โพล เผย ปชช. 74.27% รู้ 'มาฆบูชา' วันพระพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรก

โพล เผย ปชช. 74.27% รู้ 'มาฆบูชา' วันพระพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรก

วธ.เผยโพล "มาฆบูชา" ปชช.ร้อยละ 74.27 รู้ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" ครั้งแรก ปชช.สนใจ ทำบุญ ทำทาน ลด ละ เลิก อบายมุข แนะ ผู้ปกครอง-ครูอาจารย์ เป็นแบบอย่างให้เด็กและเยาวชนเข้าวัดมากขึ้น

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่ากระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชน หัวข้อ “มาฆบูชา” สำคัญอย่างไร จากกลุ่มตัวอย่าง 5,551 คนทั่วประเทศ ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 74.27 มาฆบูชา ซึ่งปีนี้ตรงกับ 8 กุมภาพันธ์ 2563 มีความสำคัญ คือ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรกในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ หรือเดือน 3 ร้อยละ 62.40 มีการเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ และร้อยละ 62.27 มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกัน โดยมิได้นัดหมาย

สำหรับกิจกรรมที่จะทำในสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ประจำปี 2563 ร้อยละ 53.48 บอกว่า ทำบุญ ทำทาน รองลงมา ร้อยละ 53 ตักบาตร ร้อยละ 45.57 ลด ละ เลิก อบายมุข ร้อยละ 42.96 เวียนเทียน ร้อยละ 38.65 ชวนเพื่อน/คนในครอบครัว ไปวัด ร้อยละ 37.28 ฟังพระธรรมเทศนา ร้อยละ 29.70 รักษาศีล 5 ศีล 8 ร้อยละ 28.76 ถวายสังฆทาน ร้อยละ 26.46 เข้าวัดปฏิบัติธรรม และร้อยละ 22.41 ปล่อยนก/ปลา/สัตว์

นอกจากนี้ จากการสอบถามความเห็นว่า หลักธรรมที่ควรยึดถือปฏิบัติและนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ในช่วงวันมาฆบูชา ร้อยละ 67.59 บอกว่า ศีล 5 คือ 1. เว้นจากการฆ่าสัตว์ 2. เว้นจากการลักทรัพย์ 3. เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย 4. เว้นจากการพูดเท็จ คำหยาบ หรือพูดส่อเสียด 25. เว้นจากการดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ร้อยละ 46.16 โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตให้ผ่องใส ร้อยละ 36.10 อริยสัจ 4 ประกอบด้วย 1. ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ 2. สมุทัย สาเหตุแห่งทุกข์นั้น 3.นิโรธ ความไม่มีทุกข์ และ 4.มรรค หนทางแห่งการดับทุกข์ ร้อยละ 34.14 พรหมวิหาร 4 ประกอบด้วย 1. เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดี อยากให้เขามีความสุข 2. กรุณา ความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์ 3. มุทิตา ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข 4. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง ร้อยละ 33.54 อิทธิบาท 4 ได้แก่ 1. ฉันทะ คือ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น 2. วิริยะ คือ ความพากเพียรในสิ่งนั้น 3. จิตตะ คือ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น 4. วิมังสา คือ ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า ปัญหาเร่งด่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่ต้องแก้ไข ได้แก่ 1. พุทธพาณิชย์หรือการใช้ความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนาพุทธ มาทำให้เกิดรายได้ให้กับตนเอง 2. ปัญหาการประพฤติผิดพระธรรมวินัยของพระภิกษุ สามเณร นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า วิธีการที่จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ เข้าวัดมากขึ้น ได้แก่ 1. พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก และเยาวชนได้ใกล้ชิดกับพุทธศาสนา โดยการส่งเสริมให้ครอบครัวร่วมทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กิจกรรมทำบุญตักบาตร กิจกรรมเวียนเทียน 2. พระสงฆ์ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการเทศน์ การเล่าเรื่องสนทนาธรรมให้มีความน่าสนใจ เข้าใจง่าย หรือนำเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาสอดแทรกหลักธรรมคำสอน 3. โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันทางการศึกษา ควรส่งเสริมการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาร่วมกับวัด เช่น กิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรม การสวดมนต์ และนั่งสมาธิ เป็นต้น 4. รณรงค์ส่งเสริม ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยใช้ศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง เป็นแบบอย่าง รวมถึงการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้มีความน่าสนใจ เข้ากับยุคปัจจุบัน และ 5. จัดกิจกรรมส่งเสริมให้เด็ก และเยาวชน มีจิตสาธารณประโยชน์ เช่น ร่วมกันทำความสะอาด เก็บกวาดเช็ดถู ทาสี ซ่อมแซมบริเวณวัด และการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้านต่างๆ

ทั้งนี้ เมื่อถามว่าในฐานะที่ท่านเป็นพุทธศาสนิกชน ท่านคิดว่าจะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมพระพุทธศาสนา คือ 1. เชิญชวนบุคคลใกล้ชิด ครอบครัว เพื่อน ญาติ และคนรู้จัก เข้าวัดปฏิบัติธรรม 2. รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ผ่าน Social ต่างๆ อาทิ Facebook Instagram Line ในการแนะนำ เชิญชวน และแชร์กิจกรรมต่างๆ ที่มีส่วนช่วยในการส่งเสริมพระพุทธศาสนา 3. นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แนะนำสอนบุตรหลาน ให้มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพุทธศาสนา ความเป็นมา และส่งเสริมให้มีการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับศาสนาพุทธที่มีการจัดขึ้นในแต่ละโอกาสอย่างสม่ำเสมอ และ 4. ส่งเสริมให้เยาวชนหันหน้าเข้าวัด ปฏิบัติธรรมให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า กิจกรรม/ประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่ควรสืบสานและฟื้นฟู ได้แก่ 1. การส่งเสริมการเข้าวัดทำบุญตักบาตรในกลุ่มวัยรุ่น 2. ส่งเสริมการปฏิบัติตนตามหลักพระพุทธศาสนา เช่น การสวดมนต์ การถือศีล การนั่งสมาธิ การศึกษาหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดความตระหนัก และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ 3. ประเพณีถวายสลากภัต เพราะเป็นวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ซึ่งเริ่มจะหายจากสังคมปัจจุบัน และ 4. กิจกรรมการประกวดสวดมนต์ การประกวดบรรยายธรรม และการแข่งขันตอบปัญหาธรรมะ เพราะเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ สอดแทรกความรู้ สาระที่เป็นประโยชน์