อานิสงส์ ‘บีทีเอส ’ซื้อหุ้น หนุน ‘เจเอ็มที ’ทยานออล์ไทม์ไฮ

อานิสงส์ ‘บีทีเอส ’ซื้อหุ้น หนุน ‘เจเอ็มที ’ทยานออล์ไทม์ไฮ

ยังคงเดินหน้าแสวงหาโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ของเจ้าสัว “คีรี กาญจนพาสน์”

โดยล่าสุดไปถูกใจธุรกิจติดตามทวงหนี้ของกลุ่มเจมาร์ท ภายใต้ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT จึงตัดสินใจซื้อบิ๊กล็อตหุ้น JMT ผ่านกระดานรายใหญ่ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยเก็บหุ้นเข้าพอร์ตไปทั้งหมด 28 ล้านหุ้น หรือ คิดเป็นสัดส่วน 3.15% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ที่ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 19.40 บาท ต่ำกว่าราคากระดานซึ่งปิดการซื้อขายวันนั้นที่ 22.70 บาท โดยดีลนี้บีทีเอสใช้เงินไป 543.20 ล้านบาท

เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่าทำไม “บีทีเอส” ถึงเข้าไปลงทุนใน “เจเอ็มที” เพราะดูเป็นธุรกิจที่ห่างไกลกันเหลือเกิน ระหว่างรถไฟฟ้ากับการติดตามทวงหนี้ ซึ่งคำถามนี้ถูกเฉลยจาก “กวิน กาญจนพาสน์” ซีอีโอของบีทีเอส ว่าเป็นการซื้อหุ้นตามสิทธิ เพราะปัจจุบันบีทีเอสถือหุ้นในบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART บริษัทแม่ของเจเอ็มทีอยู่แล้ว 3.53%

และบริษัทสนใจธุรกิจของ “เจเอ็มที” ตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดหุ้น เพราะเห็นว่าผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรเติบโตมาตลอด โดยต้องการนำธุรกิจติดตามทวงหนี้ของเจเอ็มที มาต่อจิ๊กซอว์เข้ากับธุรกิจสินเชื่อเงินสดของกลุ่มบีทีเอสที่ดำเนินการอยู่ร่วมกับบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ให้สมบูรณ์และแข็งแกร่งขึ้น จากตอนนี้ที่มีวงเงินปล่อยสินเชื่ออยู่ราว 2 พันล้านบาท

หลังจากนี้คงต้องรอติดตามดูว่าจะเกิดความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ ราคาหุ้น JMT ตอบรับข่าวดีนี้ไปเต็มๆ ใส่เกียร์เดินหน้าทำระดับสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยปิดการซื้อขายล่าสุด (7 ก.พ.) ที่ 24.20 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือ 6.61%

ปัจจัยหนุนหุ้น JMT มาจากผลประกอบการที่เติบโตดีมาตลอด ปี 2559-2561 บริษัทมีรายได้รวม 1,216.23 ล้านบาท 1,361.69 ล้านบาท และ 1,885.83 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกันจาก 290.41 ล้านบาท 396.13 ล้านบาท และ 505.52 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่งวด 9 เดือน ปี 2562 มีรายได้แล้ว 1,862.56 ล้านบาท และ มีกำไรสุทธิ 482.62 ล้านบาท เห็นแบบนี้การันตีได้เลยว่าจะเป็นนิวไฮใหม่อีกปีแน่นอน ด้วยตัวธุรกิจบริหารจัดการหนี้ หรือ พูดง่ายๆ คือ การซื้อหนี้เสีย (NPL) มาบริหาร ดูสอดรับกับสภาพสังคมไทยปัจจุบันที่อัตราการก่อหนี้สูงเหลือเกิน โดยหนี้ครัวเรือนไทยสูงถึงเกือบ 80% ของจีดีพี

และต้องบอกว่าธุรกิจจัดการหนี้มีจุดเด่นที่สามารถอยู่รอดในทุกภาวะเศรษฐกิจไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี อย่างง่ายๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจเป็นขาขึ้น ส่งผลให้ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดีขึ้น ส่วนช่วงเศรษฐกิจขาลงชะลอตัวแบบทุกวันนี้ เป็นโอกาสให้เลือกช้อปหนี้เสียที่แบงก์จะนำออกมาเร่ขายในราคาที่ไม่สูงมาก จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของแต่ละบริษัทว่าจะไปตามเก็บหนี้ที่ซื้อมาได้อย่างไร

ส่วนการมาของยักษ์ใหญ่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ที่โดดลงสนามเข้าตลาดหุ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว แม้ธุรกิจจะคล้ายกัน แต่ถ้าจะลึกลงไปจะเห็นว่าลูกค้าเป็นคนละกลุ่ม BAM จะโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่มีหลักประกันคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 100% ของพอร์ตทั้งหมด

ส่วน JMT จะเน้นลูกหนี้รายย่อยมากกว่า ไม่ค่อยมีหลักประกัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ฯลฯ และเน้นหนี้ที่มีมูลหนี้ต่อสัญญาไม่สูงมาก แต่ความเสี่ยงก็ย่อมมากกว่า อย่างไรก็ตาม รรดานักวิเคราะห์เชื่อว่าการมาของ BAM ไม่น่าจะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมรุนแรงขึ้น เพราะลูกค้าเป็นคนละกลุ่ม แต่ตรงกันข้ามจะช่วยจุดพลุให้นักลงทุนหันมาสนใจหุ้นกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งดูจากราคาหุ้นในกลุ่มก็น่าเป็นเช่นนั้น เพราะทำออลไทม์ไฮกันแทบทุกบริษัท

ด้านบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า หุ้น JMT เป็นหนึ่งในหุ้นที่น่าสนใจของปีนี้ในแง่การเติบโต (Growth Stock) ขณะที่การเข้าตลาดของ BAM ไม่ได้ทำให้สภาพการแข่งขันในกลุ่มเปลี่ยนไป รวมทั้งไม่กระทบต่อพื้นฐานของบริษัท และจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันเชื่อว่า NPL ปีนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น สถาบันการเงินจะนำออกมาประมูลขายไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อนที่ 8 หมื่นล้านบาท เป็นบวกต่ออุตสาหกรรมที่มีโอกาสเลือกซื้อหนี้เข้ามาต่อยอดการเติบโตได้มากขึ้น