค้าของกลุ่มบริษัท ส.นภา ได้แก่ กนอ.และนิคมฯเอกชน ในการบริหารจัดการบำบัดน้ำเสีย เช่น นิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรี นอกจากนี้มีเรื่องระบบบำบัดน้ำเสียที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และมีลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มปิโตรเคมี

ในขณะที่รายได้รวมของกลุ่ม ส.นภา ในปีที่ผ่านมา 3,800 ล้านบาท ส่วนปี 2563 คาดว่าจะใกล้เคียบกับปีที่ผ่านมา เพราะในปีนี้เศรษฐกิจโลกซบเซาทั้งจากภาวะสงครามการค้า และโรคระบาด ทำให้โรงงานมีกำลังการผลิตลดลง ส่งผลให้มียอดใช้น้ำเพิ่มขึ้นไม่มาก