'เซียน' ส่อง 3 หุ้นมือถือ อยากชนะ ! ต้องพอร์ตใหญ่

'เซียน' ส่อง 3 หุ้นมือถือ อยากชนะ ! ต้องพอร์ตใหญ่

5G มาแล้ว ! พื้นฐานใครแจ่มสุด 'ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร' สแกนอนาคต 3 โอปอเรเตอร์เมืองไทย 'รุ่ง' หรือ 'เหนื่อย' หลังทุกรายต้องควักเงินลงทุนก้อนโต ชี้เกมชนะวัดที่ 'พอร์ตลูกค้าใครใหญ่' เหตุต้นทุนไม่ต่างกัน ฟาก 'กูรู' ยกให้ ADVANC สวยสุด...

ADVANC-DTAC-TRUE ผู้ประกอบการมือถือค่ายใดหนอ !! พื้นฐาน 'เร่าใจสุด' คาดว่าจะเปิดให้บริการระบบ 5G ช่วงเดือน ก.ค. 2563 นี้ หลังเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา พบผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมเข้ายื่นเอกสารประมูลคลื่นความถี่ 5G ทั้งหมด '5 ราย' บนคลื่นความถี่ทั้งหมด 4 ย่าน ได้แก่ 700 MHz ,1,800 MHz , 2600 MHz , และ 26GHz  

ประกอบด้วย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE , บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC , บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC และ ครั้งนี้ผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมที่เป็นรัฐวิสาหกิจ อย่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด หรือ CAT เข้าร่วมยื่นเอกสารด้วย 

การประมูล 5G จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 ก.พ. 2563 เปิดให้ประมูลทั้งหมด 4 ย่านความถี่ ได้แก่ 1.ความถี่ย่าน 700 MHz 3 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต 2.ความถี่ย่าน 1800 MHz 7 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต 3.คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต และ 4.คลื่นความถี่ย่าน 26 GHz 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต

ฟาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE เข้ายื่นเอกสารเป็นรายแรก บนคลื่นความถี่ทั้งหมด 4 ย่าน ได้แก่ 700 MHz ,1,800 MHz , 2600 MHz , และ 26 GHz ก่อนหน้านั้น 'จัดหนัก!' ด้วยการแถลงข่าวขอให้ทุกฝ่ายมองการเข้าร่วมประมูล 5G ในครั้งนี้ ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้แข่งขันได้ใน 'ยุคดิจิทัล' และล่าสุด ประกาศความร่วมมือกับ มอ. สาธิต ในการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้งานทางการแพทย์ โดยนำอุปกรณ์ตรวจเช็คสภาพร่างกาย และความปลอดภัย มาใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อย่างหุ่นยนต์ หรือโดรนลาดตระเวน เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่เป้าหมายที่เกิดภัยพิบัติ หรืออุบัติเหตุได้ ผ่านโครงข่าย 5G โดยมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือ 29.8 ล้านเลขหมาย

ฝั่งกังหันสีฟ้า บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC นำทีมมาด้วย ซีอีโอใหม่ป้ายแดง อย่าง 'ชารัด เมห์โรทรา' เข้ายื่นเอกสารเข้าร่วมประมูลคลื่น 5G ที่ประกอบไปด้วยคลื่นความถี่ทั้งหมด 4 ย่านเช่นกัน ถือเป็นการยืนยันตามคำสัญญาของดีแทคที่ว่า 'จะไม่หยุด' ในการพัฒนาโครงข่ายและคุณภาพบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า โดยมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือ  20.4 ล้านเลขหมาย

ฟากน้องอุ่นใจ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC ที่เข้ายื่นเอกสารเข้าร่วมประมูล 5G ที่ประกอบไปด้วยคลื่นความถี่ทั้งหมด 4 ย่านเช่นกัน แม้มารั้งท้าย ! แต่ก่อนหน้านี้ ADVANC 'ออกตัวแรง!' หลังเร่งเครื่องทดสอบ 5G ทั่วประเทศไทยเป็นรายแรกมาระยะหนึ่งแล้ว ภายใต้ 'AIS 5G ที่ 1 ตัวจริง ทดสอบแล้วทั่วไทย' โดยมีการจัดแสดงเทคโนโลยีโฮโลแกรม , การควบคุมรถยนต์ทางไกล และ Connected Drone เป็นต้น 

ถือเป็นการตอกย้ำเป็นโอเปอเรเตอร์ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) 'เบอร์หนึ่ง' เมืองไทย ทั้งในแง่ของฐานลูกค้าและรายได้ โดยมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือมากที่สุด 41.6 ล้านเลขหมาย (ตัวเลข ณ งวด 9 เดือนปี 2562) 

ขณะที่ 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บอกว่า การประมูล 5G โดยมีคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz รวมทั้งหมด 56 ใบอนุญาต มูลค่า '1.6 แสนล้านบาท' จะทำให้ กสทช.สร้างรายได้จากการประมูลครั้งนี้ '7 หมื่นล้านบาท' ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.46 หมื่นล้านบาท  

'5G หนุนพื้นฐานใครโดดเด่นสุด!' กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ถามไปที่ 'ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร' ผู้เผยแพร่แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคนแรกในประเทศไทย หรือ VI 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ (ADVANC-DTAC-TRUE) คงจะได้ประโยชน์เท่าๆ กัน แต่ในแง่ของพื้นฐานธุรกิจในระยะยาว คงยกให้กับโอปอเรเตอร์รายใหญ่ที่มี 'ยอดขาย และ ฐานลูกค้าสูงสุด' มีโอกาสเป็นผู้ชนะในเกมนี้สุด เจ้าตัวเผย !  

ประสบการณ์ที่ผ่านมาจากการลงทุนเครือข่าย 3G และ 4G ทำให้รู้ว่า ต้นทุนของการลงทุนของเอกชนไม่แตกต่างกันมากนัก เนื่องจากการลงทุนโครงข่ายก็เหมือนกัน ฉะนั้น ธุรกิจดังกล่าวจะได้เปรียบคู่แข่งจะอยู่บนพื้นฐานที่ใครมีฐานลูกค้าในระบบมากกว่ากัน เพราะว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าฐานลูกค้ามากก็ต้องใช้บริการมากและรายได้ก็ต้องมากขึ้นเช่นกัน

'ธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคมถือเป็นธุรกิจที่มีการใช้เงินลงทุนสูงมาก แต่ราคาเพิ่มไม่ได้เนื่องจากอาจจะเป็นการผลักภาระให้กับประชาชน ประกอบกับในตลาดมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง'

ทว่า ทำไม ? โอปอเรเตอร์ทุกรายต้องประมูล ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีเดิมยังใช้ได้ 'นักลงทุนรายคราม' ย้ำว่า หากผู้ประกอบการรายใดไม่รวมประมูลลูกค้าย้ายเครือข่ายหนีหมดแน่นอน ดังนั้น แม้ไม่อยากประมูลก็ต้องประมูล 'หากไม่สู้ก็ต้องตาย !'  เมื่อ กสทช. มีการเปิดประมูลเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง 5G ผู้ประกอบการก็ต้องร่วมประมูล แม้ว่าเทคโนโลยีเดิมยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน    

แม้ในระยะสั้นอาจจะไม่เห็นผลประกอบการธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมมีผลดำเนินงานในแง่ของรายได้และกำไรเติบโตยังไม่มาก เนื่องจากเอกชน (โอปอเรเตอร์) จะต้องลงทุนก่อน แต่ตามธรรมชาติของคนเมื่อมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาทุกคนก็ต้องอยากลองอยากใช้เป็นเรื่องธรรมดา และนั่นคงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทุกโอปอเรเตอร์จะต้องร่วมประมูลเครือข่าย 5G เพื่อเป็นการรักษาฐานลูกค้าเดิมของตัวเอง และเพิ่มฐานลูกค้ารายใหม่ๆ เข้ามา   

ท้ายสุด 'ดร.นิเวศน์' ฝากไว้ว่า ส่วนตัวยังไม่สนใจหุ้นกลุ่มสื่อสารเท่าไหร่นัก แต่หากนักลงทุนคนไหนสนใจก็เลือกดูพื้นฐานของแต่ละบริษัทดู เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนสูง แต่รายได้ไม่เพิ่มมาก แต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลงทุนเนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หากใครไม่ลงทุนก็ตาย ! 

โบรกฯ ยก ADVANC เด่นสุด 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) บอกว่า การยื่นซองประมูล 5G มีผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้งหมด 5 ราย ADVANC-DTAC-TRUE-TOT-CAT มากันครบ ซึ่ง กสทช. เตรียมประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติวันที่ 12 ก.พ. 2563 ก่อนเปิดประมูลวันที่ 16 ก.พ. นี้  โดยความเห็นล่าสุดของกสทช. บ่งชี้ความสนใจในคลื่น 700 MHz และคลื่น 2600 MHz และคาดรัฐได้รายได้รวม 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับประมาณการ 

ขณะที่ บนสมมติฐานเบื้องต้น ให้ ADVANC ต้องลงทุน 3.2 หมื่นล้านบาท TRUE 1.8 หมื่นล้านบาท และ DTAC 1.5 หมื่นล้านบาทอย่างไรก็ตาม ประเมินราคาหุ้นในกลุ่มดังกล่าวปรับตัวมารับความเสี่ยงการประมูลไปมากแล้ว โดยเลือก 'หุ้น ADVANC' เด่นสุดของกลุ่ม อิงสมมติฐานลงทุนประมูล 3.2 หมื่นล้านบาท   

ทั้งนี้ ประเมินคลื่นที่เปิดประมูลทั้ง 4 คลื่น โดยวิเคราะห์ว่าคลื่นไหนจะได้รับความสนใจมากสุด และคลื่นไหนอาจจะไม่ได้รับความสนใจเลย 

ดังนี้ 'คลื่น 2600 MHz' เป็นคลื่นที่เหมาะสำหรับทำ 5G คือ คลื่น High band เช่น 2600 MHz และ 3500 MHz ดังนั้น highlight ของการประมูลคลื่นรอบนี้จึงอยู่ที่คลื่น 2600 MHz ซึ่งเปิดประมูลทั้งหมด 19 ใบ รวมปริมาณทั้งหมด 190 MHz โดยผู้เล่นหนึ่งรายมีสิทธิประมูลได้สูงสุดไม่เกิน 10 ใบ หรือ 100 MHz

'คลื่น 700MHz' ผู้ประกอบการทุกราย (ADVANC , DTAC , TRUE) มีคลื่นแล้วในมือคนละ 10MHz หลังเพิ่งรับคลื่น 700 MHz ในช่วงกลางปี 2562 เพื่อแลกกับการได้ยืดจ่ายหนี้ 900 MHz ที่ครบกำหนดปี 2563 เป็นสิ้นสุดปี 2568 โดยคลื่นมีอายุใช้งาน 15 ปี เริ่มใช้งานในเดือนต.ค. 2563 ปัญหารบกวนจากสัญญาณไมโครโฟนที่ยังแก้ไขไม่ได้โดยปัญหาดังกล่าว อาจทำให้ กสทช. อาจเลื่อนการใช้งานออกไปอีก 2-3 เดือน ดังนั้นโอกาสต่ำที่ operators จะเข้าประมูลคลื่น 700 MHz เพิ่มอีกในรอบนี้ เนื่องจากมีอยู่แล้วและคลื่นยังติดปัญหาพอสมควร

นอกจากนี้การประมูลคลื่นรอบนี้ไม่มี Incentive การได้ยืดเทอมการจ่ายเงินคลื่นอื่นๆให้แล้ว แต่ราคาตั้งต้นเท่าเดิม ใครได้ไปถือว่าเสียเปรียบอย่างไรก็ดี CAT และ TOT อาจมีโอกาสเลือกเอาคลื่น 700 MHz โดยเฉพาะ CAT เพราะมีโครงสร้างคล้ายคลื่น 850 Mz ที่ให้ TRUE เช่าใช้งานภายใต้สัญญา Wholesale-resale agreement อยู่ ซึ่งจะหมดอายุในปี 2568 นอกจากนี้ CAT และ TOT เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านโทรคมนาคมของประเทศ ดังนั้นการมีคลื่นสั้นเพื่อให้บริการในพื้นที่ห่างไกลเป็นสิ่งจำเป็น  

'คลื่น 1800 MHz' ส่วนนี้เป็นส่วนที่เหลือมาจากการประมูลรอบก่อนๆ ซึ่ง ADVANC, DTAC, และ TRUE เลือกไม่ประมูล เนื่องจากราคาตั้งต้นยังสูงเหมือนในอดีตและคลื่น 1800 MHz ไม่เหมาะที่จะทำ 5G และหากพิจารณาว่าขนาดรอบการลงทุน 4G operators ยังไม่ยอมประมูลที่ราคาตั้งต้นสูงขนาดนี้ ทำให้มีโอกาสต่ำมากๆ ที่จะมีรายใดเข้าประมูลในรอบนี้  

'คลื่น 26GHz' เป็นคลื่นที่ใหม่ต่อตลาด เนื่องจาก operators ยังไม่เคยมีประสบการในการใช้งานคลื่นที่มีความถี่สูงถึงย่านนี้ทาให้มีข้อจำกัดในการตัดสินใจ สำหรับบริการในอนาคต คลื่น 26GHz อาจมีความจำเป็นสาหรับบริการที่ต้องการความรวดเร็วสูงและ latency ต่ำมาก แต่จะไม่ใช่ระดับ mass scale อย่างไรก็ดีราคาคลื่นที่ถูก ทำให้ operators อาจประมูลบ้างเพื่อต้องใช้งานในอนาคตให้ได้มาตรฐาน 5G โลก หรือเพื่อไว้สำหรับบริการดังกล่าวในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ยังมี 3500 MHz รออยู่ แต่ราคาจะแรงกว่ารอบนี้ !