สรุปภาวะ"ตลาดเงินตลาดทุน"รายสัปดาห์ วันที่ 3-7 กุมภาพันธ์ 2563

สรุปภาวะ"ตลาดเงินตลาดทุน"รายสัปดาห์ วันที่ 3-7 กุมภาพันธ์ 2563

เงินบาทอ่อนค่าลง ขณะที่หุ้นไทยกลับมายืนเหนือระดับ 1,500 จุด

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงแรกตามการปรับโพสิชันก่อนการประชุมกนง. อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังกนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาที่ 1% ขณะที่ผู้ว่าการธปท. ระบุว่า แม้เงินบาทได้อ่อนค่าลงมาแล้วตั้งแต่ต้นปี แต่ยังไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่มีความอ่อนไหวอยู่มาก ทั้งนี้เงินบาทยังคงมีทิศทางอ่อนค่าจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ซึ่งสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ  ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ (PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ และตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน) ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด   

- ในวันศุกร์ (7 ก.พ.) เงินบาทอยู่ที่ 31.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 31.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (31 ม.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (11-14 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ประกอบด้วย ความคืบหน้าของการลงมติร่างพ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ของไทย ตลอดจนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนม.ค. และถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และดัชนีราคาสินค้านำเข้า/ส่งออกเดือนม.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

ดัชนีตลาดหุ้นไทยกลับมาปิดปลายสัปดาห์ที่ 1,535.24 จุด เพิ่มขึ้น 1.39% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 61,841.92 ล้านบาท ลดลง 0.44% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.46% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 303.95 จุด  

- ตลาดหุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ก่อนจะดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมา หลังจีนส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้หุ้นไทยยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของครม. และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของกนง. อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ มีช่วงบวกที่จำกัดลงช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนายังคงไม่คลี่คลาย และมีแรงกดดันในหุ้นกลุ่มสื่อสาร 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (11-14 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,525 และ 1,515 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,540 และ 1,550 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการไตรมาส 4/62 ของบจ. ความคืบหน้าเกี่ยวกับการลงมติร่างพ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 และสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค.ของจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/62 ของยูโรโซน