วช.ชูฟันเฟือง‘บีซีจีโมเดล’ ยกระดับวิจัยจาก ‘หิ้งสู่ห้าง’

วช.ชูฟันเฟือง‘บีซีจีโมเดล’ ยกระดับวิจัยจาก ‘หิ้งสู่ห้าง’

วช.ดึงจุดแข็ง “บีซีจี” ผนวกงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ยกระดับจาก “หิ้งสู่ห้าง” ตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ผ่าน 4 กลุ่มวิจัยนวัตกรรมด้านการเกษตร เทคโนโลยีการแพทย์ ระบบอัจฉริยะและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมเดินเครื่องบ่มเพาะนักวิจัยรุ่นใหม่

‘บีซีจี’ จุดแข็งของไทย

นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ “พลิกโฉมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทยด้วย BCG” ในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563” ว่า วันนี้ประเทศไทยได้ให้ทิศทางว่าต้องการเห็นงานวิจัยนำไปใช้ในด้านใดบ้าง โดยทิศทางนั้นคือ การใช้งานได้จริง และงานที่จะเกิดประโยชน์กับคนจำนวนมาก สิ่งที่เป็นจุดแข็งที่จะทำให้งานวิจัยไม่ต้อง “ขึ้นหิ้ง”คือ “งานวิจัยที่ตรงความต้องการ” ด้วยการนำโมเดลเศรษฐกิจใหม่ “บีซีจี”(Bio-Circular-Green) มาใช้ประกอบงานวิจัยและประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่อง 

อาทิ นวัตกรรมที่จะช่วยย่อยสลายทำให้ขยะลดลง ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้ทันที จากนั้นก็จะเข้าสู่กลไกการสนับสนุนของ วช.ที่จะขับเคลื่อนผ่านการร่วมกับเครือข่ายและมหาวิทยาลัย ที่จะดึงนักวิชาการที่มีประสบการณ์ในภาคธุรกิจมาบ่มเพาะและช่วยส่งเสริมต่อไป จะส่งผลต่อการแก้ปัญหาของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

158091472786

ปัจจุบันมีการใช้บีซีจีโมเดลที่เป็นรูปธรรมหลายโครงการ อาทิ การเลี้ยงปลานิลหนาแน่นระบบปิด การนำความรู้และเทคโนโลยีมาพัฒนามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองผ่านการดูแลบริหารจัดการวัตถุดิบแบบครบวงจร ทั้งพัฒนากระบวนการก่อน ระหว่าง และหลังการฉายรังสี จนได้คุณภาพดีสามารถส่งออกไปยังสหรัฐได้สำเร็จในรอบ 12 ปี เป็นผลงานการวิจัยของ วช. ที่สร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทย

ระบบเศรษฐกิจบีซีจีจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ที่เดิมจะพึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลัก แต่รายได้กลับสวนทาง ทำให้แรงงานด้านนี้ลดน้อยลง ขณะเดียวกันในอนาคตที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กลุ่มแรงงานมีแนวโน้นลดลง การเตรียมรับมือจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ” 

ทั้งนี้ รัฐบาลพยายามผลักดันเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ผ่าน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1.เกษตรและอาหาร 2.พลังงานและเคมีชีวภาพ 3.การแพทย์และสุขภาพ และ4.การท่องเที่ยว ในส่วนของวช. มีความพร้อมที่จะสนับสนุนด้านต่างๆ ในการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในปี 2563 วช. ได้กำหนดกลุ่มเรื่องผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ให้มีความสอดคล้องกับกลุ่มเรื่องของไทยแลนด์ 4.0 และบีซีจีโมเดล เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ การเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร, การสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์, การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม, และการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

‘คน’ ฐานสำคัญของการพลิกโฉม

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวของภาครัฐให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก หนทางหนึ่งที่จะเอื้อให้ภาครัฐสรรสร้างสิทธิประโยชน์และสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆที่จะตอบโจทย์ประชาชนและสามารถแก้ไขปัญหาสังคมที่ซับซ้อนได้ดีขึ้นก็คือการสร้าง “สิ่งประดิษฐ์” และ “นวัตกรรม” แต่การที่จะพลิกโฉมสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมไทยให้ก้าวทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้นั้น จำเป็นต้องลงลึกถึงรากฐาน ซึ่งนั่นก็คือ “บุคลากร” 

ทาง วช. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม เริ่มตั้งแต่ นักวิจัยรุ่นเยาว์ อาชีวศึกษา และโครงการสนับสนุนทุนส่งเสริมการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ผ่านโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ซึ่งเป็นทุนส่งเสริมนักวิจัยใหม่ให้ผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

158091476446

พร้อมทั้งทุนโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจความรู้ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ในอนาคต ทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ ทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นกลาง (เมธีวิจัย) และ นักวิจัยอาวุโส โดยการสนับสนุนทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น และทุนส่งเสริมกลุ่มนักวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส)

นอกจากนี้ วช. ยังได้ส่งเสริมและสนับสนุนผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของสายอุดมศึกษาในหลากหลายรูปแบบ อาทิ งานวันนักประดิษฐ์ มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ และการประกวดในเวทีระดับนานาชาติ

เนรมิตง่าย แต่ต้องใช้ได้จริง

การวิจัยจะต้องผ่านการปฏิบัติอยู่หลายขั้นตอน ซึ่งต้องมีไอเดียดีๆ และต่อยอดสู่ต้นแบบการทดสอบและนำไปสู่การใช้จริงในหลากหลายระยะ ขณะนี้ถือว่าสิ่งประดิษฐ์ที่เรามีอยู่ถือว่าอยู่ในระยะกลางของกระบวนการ สิ่งที่เรามุ่งเน้นคือ เมื่อมีการประดิษฐ์ก็จะสามารถต่อยอดสู่การนำไปใช้จริงได้ผ่านกลไกในการสนับสนุนต่อไปที่เรียกว่า “บัญชีสิ่งประดิษฐ์”

158091478425

เมื่อมีการประดิษฐ์แล้วกว่าจะนำไปใช้การได้จะต้องผ่านกระบวนการอีกหลายกระบวนการ คือ 1.การตรวจสอบว่าประดิษฐ์ได้จริงหรือไม่ เพราะบางอย่างไม่ใช่แค่เพียงประดิษฐ์จำนวน1-2 ชิ้น แต่อาจจะต้องเพิ่มจำนวนมากขึ้น 2.เมื่อมีของมาแล้วต้องมีการประเมินผลทดสอบว่าพร้อมใช้งานได้จริงหรือไม่ 3.การประเมินความปลอดภัยและมีมาตรฐานเพราะส่วนนี้จะต้องเป็นการวิจัยและให้ทุนในการต่อยอด”

ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานบุคลากรอุดมศึกษา : บ่มเพาะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม คาดว่าจะสามารถพัฒนาทักษะและเทคนิคด้านการประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมของเยาวชน อาจารย์และบุคลากร ผู้รับผิดชอบในการพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ให้สามารถให้ได้รับการพัฒนาสู่มาตรฐานด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติรองรับความต้องการของชุมชน สังคม และประเทศในอนาคต รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขันระดับนานาชาติ