พาณิชย์ติวเข้มผู้ประกอบการให้ความรู้การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง

พาณิชย์ติวเข้มผู้ประกอบการให้ความรู้การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง

กรมการค้าต่างประเทศติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองสร้างแต้มต่อทางการค้า  

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ มีกำหนดจัดสัมมนา เรื่อง “เพิ่มขีดความสามารถการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-Certification)”ในวันที่ 20 ก.พ. 2563 ที่ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ แอนด์ สวีท ระยอง ซิตี้ เซ็นเตอร์ จังหวัดระยอง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ตัวแทนส่งออก-นำเข้าสินค้า และผู้สนใจทั่วไปในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อให้ทราบถึงขั้นตอนการขึ้นทะเบียนและการใช้ประโยชน์จากการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองในการส่งออกไปอาเซียนและสวิส/ นอร์เวย์ หลักเกณฑ์การผลิตเพื่อให้ได้ถิ่นกำเนิดสินค้าไทย การตรวจพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้าย้อนหลัง และการใช้นวัตกรรมดิจิทัลในการทำการค้า รวมทั้ง กรมฯ ได้เปิดคลินิกเพื่อให้คำปรึกษาและตอบข้อสงสัยให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาด้วย

นายกีรติ  กล่าวว่า  การสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญของกรมฯ มาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการขึ้นทะเบียนและการส่งออกภายใต้ระบบSelf-Certificationไปอาเซียนและสวิส/นอร์เวย์ (REX System)โดยเฉพาะระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN Wide-Self-Certification)ที่จะมีการรวมโครงการนำร่องที่ 1 และโครงการนำร่องที่ 2 เข้าด้วยกันในเดือนมี.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ แนวทางการรับรองตนเองจากเดิม  นอกจากนี้ กรมฯ จะให้ความรู้เพิ่มเติมด้านการใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางการค้า ได้แก่ การคำนวณต้นทุนถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรกับประเทศปลายทาง การตรวจสอบย้อนหลังเพื่อพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้า รวมถึงการให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมฯ เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ”

  

นายกีรติ  กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าบริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือe-Form Dภายใต้ASEAN Single Window (ASW)อย่างเต็มรูปแบบ โดยล่าสุด กรมฯ สามารถเชื่อมโยงe-Form Dกับประเทศสมาชิกอาเซียนครบ 10 ประเทศแล้ว หลังจากผลักดันฟิลิปปินส์เชื่อมโยงสำเร็จเป็นประเทศสุดท้าย โดยได้เริ่มให้บริการพร้อมกับประเทศเมียนมา และ สปป. ลาว ตั้งแต่วันที่ 20ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการในประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ สามารถใช้e-Form Dประกอบการดำเนินพิธีการทางศุลกากรเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีลดหย่อน ยกเว้นภาษีนำเข้า ณ ประเทศอาเซียนปลายทาง แทนการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าForm Dที่เป็นกระดาษ ทั้งนี้ กรณีระบบมีปัญหา ผู้ส่งออกยังสามารถมาขอForm Dแบบกระดาษเพื่อใช้สิทธิฯ ได้

ทั้งนี้การเชื่อมระบบe-Form Dกับอาเซียนครบ 10 ประเทศ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเจรจากับประเทศคู่ค้าภายใต้กรอบFTAอื่นๆ โดยเฉพาะกรอบความตกลงอาเซียนและประเทศคู่เจรจา (ASEANPlus)ที่ประเทศอาเซียนมีความตกลงกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น จีน เกาหลีใต้และอินเดีย เพื่อขยายการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ประสบผลสำเร็จได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสามารถต่อยอดจากกรอบอาเซียนได้

“ถือว่ากรมฯ บรรลุผลสำเร็จขั้นแรกจากความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการให้บริการให้เป็นแบบไร้กระดาษ(paperless)ซึ่งกรมฯ มั่นใจช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า เนื่องจากช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ เพิ่มความโปร่งใส รวมทั้งเป็นการยกระดับงานบริการของกรมฯ ให้ตอบสนองความต้องการต่อรูปแบบการค้าของภาคเอกชนในปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้นด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ช่วยเอื้อให้การค้าขายภายในอาเซียนมีความคล่องตัว และเพิ่มมูลค่าการค้าขายในอาเซียนได้อย่างแน่นอน”นายกีรติกล่าว