‘โออิชิ’พลิกโมเดลสู้ดิสรัป ปั้น‘สมาร์ทสโตร์’เขย่าฟู้ดเชน

‘โออิชิ’พลิกโมเดลสู้ดิสรัป ปั้น‘สมาร์ทสโตร์’เขย่าฟู้ดเชน

สถานการณ์ธุรกิจขณะนี้เผชิญ “ปัจจัยเสี่ยง” ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้รุมเร้าอย่างหนักรอบด้าน ทั้งวิกฤติฝุ่นละอองและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ขณะที่ คลื่น “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” ยังคงทำหน้าที่กดดันการขับเคลื่อนธุรกิจ

คลื่นดิสรัปเหล่านี้ทำให้ ธุรกิจร้านอาหาร ของ โออิชิ กรุ๊ป หนึ่งพอร์ตธุรกิจหลักภายใต้อาณาจักรเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี พลิกกลยุทธ์ครั้งใหญ่พร้อมลุกขึ้น “Re-engineering Brand’s Business Model” เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ รักษาความเป็นเจ้าตำรับอาหารญี่ปุ่น หรือ King of Japanese Food ได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำทัพธุรกิจอาหารเครือโออิชิ กล่าวว่า  ธุรกิจร้านอาหารถูกดิสรัปอย่างชัดเจนในปีที่ผ่านมา จากการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคซึ่งเป็นผลจาก “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” การเกิดขึ้นของผู้เล่น “ฟู้ด ดีลิเวอรี่” ที่ทรงอิทธิพลต่อตลาด ทำให้การแข่งขันของผู้ประกอบการร้านอาหารซึ่งอยู่ใน “เรดโอเชียน” เพิ่มดีกรีความรุนแรงยิ่งขึ้นด้วยแรงบีบจากสองทาง

หากไม่ปรับตัว เราจะเสียตลาดให้ดีลิเวอรี่ไป และถ้าไม่ปรับตัวเข้าหาดิจิทัลก็จะลำบาก แต่ละแบรนด์ยังมีศักยภาพขยายตลาดได้อีกมาก เชื่อว่าแบรนด์ไม่มีทางตาย! ถ้าดูแลและพัฒนาตลอดเวลา ส่วนคนที่อยู่ไม่ได้ เพราะไม่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เสมือนหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง เมื่อดิจิทัลดิสรัปธุรกิจ ฉะนั้น เทคโนโลยีและดิจิทัล  จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง! ของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นโออิชิ ผ่าน 4 กลยุทธ์หลัก เริ่มจาก “Growth Engine” ด้วยเกมรุกทางการตลาด การขยายสาขาเพื่อเข้าถึงและขยายฐานลูกค้าทั้งออฟไลน์ และพัฒนาช่องทางการสั่งซื้อออนไลน์ เพิ่มเติมจากการสั่งซื้อผ่านโทร.1773 ผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง ได้แก่ โออิชิดีลิเวอรี่ดอทคอม การร่วมกับผู้ให้บริการสั่งอาหารแบบออนดีมานด์บนแอพพลิเคชัน อาทิ  แกร็บฟู้ด ไลน์แมน และ ฟู้ดแพนด้า กลยุทธ์ที่สอง “Re-engineering Brand’s Business Model” ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นโออิชิ ให้มีความทันสมัยตามเทรนด์ของตลาด มุ่งนำเสนอโมเดลธุรกิจใหม่ 

โออิชิกำลังพัฒนา สมาร์ท เรสเตอร์รองส์ หรือ สมาร์ทสโตร์! เริ่มสาขา สยามเซ็นเตอร์ เป็นต้นแบบ ซึ่งระบบเทคโนโลยีไอทีไม่ได้นำมาใช้แค่รับออเดอร์จากลูกค้าอย่างที่เห็นกันทั่วไป แต่จะมีมากกว่านั้น!

ก่อนหน้านี้ ได้มีการสร้างโมเดลใหม่ให้ ชาบูชิ ที่เรียกว่า ไฮบริด เปิดบริการ 24 ชั่วโมง รองรับวิถีคนเมือง และสังคมคนนอนดึก ที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือการสร้างตลาดใหม่ ในขณะที่ธุรกิจอื่นปิดบริการ แต่เรายังทำธุรกิจอยู่ คือแต้มต่อ!! 

กลยุทธ์ที่สาม “Reinvented Customers Experience” สร้างคุณค่าตราสินค้าเพื่อมอบประสบการณ์แปลกใหม่ กลยุทธ์สุดท้าย “Spin-off Brands” พัฒนาและขยายตลาดแบรนด์ใหม่ ทั้งร้านอาหารและร้านขนมหวานสไตล์ญี่ปุ่น ได้แก่ โฮว ยู (HOU YUU) ซากาเอะ (SAKAE) จับกลุ่มลูกค้าระดับบน และโอโยกิ (OYOKI) ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ

ไพศาล ย้ำว่า วันนี้หากไม่เร่งปรับตัว จะเสียตลาดให้ดีลิเวอรี่ไปอย่างแน่นอน  และการดำเนินธุรกิจจากนี้ ดีลิเวอรี่ดิสรัป จะขยายความรุนแรงมากขึ้น บนสมมุติฐานที่มีความเป็นไปได้ว่า หากคนไม่ออกมาทานข้าวนอกบ้าน และใช้บริการดีลิเวอรี่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน กระทบธุรกิจร้่านอาหารแน่ๆ

อย่างไรก็ดี ในทฤษฎีความสัมพันธ์ยังเชื่อว่าลูกค้ายังอยาก Engaged กับ คน” มากกว่า แมชชีน หรือ เอไอ”   ดังนั้น การสร้างประสบการณ์ใหม่ยังเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ นำสู่การ รีแบรนด์ ในหลายๆ ส่วน ตั้งแต่ โออิชิแกรนด์  ที่เปิดบริการแห่งเดียวที่สยามพารากอน วางคอนเซปต์ใหม่   “The Japanese Treasure” กำหนดแล้วเสร็จเดือน มิ.ย. นี้ ส่วนร้าน โออิชิ ราเมน และคาคาชิ จะสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าด้วยการรวม 2 ร้านอยู่ในที่เดียวกันเป็นทูอินวัน หรือ  มัลติเพิลคอนเซปต์ พร้อมมองหาทำเลที่สามารถให้บริการได้ 24 ชั่วโมงมากขึ้น  ประเดิมสาขาแรก เดอะสตรีท ปลายเดือน ก.พ.นี้ 

ปัจจุบันแบรนด์ในพอร์ตโออิชิ ครอบคลุมตลาดระดับกลาง ล่าง ขาดตลาดบน ที่มีศักยภาพในการขยายตลาดสร้างการเติบโตสูง จึงเริ่มเปิดเกมรุกตลาดนี้มากขึ้นผ่าน 3 แบรนด์หลักข้างต้น  ที่ได้กางพอร์ตอาหารแบบ 24 ชั่วโมง คลุมทุกมื้ออาหาร  เช้า กลางวัน เย็น ฯลฯ เพื่อหาช่องว่างและโอกาสไปพร้อมๆ กัน 

สำหรับ  โฮว ยู” เป็นแจแปนนีสพรีเมียม มีการใช้จ่ายราว 2,000-3,000 บาทต่อคน การขยายตลาดครั้งนี้ใช้ชาวญี่ปุ่นบริหาร 100% เพื่อให้เกิดมุมมองของคนญี่ปุ่นในการขับเคลื่อนธุรกิจแตกต่างจากคู่แข่ง! 

ขณะที่ ซากาเอะ เป็นการตั้งโจทย์แบรนด์ใหม่ เริ่มจาก ซากาเอะ  ชาบูชาบู  สาขาแรกเดอะพาร์ค โดยราคาเซ็ตหมู เริ่มต้นประมาณ 500 บาทต่อเซตต่อคน เนื้อวัว 900 บาทต่อเซตต่อคน และเนื้อเกรดเอ 1,400 บาทต่อเซตต่อคน  ในอนาคต ซากาเอะ สามารถแตกแขนงไปตามเซกเมนท์ของอาหารนั้นๆ

ร้านอาหารในเครือโออิชิ กรุ๊ป เน้นพัฒนาแบรนด์ของตัวเอง ถ้าเราทำได้ก็จะทำเอง บริษัทแม่ของเราแข็งแรง เอื้อต่อการขยายเป็นไปได้เร็วมาก แต่ก่อนจะขยับนำพาแต่ละแบรนด์เปิดเกมรุกจะต้องพรู๊พจนแน่ใจแล้ว" 

ภารกิจและความท้าทายในการขับเคลื่อนธุรกิจฟู้ดเชนในอนาคตของ ไพศาล ไม่ใช่แค่การสร้างผลงานแต่อยากสร้างตำนานให้ แบรนด์ญี่ปุ่นสัญชาติไทย” แข็งแรงกว่าคนญี่ปุ่นทำแบรนด์ญี่ปุ่น ด้วยการนำพา “โออิชิ มาที่ต้นกำเนิด 

“ คนญี่ปุ่นกินราเมงเป็นชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นไม่มี คือ ราเมงไทย ยกตัวอย่าง ราเมนต้มยำ ราเมนผัดกระเพรา  หรืออย่างธุรกิจ ชาบูชิ สิ่งที่ญี่ปุ่นไม่มี คือ น้ำซุปต้มยำ”

ความแตกต่าง ทันสมัย และขยายตลาดได้ตลอดเวลา  รวมทั้ง จังหวะ และโอกาส ในการใช้ความได้เปรียบจากขุมพลังและชื่อเสียงของบริษัทแม่ “ไทยเบฟ” ในแต่ละประเทศตีตลาดด้วยจุดแข็ง ของดีจากเมืองไทย เหล่านี้คือ โรดแมพที่กำลังถูกต่อยอดสานวิชั่น ไทยเบฟ เบอร์ 1 ในอาเซียน เป็นภาคต่อที่ต้องติดตาม