สถาบันไล่ซื้อ ‘หุ้นไทย’ ดันดัชนีปิดพุ่ง คลายวิตกไวรัสโคโรนา-เก็งข่าวจีนค้นพบยาต้าน

สถาบันไล่ซื้อ ‘หุ้นไทย’ ดันดัชนีปิดพุ่ง คลายวิตกไวรัสโคโรนา-เก็งข่าวจีนค้นพบยาต้าน

“สถาบัน” แห่ซื้อหุ้นไทยช่วงท้ายตลาด หนุนดัชนีปิดพุ่ง 14 จุด คลายวิตกไวรัสโคโรนา หลังจีนค้นพบยาต้าน ขณะยอดเสียชีวิตลดต่อเนื่อง ทั้ง กนง.ลดดอกเบี้ยสู่ระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ ด้าน “ภากร” มั่นใจตลาดหุ้นไทยแกร่ง โชว์สถิติ ดัชนีร่วงนานสุดไม่เกิน 10 เดือน

ดัชนีหุ้นไทยวานนี้ (5ก.พ.) แกว่งตัวผันผวนตลอดทั้งวัน ก่อนจะมีแรงซื้อเข้ามาอย่างหนักในช่วงท้ายตลาด หลังมีข่าวว่า จีนค้นพบยายับยั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้ดัชนีปรับขึ้นมาปิดตลาดที่ 1,534.14 เพิ่มขึ้น 14.76 หรือ 0.97% มูลค่าการซื้อขายรวม 67,458.22 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 5,577.19 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,628.12 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 913.87 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 1,035.19 ล้านบาท

นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หุ้นไทยที่ปรับขึ้นในช่วงท้ายตลาดวานนี้ เป็นการปรับขึ้นตามดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ที่ขึ้นแรง หลังจากนักลงทุนคลายความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เพราะจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ตลาดยังคาดการณ์ว่า กลุ่มโอเปก อาจปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงอีก 5 แสนบาร์เรลต่อวัน หนุนให้ตลาดหุ้นยุโรปและสหรัฐเพิ่มขึ้น รวมทั้งรัฐบาลจีนเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการลดดอกเบี้ยเพิ่ม ขณะที่ กนง. ก็ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1% เป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์

สำหรับแนวโน้มหุ้นไทยวันนี้ (6ก.พ.) คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ แต่เชื่อว่าไม่มาก หลังจาก 2 วันที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ40 จุด โดยมองแนวรับที่ระดับ 1,530 จุด แนวต้านที่ระดับ 1,545-1,550 จุด

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)  กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย เชื่อว่าจะกระทบเพียงช่วงสั้นและดัชนีสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว โดยเท่าที่ ตลท. ศึกษาข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้ตลาดหุ้นปรับลดลง แต่การลดลงพบว่า นานสุดไม่เกิน 10 เดือน คือ วิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2551 และช่วงที่ตลาดหุ้นจีนลดลงแรงในปี2558 

ส่วนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ช่วงนั้นกระทบตลาดหุ้นไทยลดลง 6 เดือน ขณะที่การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกปี 2547 กดดันตลาดหุ้นไทยราว 8.5 เดือน ส่วนการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในปี 2546 กระทบต่อตลาดหุ้นไทย 1.5 เดือน อย่างไรก็ตามผลกระทบจะนานหรือสั้น ขึ้นอยู่กับความชัดเจนในการควบคุมการแพร่ระบาด

สาเหตุที่ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจาก เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแรง ฐานะการคลังของประเทศแข็งแกร่ง หนี้สาธารณะต่อจีดีพีต่ำเพียง 40% ทุนสำรองระหว่างประเทศมีหลายเท่าของเงินกู้ต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อต่ำและ ดอกเบี้ยไทยต่ำ ธนาคารพาณิชย์แข็งแรง มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ระดับสูง 16.8-17% มีหนี้เสียต่ำไม่ถึง 3% โดยหากสถานการณ์ที่เข้ามากระทบมีความชัดเจนเชื่อว่าภาพเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ ตลาดทุน และบจ.ฟื้นตัวได้เร็ว

สำหรับในเดือนม.ค. 2563 นักลงทุนต่างประเทศมีขายสุทธิตลาดหุ้นไทยมากสุดในตลาดหุ้นอาเซียน เพราะ สภาพคล่องการซื้อขายต่อวันสูงสุดในอาเซียน ทำให้ซื้อขายได้ง่าย และเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสูง เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกที่สูง

อย่างไรก็ตามจากตลาดหุ้นไทยที่มีปรับตัวลดลงมานั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อบริษัทที่เตรียมเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป (IPO) โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) หุ้นไอพีโอ ปีนี้อยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท และ บจ.

ยังคงเดินหน้าระดมทุนในตลาดรองเพื่อนำเงินไปขยายธุรกิจตามแผน ทั้งการเพิ่มทุนเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) เสนอขายหุ้นแก่นักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ฯลฯ ซึ่งในเดือนม.ค. มีมูลค่าระดมทุนรวม 8,826 ล้านบาท