'ท่าเรือ' บางโพเชื่อมรถไฟฟ้า

'ท่าเรือ' บางโพเชื่อมรถไฟฟ้า

เจ้าท่าขอ งบฯ 64 วงเงิน 45 ล้านบาท เนรมิตท่าเรือบางโพโฉมใหม่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ยกระดับการเดินทางอย่างไรรอยต่อ คาดแล้วเปิดประมูลสิ้นปี 63 แล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ มิ.ย.65

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าได้ขอตั้งงบประมาณปี 64 วงเงิน 45 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นงบฯ ผูกพัน 2 ปี แบ่งเป็นปีงบฯ 64 จำนวน 9 ล้านบาท และปีงบฯ 65 จำนวน 36 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการงานก่อสร้าง พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณท่าเทียบเรือบางโพ กรุงเทพฯ เพื่อยกระดับการให้บริการท่าเรือสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีมาตรฐานและปลอดภัย สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่น ๆ ได้อย่างไร้รอยต่อ

โดยหากผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณ กรมเจ้าท่าก็จะสามารถเปิดประมูลหาผู้รับเหมามาดำเนินการก่อสร้างได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) คาดว่าจะสามารถประกวดราคาและลงนามในสัญญาจ้างได้ในช่วงเดือน ต.ค. – ธ.ค.63และเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนม.ค.64และจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในเดือนมิ.ย. 65 ทั้งนี้การก่อสร้างดังกล่าว ประกอบด้วยท่าเทียบเรือ พร้อมโป๊ะเทียบเรือ ขนาด 6x12 เมตร จำนวน 2 ตัว อาคารพักผู้โดยสารรูปแบบไทยประยุกต์ 1 หลัง และลานหลังท่าเรือขนาด 200 ตารางเมตร

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมเจ้าท่ามีท่าเรือบางโพเดิมอยู่แล้ว แต่หยุดการใช้งานไป เนื่องจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ ส่งผลให้ท่าเรือบางโพเป็นจุดที่จะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้อย่างสะดวก ดังนั้นกรมเจ้าท่าจึงจำเป็นต้องปรับปรุงท่าเรือให้มีรูปแบบที่เหมาะสม และสวยงามสามารถรองรับการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างทางน้ำกับระบบรางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารและดึงดูนักท่องเที่ยวให้มาใช้บริการมากขึ้นด้วย

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างท่าเทียบเรือโดยสารบริเวณสถานีพระนั่งเกล้าสกายวอล์ก เชื่อมการเดินทางไปยังสถานีสะพานพระนั่งเกล้า ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อว่า รฟม.ได้ว่าจ้าง บริษัท แพนเรล (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการก่อสร้างเป็นวงเงิน94.75ล้านบาทโดยจะเริ่มงานต้นปีนี้และจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการช่วงปลายปีโดยจะมีการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อระหว่างเรือโดยสาร รถไฟฟ้า และรถโดยสารสาธารณะขององค์การขนส่งมวลชน (ขสมก.) รวมทั้งจะมีการก่อสร้างอาคารสนับสนุน เช่น ห้องน้ำ ร้านค้า สำนักงาน ขสมก. ศาลาพักผู้โดยสาร, สะพานลอยคนเดินข้าม และงานปรับปรุงภูมิทิศน์ด้วย