ไม่รอผลเจรจารัฐ “เบนซ์”พร้อมลุยตลาด “อีวี”

ไม่รอผลเจรจารัฐ “เบนซ์”พร้อมลุยตลาด “อีวี”

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและตลาดรถยนต์ที่ไม่ดีนัก แต่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็เปิดเกมรุกตั้งแต่ต้นปี ทั้งการเปิดตัวรถใหม่เมื่อไม่นานมานี้ 3 รุ่น และตัดสินใจเดินหน้าแผนทำตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) เป็นครั้งแรก รวมถึงการปรับตัวเพื่อรับมือ เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น

ทั้งนี้สำหรับ อีวี นั้น เมอร์เซเดส-เบนซ์ เป็นหนึ่งในบริษัทรถยนต์ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน โครงการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ ทั้งรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถพลังงานไฟฟ้า 100% หรือ อีวี และมีแผนนำเข้ารถมาทำตลาดนำร่องในปีที่ผ่านมา แต่ติดปัญหาในเรื่องโควตากับภาครัฐ ทำให้ประกาศเลื่อนแผนออกไป อย่างไรก็ตามขณะนี้บริษัทยืนยันว่าพร้อมจะเปิดตัวปีนี้ 

โรลันด์ โฟลฺ์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเจรจาระหว่างบริษัทกับหน่วยงานรัฐยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตามบริษัทตัดสินใจยกเอาเรื่องนี้ออกไปจากแผนธุรกิจ และพร้อมที่จะเปิดตัว อีวี รุ่นแรก คือ “อีคิว-ซี” ภายในปีนี้

ทั้งนี้โควตาการนำเข้ารถจากต่างประเทศ (CBU) เข้ามาทำตลาดนั้น เป็นไปตามเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุน ที่ยอมให้บริษัทยื่นที่ได้รับอนุมิติส่งเสริมการลงทุน สามารถนำรถเข้ามาทำตลาดได้จำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นการทดลองตลาด สร้างการรับรู้ให้กับตลาด ก่อนเปิดตัวรุ่นผลิตในประเทศ (CKD) โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ในระยะเวลา 15 เดือน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ต้องการโควตาประมาณ 500-600 คัน แต่ภาครัฐอนุมัติให้น้อยกว่านั้นมาก คาดว่าไม่ถึง 100 คัน

“เรื่องของจำนวนรถนำเข้าที่ขอไป ยังไม่ได้ข้อสรุป และยังคงดำเนินต่อไป แต่เราตัดสินใจยกเรื่องนี้ออกนอกแผนการตลาดแล้ว” 

การตัดสินใจดังกล่าว เพราะเห็นว่าทิศทางของ อีวี ได้รับความสนใจมากขึ้น อีกทั้งเห็นว่าปัจจุบันสถานการณ์ของมลพิษทางอากาศจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขจากทุกฝ่าย และเห็นว่า อีวี เป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถช่วยลดปัญหาได้

*ลงทุนควิกชาร์จขยายฐานอีวี

นอกจากการเตรียมเปิดตัว อีวี แล้ว บริษัทยังเดินหน้าผลักดันรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็น อีวี หรือ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด โดยกำลังเจรจากับตัวแทนจำหน่ายให้สร้างสถานีชาร์จแบบเร็ว (ควิกชาร์จ) และเปิดบริการสาธารณะ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2 ล้านบาท 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ตัวแทนจำหน่ายหลายแห่งได้ติดตั้งจุดชาร์จเพื่อให้บริการลูกค้า แต่เป็นจุดชาร์จที่เรียกว่า วอลล์ บ็อกซ์ ซึ่งจะใช้เวลาชาร์จนานหลายชั่วโมง แต่ควิกชาร์จ โดยทั่วไปจะชาร์จได้ 80% ในเวลาประมาณ 15 นาที ซึ่งแผนการดังกล่าว ก็จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยผลักดัน อีวี และปลั๊ก-อิน ไฮบริด ให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้นในอนาคต 

โฟล์เกอร์ ยังมีความคิดเห็นต่อทิศทาง อีวี ในภาพรวมว่า ปัจจุบันรัฐบาลหลายๆ ประเทศให้ความสนใจในเรื่องนี้ แต่ด้านการตลาดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม รวมถึงที่มาของพลังงานไฟฟ้าด้วย ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าบางประเทศก็มีแนวทางหนุน อีวี ชัดเจน ขณะที่ไทยเชื่อว่ายังเหมาะกับการมีตัวเลือกที่หลากหลาย ทั้งรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ไฮบริด ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี 

*เปิดขายรถใหม่ออนไลน์ 

นอกเหนือจากการเตรียมเปิดตลาด อีวี แล้ว ปีนี้เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยังจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะการรับมือกับเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น ซึ่งเกิดขึ้นกับหลายๆ ธุรกิจ รวมถึงตลาดรถยนต์ด้วย จากการที่พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป 

ดังนั้น ปีนี้บริษัทจะต้องปรับตัว และเพิ่มการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีบริการดิจิทัลมากขึ้น เช่น การสร้างระบบนัดหมายออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีประกอบการดำเนินการในส่วนงานต่างๆ เช่น ห้องส่งมอบรถยนต์ จะมีดิจิทัล สกรีน เพื่อให้ลูกค้าได้เรียนรู้เกี่ยวกับรถ เกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือทำเป็นสตอรีประกอบ เป็นต้น 

นอกจากนี้ สิ่งที่ตัวแทนจำหน่ายจะต้องมีในอนาคต คือ มีผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ (Media Expert) เพื่อสร้างคอนเทนท์ต่างๆ สำหรับใช้ในการสื่อสารกับลูกค้า

และมากไปกว่านั้นก็คือ บริษัทกำลังเตรียมการสำหรับการขายรถออนไลน์ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้เร็วๆ นี้ 

ทั้งนี้ช่วงปลายปีที่แล้ว เมอร์เซเดส-เบนซ์ เริ่มต้นเข้าสู่ช่องการขายออนไลน์ เป็นครั้งแรก โดยเริ่มต้นกับรถมือสอง ซึ่งเป็นรถที่ใช้ในองค์กร ซึ่งมีจำนวนประมาณปีละ 200 คัน โดยจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ ให้ผู้สนใจเข้าไปเลือกสินค้า และเลือกตัวแทนจำหน่ายที่จะรับรถ โดยพบว่าได้รับการตอบรับที่ดี ดังนั้นจึงเห็นว่าสามารถขยายไปสู่การเปิดขายออนไลน์ รถใหม่ โดยอยู่ระหว่างการวางแนวทางที่เหมาะสม

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่จะไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงแต่อย่างใด เป็นเพียงการเพิ่มความหลากหลาย และเปิดช่องทางใหม่ให้กับผู้บริโภคที่นิยมเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันในโลกค้าขายออนไลน์ที่ดังๆ ก็ยังจะต้องมีช็อปที่แสดงสินค้าเช่นกัน รวมถึงอเมซอน

“คนในยุคปัจจุบัน คุ้นเคยกับชอปปิงออนไลน์ เป็นช่องทางที่สะดวก แต่ว่าสำหรับรถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าพรีเมียมนั้นแตกต่างออกไป ลูกค้ายังต้องการสัมผัสของจริง มีการพบปะ และได้รับการดูแล  และยังมีสิ่งที่ยากที่จะต้องทำให้ได้ก่อนเปิดบริการก็คือ ทำอย่างไรให้ออนไลน์มีความเป็นพรีเมียมในความรู้สึกผู้บริโภคให้ได้"

*ดีลเลอร์ยังเป็นกลไกสำคัญ

ทั้งนี้แม้ว่าดิจิทัล หรือออนไลน์ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่เครือข่ายตัวแทนจำหน่ายก็ยังมีความสำคัญ ดังนั้นบริษัทจึงมีแผนที่จะยกระดับโชว์รูมและศูนย์บริการ รวมถึงรูปแบบการดำเนินงาน เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าที่สุด เช่น การมีสตาร์ แอสซิสแตนท์ ประจำโชว์รูม มีหน้าที่ต้อนรับลูกค้าที่เข้ามา และพาไปยังแผนกที่ลูกค้าต้องการ ต่างจากปกติที่ผู้ที่เดินเข้าโชว์รูมจะเจอกับพนักงานขายเป็นหลัก 

นอกจากนี้ก็ยังมีแผนขายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเพิ่งเปิดสาขาที่ 35 ที่เชียงราย และเตรียมเปิดสาขาที่ 36 เร็วๆ นี้ในกรุงเทพฯ และยังมีแผนเปิดสาขารูปแบบ 2 เอส เป็นครั้งแรก ตั้งเป้าปีนี้ 4 แห่ง ที่ถนนสุขุมวิท ฝั่งธนบุรี ระยอง และอยุธยา 

โชว์รูม 2 เอส จะให้บริการ 2 ส่วน คือ บริการหลังการขาย และอะไหล่ (Service, Spare part) โดยตัดในส่วนการขาย (Sale) ที่มีอยู่ในโชว์รูม 3 เอส ออกไป ซึ่งการเปิด 2 เอส จะดูตามความเหมาะสมกับตลาดแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยให้ตัวแทนจำหน่ายที่จะลงทุน ประหยัดงบประมาณลงไปได้ประมาณ 1 ใน 3