‘ซีอาร์ซี’ เคาะราคา 42 บาท ท่ามกลางปัจจัยลบกลุ่มค้าปลีก

 ‘ซีอาร์ซี’ เคาะราคา 42 บาท ท่ามกลางปัจจัยลบกลุ่มค้าปลีก

วันที่ 20 ก.พ. 2563 ตลาดหุ้นไทยมีหุ้นไอพีโอน้องใหม่ไซต์ใหญ่ในกลุ่มค้าปลีก ตบเท้าเข้าจดทะเบียนเป็นวันแรก กับ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ที่เคาะราคา 42 บาท ด้วยจำนวนหุ้น 1,860.1 ล้านหุ้น 

    ของกลุ่มทุนใหญ่ระดับเจ้าสัว ‘จิราธิวัฒน์’ ที่นำหัวหอกธุรกิจค้าปลีกในกลุ่มเข้ามาจดทะเบียนทางอ้อมผ่าน บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) หรือ ROBINS

    โดยมีการจับตามองว่าการขยับตัวในครั้งนี้ของ ซีอาร์ซี มีอะไรมากกว่าแค่การนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น เพราะในช่วงปลายปี 2562 ข่าวคราวการประกาศประมูลขายสินทรัพย์ในไทยและมาเลเซีย ของไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในไทย ‘เทสโก้ โลตัส ‘ จนทำให้วงการค้าปลีกเดือดระอุส่งท้ายปี เพราะแค่สินทรัพย์ในไทยที่ตั้งมูลค่าประมูล สูงถึง 2.7 แสนล้านบาท

     ด้วยทุนใหญ่ระดับเจ้าสัวต่างแสดงความสนใจเข้าร่วมประมูล ซึ่งไล่ดูแล้ว มีทั้งที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ของ กลุ่มสิริวัฒนภักดี ระบุชัดเจนต้องการเข้าร่วมประมูลเพื่อนำมาต่อยอดกับธุรกิจค้าปลีกที่มีอยู่ในมือ อย่าง บิ๊กซี

     ถัดมาคือ กลุ่ม ‘เจียรวนนท์‘ เจ้าของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ที่ยังไม่ยืนยันอย่างเป็นทางการว่าสนใจเข้าร่วมประมูล แต่มีการโยงไปถึงคำพูดของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ในฐานะผู้ก่อตั้ง ‘โลตัส‘ ตั้งแต่แรกเริ่มในไทย ก่อนที่จะจำใจตัดขายให้ทุนต่างชาติในช่วงเกิดวิกฤติการเงิน 2540 ว่าเสียดายและหากเป็นไปได้อยากให้กลับมาอยู่ในกลุ่ม

     ส่วนกลุ่มเซ็นทรัล ที่เน้นขยายศูนย์การค้าตามหัวเมืองใหญ่ แหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงตลาดในต่างประเทศ แต่ยังไม่มีธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตไว้ในมือ ซึ่งธุรกิจที่ใกล้เคียงคือ ท๊อปซุปเปอร์มาร์เก็ต และ แฟมิลี่มาร์ท เท่านั้น รวมทั้งที่ผ่านมามีการแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตจากการเข้าไปร่วมประมูลซื้อ บิ๊กซี ในไทยแข่งกับกลุ่ม BJC แต่สู้ราคาไม่ไหวทำให้ต้องขายหุ้นบิ๊กซี ที่ถืออยู่ และนำเงินไปซื้อบิ๊กซี ที่เวียดนามแทน

     ทั้งนี้เมื่อดูจากพอร์ตของ ซีอาร์ซี ถือว่าใหญ่ทั้งในอาเซียน และยุโรป ช่วง 9 เดือนปี 2562 ที่ผ่านมามีรายได้รวม 159,506 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1%จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผ่าน 3 ธุรกิจหลัก คือ1.กลุ่มอาหาร มีสัดส่วนในรายได้รวม 42 .4%  เช่น Tops, Family Mart, บิ๊กซี/Go! ในเวียดนาม 2.กลุ่มแฟชั่น (Fashion) มีสัดส่วนรายได้ 32.4%  ได้แก่ ห้างเซ็นทรัล, โรบินสัน, Supersports, CMG (นำเข้าสินค้าแฟชั่น), ห้างลา รีนาเชนเต้ ในอิตาลี 

     โดยที่ตลาดยุโรปล่าสุดยัง ร่วมทุนกับ“ซิกน่า” เข้าซื้อกิจการ โกลบัส เชนห้าง สรรพสินค้าหรูในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งหมด 8 แห่ง ห้างสรรพสินค้ารีนาเชนเตอีก 9 แห่ง ในอิตาลี และห้างสรรพสินค้าอิลลุม ในเดนมาร์ก ครอบคลุมทวีปยุโรปรวม 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเยอรมนี, ออสเตรีย, อิตาลี, เดนมาร์ก และสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 30,000ล้านบาท ส่งผลทำให้ปีนี้จะมีรายได้จากตลาดยุโรป แตะ 2,000 ล้านยูโร

    ปิดท้ายที่ 3. กลุ่มสินค้าเฉพาะ (Hardline) เช่น ไทวัสดุ, Power Buy, Nguyen Kim (ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เวียดนาม)มีสัดส่วนในรายได้รวม 25.2% และหากแบ่งตามประเทศ ส่วนใหญ่ยังมาจากไทยเกือบ 75% รองลงมาเป็นเวียดนามประมาณ 18% ส่วนที่เหลือราว 7% เป็นรายได้จากอิตาลี ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,860 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 23.83% 

     อย่างไรก็ตามการประกาศราคาหุ้นไอพีโอของ CRC ที่ 42 บาทต่อหุ้น จากช่วงราคา 40-43 บาท ถือว่าเป็นการยอมลดค่าพรีเมี่ยมลงมาไม่น้อย เพราะจากเดิมกรอบราคาเคยอยู่ที่ 40 -48 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) จะอยู่ที่ 33 เท่า

     เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มค้าปลีกระดับใกล้เคียงกัน P/E กลุ่มจะอยู่ที่ 30-32 เท่า แต่ด้วยปัจจุบันภาวะตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลง ผลกระทบจากไวรัสโคโรนาทำการท่องเที่ยวชะงัก ประชาชนระมัดระวังการใช้ชีวิตตามที่ชุมชน ทำให้แนวโน้มผลการดำเนินงานกลุ่มค้าปลีกจะได้รับผลกระทบข้ามปีมาถึงไตรมาส 1 ปี 2563 ไปด้วย

    การเข้าตลาดหุ้นของ CRC ในช่วงนี้ ที่ยอมลดกรอบราคาลงมา ทำให้ P/E ใกล้เคียงกับกลุ่มค้าปลีกที่ปรับลดลงเช่นกันมาอยู่ที่ 25-30 เท่า บวกกับมีหุ้นกรีนชูรองรับอีก 169 ล้านหุ้น การเข้าสู่ SET 50 ทันทีตามมูลค่ามาร์เก็ตแคปน่าจะเกิน 2 แสนล้านบาท การเข้ารุกตลาดในยุโรป และโอกาสการเข้าซื้อกิจการอย่าง ‘เทสโก้โลตัส’ ทำให้หุ้น CRC ฝ่าปัจจัยลบในช่วงนี้ไปได้ไม่ยาก