'ชวน' ปล่อยสภาชี้ขาดถอดถอน 'เสรีพิศุทธ์'

'ชวน' ปล่อยสภาชี้ขาดถอดถอน 'เสรีพิศุทธ์'

"ชวน" เรียก "ไพบูลย์-เสรีพิศุทธ์" เคลียร์ปัญหาในกรรมาธิการฯ แต่หากไร้ทางออก ปล่อยให้สภาตัดสิน

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 63 ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฏร แถลงว่า สำหรับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้กำหนดให้เป็นการประชุมนัดพิเศษ โดยเริ่มในวันที่ 24 ก.พ. เวลา 13.30 น. และเบื้องต้นกำหนดให้อภิปรายถึงวันที่ 26 ก.พ. แต่ถ้าอภิปรายไม่จบสามารถขยายได้อีก 1 วันถึงวันที่ 27 ก.พ. แต่จะเกินวันที่ 27 ก.พ.ไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 วรรค 3 ห้ามไม่ให้ลงมติวันเดียวกับวันอภิปราย ดังนั้น ต้องลงมติวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมนี้พอดี

นพ.สุกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาความขัดแย้งภายในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฏร ขณะนี้ได้มีผู้ยื่นเรื่องมาให้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ พิจารณาใน 2 กรณี ได้แก่ 1.การเสนอญัตติด่วนขอให้สภาฯ มีมติให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย พ้นจากการเป็นกรรมาธิการฯ ตามข้อบังคับการประชุม ส.ส.และกรรมาธิการฯ ข้อที่ 108(5) ว่าด้วยเรื่องกรรมาธิการฯ พ้นตำแหน่งเมื่อสภาฯ ให้มีมติพ้นตำแหน่ง โดยกล่าวหาว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ล่วงละเมิดพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการถวายสัตย์

นพ.สุกิจ กล่าวว่า ในเรื่องนี้เจ้าหน้าที่สภาฯ ได้เสนอความเห็นมายังประธานสภาฯ ว่าควรดำเนินการอย่างประนีประนอมโดยเรียกผู้เสนอญัตติมาพูดคุย ดังนั้น ประธานสภาฯ ได้เชิญ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการฯ ผู้เสนอญัตติมาพูดคุย และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ขอเข้าพบนายชวน แต่ปรากฏว่า นายไพบูลย์ ยืนยันไม่ถอนญัตติ จึงจำเป็นต้องเสนอเข้าวาระการประชุม แต่สภาฯ พิจารณาแล้วว่าไม่เข้าเกณฑ์ญัตติด่วนจึงบรรจุเป็นญัตติธรรมดาแทน ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 113

นพ.สุกิจ กล่าวด้วยว่า 2.เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการฯ ได้ยื่นหนังสือต่อประธานสภาฯ เพื่อสอบจริยธรรมการเลือกรับหนังสือร้องเรียนและพูดจาหยาบคายของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ซึ่งขอเรียนว่าต้องส่งให้คณะกรรมการจริยธรรมเป็นผู้พิจารณา ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ตั้ง เนื่องจากข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม ส.ส. และ กมธ. กำลังรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากมีการประกาศแล้วจึงจะตั้งคณะกรรมการจริยธรรม โดยมีประธานสภาฯ เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว และจะได้สอบสวนวินิจฉัยต่อไป

เมื่อถามว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2563 แล้ว จะมีการเรียกประชุมหรือไม่ อย่างไร นพ.สุกิจ กล่าวว่า ต้องรอศาลก่อนว่าจะวินิจฉัยเป็นอย่างไร และรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร ขอความร่วมมืออะไรมาก็คงต้องทำ