ความเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่ง ทำใช้จ่ายฝืดถึงไตรมาส 2

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่ง  ทำใช้จ่ายฝืดถึงไตรมาส 2

ม.หอการค้าเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงทุกรายการทำ CCI ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ต่ำสุดรอบ 69 เดือน เหตุผวาโคโรนา ภัยแล้ง ค่าครองชีพ เศรษฐกิจชะลอ งบล่าช้า ชี้ปัจจัยลบทำผู้บริโภคระมัดระวังใช้จ่ายยาวถึงไตรมาส 2 ศูนย์พยากรณ์เตรียมปรับประมาณการณ

นายปรีดา โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนม.ค. 2563 จากกลุ่มตัวอย่าง 2,247 คนทั่วประเทศ พบว่า  ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ม.ค. เท่ากับ54.9 ลดลงจาก ธ.ค. 2562 ซึ่งอยู่ที่ 56  ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม เท่ากับ 63.8 ลดลงจาก 64.8  ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต เท่ากับ 83 ลดลงจาก 84.1 ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค(Consumer Confidence Index: CCI) เท่ากับ 67.3 ลดลงจาก 68.3 ซึ่งเป็นค่าดัชนีที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 69 เดือนนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2557

สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดไวรัสโคโรนา งบประมาณที่ล่าช้า ภัยแล้ง ตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงได้มากขึ้นในอนาคต 

     "จากความกังวลต่างๆทำให้คาดการณ์ว่าผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายไปจนถึงกลางไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นอย่างน้อย”

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัว และผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงยังรู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงมีแนวโน้มที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะลดลงอีกในเดือนก.พ.นี้

โดยทางศูนย์พยากรณ์ฯกำลังติดตามสถานการณ์ว่าปัจจัยลบจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นแค่ไหน โดยเฉพาะการระบาดไวรัสโคโรนาจนกระทบต่อการท่องเที่ยว หายไป 2.2 แสนล้านบาทและการบริโภคในประเทศต้องระมัดระวังมากขึ้น รวมถึงการส่งออกซึ่งยังประเมินว่ายังขยายตัวได้ 0.8% ในปีนี้จากโอกาสส่งออกกลุ่มอาหารและของใช้เพื่อสุขอนามัย อีกทั้งปัจจัยเรื่องภัยแล้ง เบิกจ่ายงบล่าช้า ปัญหาการเมืองในประเทศ ก่อนนำปัจจัยทั้งหมดมาทบทวนการคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจปี 2563 ที่จะมีขึ้นมี.ค.นี้ แต่เบื้องต้นยังประเมินตามคาดการณ์เดิมว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.8%  

สำหรับนโยบายดอกเบี้ยนั้น ส่วนตัวอยากให้คงอัตราดอกเบี้ย เพราะการลดดอกเบี้ยและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ได้เต็มที่ จะกลายเป็นกับดักก่อปัญหาสภาพคล่องในอนาคตได้ และสะท้อนถึงความวิตกต่อเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวหนักขึ้นไปอีก

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นการใช้จ่ายต่างๆ ได้แก่ ดัชนีความเหมาะสมการซื้อรถยนต์คันใหม่ ม.ค. เท่ากับ 57 ลดลงจาก ธ.ค.ซึ่งอยู่ที่ 60.7 ดัชนีความเหมาะสมการซื้อบ้านหลังใหม่ เท่ากับ 33.5 ลดลงจาก 36.1 ดัชนีความเหมาะสมการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว เท่ากับ 49.7ลดลงจาก 52.8 ดัชนีความเหมาะสมการลงทุนทำธุรกิจ เท่ากับ 21.3 ลดลงจาก 22.9 

นายธนวรรธน์ กล่าวถึง ผลสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันที่ 8 ก.พ. และสำรวจการใช้จ่ายวันวาเลนไทน์ ตรงกับวันที่ 14 ก.พ. โดยสำรวจประชาชน 1,234 ราย ระหว่างวันที่ 27 ม.ค.-2 ก.พ. 2563 นั้น พบว่า ประชาชนเกือบ 70% ของการสำรวจระบุว่าวิตกต่อปัญหาการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาและฝุ่นละออง ทำให้ลดการออกจากบ้านเพื่อไปทำกิจกรรมหรือทำบุญลดลง 

ประกอบกับวิตกเรื่องราคาสินค้าและค่าครองชีพ มองว่าเศรษฐกิจแย่ลง ทำให้เงินสะพัดใช้จ่ายช่วงมาฆบูชาปีนี้ติดลบ 2.50% หรือมูลค่า 2,601 ล้านบาท สำหรับเงินสะพัดช่วงวันวาเลนไทน์มีมูลค่า 3,246 ล้านบาท หรือติดลบ 1.23% ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งแรกที่มีการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่2

     “ผลสำรวจสะท้อนว่าประชาชนวิตกต่อปัญหาต่างๆมากขึ้น จึงเห็นด้วยที่รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการการคลังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านมาตรการต่างๆ เช่น เพิ่มฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ ทดแทนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเที่ยวไทยลดลง”