ยุติ “เอดส์” ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา ค้นหา รักษา ป้องกันแพร่ระบาด

ยุติ “เอดส์” ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา  ค้นหา รักษา ป้องกันแพร่ระบาด

กรมควบคุมโรค ระบุ ปี 2561 ไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ยังมีชีวิตราว 4.8 แสนราย อยู่ระหว่างรับยาต้านไวรัส 358,606 ราย เสียชีวิต 1.8 หมื่นราย ติดเชื้อรายใหม่ 6,400 ราย กทม. เป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด แต่การบริการดูแลยังไม่ครอบคลุม

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ กรุงเทพมหานคร ได้จัด โครงการ “เครือข่ายยุติเอดส์ในกรุงเทพมหานคร” (Network to Ending AIDS in Bangkok: NEAB) ตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ .2560 – 2573 โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ “ไม่ติด - ไม่ตาย - ไม่ตีตรา” ด้วยวิธีการ 1. ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เหลือไม่เกิน 1,000 รายต่อปี 2. ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี เหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และ 3. ลดการเลือกปฏิบัติ อันเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะ

ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก โครงการ President’s Emergency Plan for AIDS Relife (PEPFAR) ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำงานร่วมกับ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2544 พร้อมด้วย เครือข่าย 8 โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข 37 แห่งของสำนักอนามัย ปี 2560 – 2652 ที่ผ่านมา มีการขับเคลื่อนเน้นจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่สูง 13 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร

ล่าสุด ในปี 2563  มีการขยายโรงพยาบาลเครือข่ายเพิ่มขึ้น 9 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลภาครัฐขนาดใหญ่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากกำลังรับการรักษาอยู่ มุ่งสู่เป้าหมาย “เสี่ยงแล้วไม่ติด ติดแล้วกินยา กินยาอย่างสม่ำเสมอ”

เพื่อให้คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่ติดเชื้อ สามารถเข้าถึงบริการ วินิจฉัย ป้องกัน รักษาที่มีคุณภาพ รวมถึงมีเครือข่ายสถานพยาบาลที่ร่วมมือกันมุ่งสู่เป้าหมายยุติปัญหาเอดส์ มีสถานพยาบาลต้นแบบที่เป็นที่ผลิตบุคลากร สำหรับศึกษาดูงานได้ และมีข้อมูลที่ถูกต้องในการประเมินสถานการณ์นำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์

แพทย์หญิงสุภาพร กรลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กล่าวในงานแถลงข่าว เดินหน้ายุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทย ว่ากรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าเป็นเมืองที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากเอชไอวี และไม่มีการตีตรา รวมถึงเพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาว ภายในปี 2573 ในส่วนของศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ปัจจุบันได้มีการจัดบริการยาต้านไวรัส ทั้งก่อนและหลัง ให้ผู้รับบริการที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี แต่มีความเสี่ยงสูง ในศูนย์บริการสาธารณสุข 37 แห่ง กระจายทั่วกรุงเทพมหานคร และในปีนี้ จะมีการพัฒนาคุณภาพข้อมูลของสถานพยาบาลให้มีการครอบคลุมมากขึ้นเพื่อนำมาใช้ในการยุติเอดส์ต่อไป

  • ตั้งเป้า 95 – 95 - 95

ด้าน นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่เป้าหมายยุติปัญหาเอดส์ โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ผลักดันนโยบาย เช่น การสนับสนุนงบประมาณ เวชภัณฑ์ ยา และการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เพียงพอ ให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม พร้อมสนับสนุนให้มีกองทุนสุขภาพให้สิทธิประโยชน์ในการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และยาต้านไวรัส เพื่อการรักษาฟรี

158101417592

เริ่มด้วยการให้ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP) ฟรี ร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัย ในประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยง รวมทั้งเร่งหาแนวทางให้กับคนที่ไร้สิทธิ และลดช่องว่างของแต่ละสิทธิ์ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการป้องกันและดูแลรักษาอย่างครอบคลุม พร้อมจัดบริการและระบบส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในภาครัฐ เอกชน องค์กรภาคประชาสังคม ทุกสิทธิ

 “เป้าหมายของการรักษา เริ่มตั้งแต่การค้นหา การรักษาต่อเนื่อง และการป้องกันไม่ให้แพร่ระบาด ซึ่งเป้าหมายปี 2573 เราจะเรียกว่า 95 – 95 -95 คือ คนที่ติดเชื้อต้องรู้สถานะการติดเชื้อ 95% คนรู้แล้วต้องได้รับการรักษา 95% และคนได้รับยาแล้วต้องได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ 95%”

  • เชื้อจะเหลือศูนย์ก็ต้องป้องกัน

ทั้งนี้ จากกรณีที่มีการถกเถียงในโลฃกออนไลน์อยู่ในขณะนี้นั้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่าหากยังไม่รู้สถานะโรค คนที่มีความเสี่ยงทั้งหลายต้องรีบมาตรวจ ตอนนี้ก็มีบริการตรวจฟรีตามคลินิกนิรนาม ถ้าตรวจเจอแล้ว กระบวนการรักษาเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องทำให้เชื้อในร่างกายลดลงมาก แต่หากทานยาไม่สม่ำเสมออาจจะทำให้เชื้อกลับขึ้นมาได้ ต้องติดตามอยู่ตลอด แต่สิ่งที่สำคัญ คือ เรื่องการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ถ้าติดเชื้อแล้วให้มารักษาเพื่อไม่ให้แพร่ต่อ

สำหรับคนที่ทานยาจนเชื้อไม่มีแล้ว ยังถือว่ามีความเสี่ยง แต่อาจจะน้อยลง ดังนั้น ยังจำเป็นต้องป้องกัน ขณะที่กลุ่มที่เชื้อ แพร่กระจายให้คนอื่นได้ ถึงแม้จะมีการตรวจหาว่ามีเชื้อมากน้อยเท่าไหร่ หรือทานยาแล้วเชื้อลดลงไปมาก ต้องอาศัยการตรวจเช็กเป็นระยะ แต่ในบางรายที่เชื้อลดเป็นศูนย์ อาจจะความเสี่ยงน้อย แต่ต้องป้องกัน ด้วยวิธี 1. ใช้ถุงยางอนามัย 2. คนที่ไม่ได้เป็นให้กินยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP) ทั้งสองอย่างต้องควบคู่กัน 3. ตระหนักและป้องกันตัวโรคอื่นๆ

158101417681

“คนที่ติดเชื้อเอชไอวี อาจมีโรคอื่นร่วมด้วย หากยังไม่รักษา อาจเกิดการแพร่ระบาด เช่น ซิฟิลิส หนองในทั้งหลาย ตับอักเสบ B หรือ C ดังนั้น ต้องมีการป้องกัน เพราะหากรู้สถานะเอชไอวี แต่ไม่รู้สถานะโรคอื่นก็มีความเสี่ยงในการติดต่อ”

  • รับข่าวสารที่เชื่อถือได้

นายแพทย์ปรีชา กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้มีเครือข่ายทั้งภาคประชาชน และกลุ่มเสี่ยงโดยตรง มีแกนนำแต่ละกลุ่มที่จะให้ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขเอง มีเครือข่ายในการให้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสามารถสอบถามได้ทุกที่ เช่น คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย โรงพยาบาล กลุ่มภาคเอกชน ภาคประชาชน เช่น กลุ่มชายรักชาย ที่ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผ่านการรับรองว่าสามารถให้ความรู้ได้ และหากไม่แน่ใจว่าข้อมูลตามโซเชียลมีเดียเชื่อถือได้หรือไม่ ให้โทรมาที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 ก่อน ตลอด 24 ชั่วโมง