"ทีวีบูรพา" ปลดล็อคธุรกิจ วาง 3 เสา สู่การเติบโต

"ทีวีบูรพา" ปลดล็อคธุรกิจ วาง 3 เสา สู่การเติบโต

ประสบการณ์ทำทีวียาวนาน 20 ปี จากอยู่เบื้องหลัง “เจเอสแอล” ขยับสู่เจ้าของธุรกิจผลิตรายการจรรโลงโลกประเภทสารคดี เช่น คนค้นคน กบนอกกะลา จากโปรดดิวเซอร์เบื้องหลังสู่เบื้องหน้า เป็นพิธีกร นั่นเป็นเส้นทางโตของ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ประธานบ.ทีวีบูรพา จำกัด

ทว่า ยุคสมัยเปลี่ยนทำให้องค์กรต้องปรับ ไม่เช่นนั้นอาจโดนสึนามิ “ดิรัปชั่น” หายไปจากวงการธุรกิจทีวี และผู้ผลิตคอนเทนท์(Content Provider)ได้

ถ้าไม่เปลี่ยนเราอาจต้องเปลี่ยนสถานะ หรือทีวีบูรพาอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว” สุทธิพงษ์ สะท้อนสถานการณ์ธุรกิจเมื่อเจอการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เลือก “จอ” ในการเสพคอนเทนท์จากทีวีไปยังจอใหม่ๆ จากหลากแพลตฟอร์ม

“ผู้บริโภคยังรับชมเพื่อตอบสนองความบันเทิง ความสุข สนุกสนาน และอยากรู้ แต่เปลี่ยนแพลตฟอร์ม วิธีเสพคอนเทนท์ เมื่อก่อนจะกลับบ้านมานั่งหน้าจอ ตอนนี้เทคโนโลยีเอื้อให้รับชมคอนเทนท์ได้โดยไร้ข้อจำกัด”

ท่ามกลาง “วิกฤติ” หลายคนมองว่ามี “โอกาส” ซ่อนอยู่เสมอ ขึ้นกับว่าใครจะมองเห็นและคว้าโอกาสนั้นเป็นของตัวเอง เช่นกับ พุทธิพงษ์ เชื่อว่ายังมีทางไปให้คนทำคอนเทนท์ จึงเปลี่ยนความเคยชิน การดูรายการต่างๆ ทำให้องค์กรต้องปรับตัว วางกลยุทธ์ใหม่เพื่อสร้างการเติบโต ขณะเดียวกันยังถอยออกมาก้าวหนึ่ง เปิดทางให้คนรุ่นใหม่ เช่น ชนวัฒน์ วาจานนท์ และกฤษณพล พงศ์ธนาวรานนท์ เป็นขุนพลช่วยเคลื่อนธุรกิจอีกแรง

เนื่องจากสูตรสำเร็จในอดีต นำมาใช้ยุคนี้ไม่ทันการณ์ โดยเฉพาะการผลิตคอนเทนท์ สารคดีอดีตคู่แข่งไม่มากนัก ปัจจุบันผุดขึ้นมากมายและมีผู้ผลิตมากกว่าผู้จัด “ละคร” เสียอีก เช่น รายการท่องเที่ยว อาหารการกินต่างๆ ที่สำคัญ บรรดาบล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ฯ คิดงานได้ สร้างสรรค์รายการทันที เทียบกับรายการทีวี คิด ผลิต ใช้เวลา 1 สัปดาห์ กว่าจะได้ 1 ชิ้นงาน สะท้อนว่า Speed และความ Realtime ของยุคดิจิทัล ทำให้ผู้ที่คิดเรื่องเดียวกัน แต่คนลงมือผลิตงานก่อนมีมากมาย

สารดคีเป็นเซ็กเมนต์เล็กๆ แต่ตอนนี้คนทำมาหากินเซ็กเมนต์นี้เยอะมาก เพราะศักยภาพเครื่องมือ เทคโนโลยีเอื้อ เราจึงต้องฉีกกรอบเดิมๆ พันธนาการเก่าๆเพื่อทำงาน และการจะสู้ยืนระยะได้ ต้องอาศัยทีมงาน เราจึงเปลี่ยนหลายมิติ เราต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถ คนรุ่นผมทำแต่โปรดักชั่น การวัดผลงาน(เคพีไอ) การขายงานเมื่อก่อนอีกแบบ แต่ตอนนี้ต้องเปลี่ยนการให้บริการลูกค้าไปทุกแพลตฟอร์ม และเราทำลังพังไม่ได้

การปรับตัวทางธุรกิจไม่ง่ายเหมือนเปลี่ยนหลังคาบ้าน เพราะต้องค่อยๆให้ทีมงานปรับวิธีคิด(Mindset) เรียนรู้การทำงานใหม่ๆ เพราะของเก่าบางอย่างมีค่า รวมถึงการเปิดทางให้คนใหม่ๆมาเรียนรู้การทำงานและ “พิสูจน์ฝีมือมือ” แนวคิดการทำงาน ความสามารถในการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการยอมรับ

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทีวีบูรพา ปรับโครงสร้างไปแล้ว วาง 5 ธุรกิจ เพื่อเคลื่อนสู่การเติบโต ได้แก่ คอนเทนท์ ธุรกิจสื่อ อีเวนท์ การทำตลาดแบบบูรณาการ(IMC) ดิจิทัล ทว่า ปี 2020 รื้อโครงสร้างอีกครั้ง วาง 3 เสาหลักธุรกิจ เพื่อทำเงิน ได้แก่ คอนเทนท์ IMC และดิจิทัล

ชนวัฒน์ วาจานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด เล่ากลยุทธ์การสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างมั่นคง ยังให้น้ำหนักกับการผลิตคอนเทนท์ แต่จะเพิ่มเสน่ห์และจุดแข็งการเป็นนักเล่าเรื่องหรือเป็น Content storytelling ซึ่งไฮไลท์ปีนี้จะเห็นการผนึกกับพันธมิตรระดับโลก Iconfilm จากอังกฤษทำการผลิตผลงานร่วม(Co-Production)ให้กับ Nat Geo Wild ทำซีรีส์ Wild Thaliland ออกอากาศที่สหรัฐ ยุโรป และนิวซีแลนด์

ที่สำคัญรายการดังอย่าง “คนค้นคน” จะนำไปออกอากาศบนออนไลน์เพิ่มเติม จากก่อนหน้ามีรายการกบนอกกะลาเสิร์ฟผู้ชมออนไลน์แล้ว

 ส่วน IMC ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกแบรนด์สินค้าและบริการจำเป็นต้องมีการสื่อสารการตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ทำให้บริษัททำงานร่วมกับลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างใกล้ชิดแบบ One dream, One team พัฒนา IMC Marketing ที่ผ่านมามีงานทั้งของกทม.และบีเอ็มดับบลิว ฯ และผลักดันการเติบโตก้าวกระโดดจากปี 2561 มีรายได้ 100 ล้านบาท ปี 2562 เป็น 150 ล้านบาท ขณะที่ดิจิทัล อัพเลเวลการทำงานสู่ดิจิทัล เอเยนซีเต็มตัว เพื่อรับงานเพราะต้นทุนต่ำแต่ที่ผ่านมาการเติบโตมากถึง 400%

ทีวีบูรพาทำสารคดีเชิงสร้างสรรค์ สร้างสังคมอุดมปัญญาซึ่งมีไม่กี่ช่อง บริษัทผ่านยุคเฟื่องฟู จากมีทีวีนับร้อยช่อง มาสู่ดิจิทัลทีวี เราเป็นสื่อสีขาวหรือWhte Content Provider แต่โลกเปลี่ยนทุกวินาที ผลักดันให้การทำคอนเทนท์ไปอยูาในมือทุกคน เราจึงพัฒนาวิธีคิด ผลิตงานให้เป็นมากกว่าสารคดี ให้ทันเท่าการเปลี่ยนแปลงของตลาด” เขาย้ำเหตุผลการปรับตัวไม่เพียงเพื่ออยู่รอด แต่เพื่อสนองตลาดที่เปลี่ยนไป

3 ธุรกิจ ยังทำให้บริษัทโฟกัสลูกค้ามากขึ้น อย่างการทำ IMC Marketing ไม่เพียงแค่รัฐและเอกชน แต่ยังมองโอกาสผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีตามหัวเมืองใหญ่ ที่มีผลประกอบการ 300-400 ล้านบาทมาเป็นลูกค้า เค้นไอเดียสร้างกลยุทธ์ผลักดันยอดขายให้โต รวมถึงบริษัทที่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มไอไอ และ SET เจาะการทำตลาดเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อมและมุ่งเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

ถือเป็นการปลดล็อกศักยภาพตัวเอง ในการฝ่าดิสรัปชั่น และสร้างการเติบโตจากโอกาสใหม่ๆ” แผนดังกล่าวคาดว่าจะผลักดันรายได้ปีนี้โต 20-25% จากปี 2562 มีรายได้รวม 237 ล้านบาท เติบโต 32%