KKP ฟันธง 'ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น' ปีนี้โตต่อ

KKP ฟันธง 'ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น' ปีนี้โตต่อ

"เกียรนาคิน" เปิดกลยุทธ์ปี 63 ตั้งเป้าสินเชื่อโต 7-9%  จากธุรกิจรายย่อยและสินเชื่อรถยนต์  ปรับพอร์ตมุ่งรถเก่ามากขึ้น รักษาการเติบโตของ ROE ในระดับ 13-15%  พร้อมระมัดระวังปล่อยกู้ คุมเอ็นพีแอลเกิดใหม่ให้ลดลง หวังหนี้เสียต่ำกว่า 3.9% 

นายอภินันท์ เกลียวปฎินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร  (KKP)  เปิดเผยว่า  การดำเนินธุรกิจของธนาคารเกียรตินาคินปีนี้  เน้นปล่อยสินเชื่อแบบระมัดระวังมากขึ้น จากความเสี่ยงที่เพิ่มเข้ามาตั้งแต่ต้นปี ทั้งไวรัสโคโรนา ภัยแล้ง พ.ร.บ.งบประมาณของภาครัฐที่ล่าช้า อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายมากขึ้น เชื่อว่าอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) น่าเติบโตต่อเนื่องราว 13-15% จากปีก่อนที่เติบโตได้ 13.1%

ขณะที่สินเชื่อรวม คาดว่าจะเติบโตในระดับ 7-9% จากปีก่อนที่เติบโต 4.2% หลักๆจะมาจากธุรกิจรายย่อยและสินเชื่อรถยนต์ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)  คาดว่าจะลดลงได้ต่ำกว่า 3.9% จากปีก่อนหน้าเอ็นพีแอลอยู่ที่ระดับ 4.0% เนื่องจากธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และพยายามควบคุมเอ็นพีแอลเกิดใหม่ให้ลดลง โดยเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นในอดีต ส่วนใหญ่มาจากหนี้เก่าที่ปล่อยไว้หลายปี  ซึ่งเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน และเกินมูลหนี้ เหล่านี้อยู่ในกระบวนการกฎหมายในการบริหารจัดการ

"การเติบโตปีนี้ เราไม่อยากไปแข่งบนลูกค้าเดิม เพื่อให้ได้มาเก็ตแชร์มากขึ้น เพราะพวกนั้นจะเป็นการเพิ่ม risk แต่สิ่งที่เราทำคือ จัดโครงสร้าง จัดทีม จัดกระบวนการใหม่ เพื่อเปิดโอกาสในการเพิ่มลูกค้าเข้ามามากขึ้น ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นในการทำแผนปีนี้ จากการเพิ่มกลุ่มลูกหค้าใหม่ ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่จะทำให้เห็นการเติบโตต่อเนื่อง"

ด้านนายฟิลลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า การเติบโตของสินเชื่อรวมที่ 7-9% เชื่อว่าหลักๆมาจากธุรกิจราย่อยที่จะเติบโตดีต่อเนื่อง จากปีก่อนโต  3.3-3.4% ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อ ธนาคารมีการปรับกลยุทธ์ไปปล่อยสินเชื่อในรถเก่ามากขึ้น ทำให้พอร์ตสินเชื่อรถเก่าปัจจุบันอยู่ที่ 63% และรถใหม่ 37%

ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองของธนาคาร (Credit Cost) ปีนี้ เชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย มาอยู่ที่ 1.40-1.60% จากช่วงปี 2562 อยู่ที่ระดับ1.33% ทั้งนี้ยืนยันว่ามาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 9 ไม่กระทบกับธนาคารแน่นอน เพราะได้มีการตั้งสำรองฯรองรับไว้ในระดับสูงไว้แล้ว ปัจจุบันธนาคารสำรองหนี้เสียต่อสินเชื่ออยู่ในระดับสูงที่ 111% และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุมัติให้นำสำรองส่วนเกินนำกลับมาบันทึกเป็นรายได้ได้ ดังนั้นธนาคารจึงมีแผนนำสำรองส่วนเกินดังกล่าวกลับมาเป็นรายได้ด้วยในระยะข้างหน้า

สำหรับธุรกิจตลาดทุนในปีนี้ เชี่อว่ายังเป็นเซกเตอร์ที่สร้างการเติบโตและสร้างผลตอบแทนให้กับธนาคารได้ต่อเนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมา แม้ว่าภาวะความผันผวนยังมีอยู่ โดยเฉพาะสายงานวาณิชธนกิจ ที่ปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ในมือกว่า 10 ราย มีดีลต่อเนื่องมาจากปี 2562 โดยเฉพาะดีล IPO ที่จะเห็นอย่างต่อเนื่องในปีนี้

"เราเชื่อว่าปีนี้ ภาพรวมเราจะทำได้ดี จากการปรับกระบวนการทำงาน พัฒนาระบบคัดกรองสินเชื่อ การติดตามหนี้ ที่เราเข้าไปจับทุกจุดมากขึ้น ทำให้เราบริหารจัดการได้มากขึ้น เห็นว่าวันนี้ความกังวลด้านสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM ที่ก่อนหน้ามีเพิ่มขึ้น ตอนนี้มีแนวโน้มลดลง และการที่เราหันมาทำรถเก่ามากขึ้น ก็ทำให้เราบริหารคุณภาพหนี้ให้อยู่ในระดับที่รับความเสี่ยงได้มากขึ้น"