‘โดรน' เครื่องมือช่วยกรมอุทยานฯ เฝ้าระวังพื้นที่ป่า

‘โดรน' เครื่องมือช่วยกรมอุทยานฯ เฝ้าระวังพื้นที่ป่า

วช.ร่วมกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองฯ พัฒนาอากาศยานไร้คนขับพร้อมระบบจัดทำแผนที่ 3 มิติทั้งกล้องและซอฟต์แวร์ สนับสนุนภารกิจกรมอุทยานฯ ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร การท่องเที่ยวและการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

นางสาววิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า วช. ร่วมกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ พัฒนาอากาศยานไร้คนขับ (ยูเอวี) พร้อมระบบประมวลผลและอุปกรณ์จัดทำแผนที่ 3 มิติ เพื่อใช้ประโยชน์ในภารกิจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติ การท่องเที่ยว และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ตอบสนองต่อภารกิจของบุคลากรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่อุทยานแห่งชาติของ อส. ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

158083709373

โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นจากกรณีเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง จ.เชียงราย ทาง วช. ได้นำโดรนร่วมภารกิจค้นหา จึงคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ในการทำงานของกรมอุทยานฯ ส่วนความร่วมมือครั้งนี้เบื้องต้นได้ดำเนินการในอุทยานแห่งชาติต้นแบบ 4 ภูมิภาค ได้แก่

1.อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวและศึกษาธรรมชาติเชิงอนุรักษ์

2. อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช จ.ตาก เพื่อการป้องกันการบุกรุกทำไร่เลื่อนลอย

3.อุทยานแห่งชาติภูผายล จ.สกลนคร เพื่อการปราบปรามการกระทำที่ผิดกฎหมาย การลัดลอบตัดไม้พะยูง

4.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวและศึกษาธรรมชาติเชิงอนุรักษ์

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า ทั้งสามหน่วยงานร่วมมือกันพัฒนาความสามารถของโดรนมาใช้ในการทำแผนที่ซึ่งปลอดภัย ประหยัด สะดวกและใช้งานได้ง่าย โดยการควบคุมผ่านระบบซอฟต์แวร์ นอกจากนี้กรมอุทยานฯ ยังสามารถใช้โดรนในการบินสำรวจ เฝ้าระวังต้นไม้ที่ปลูกแล้วว่าพื้นที่ใดหายไปบ้าง เพราะในอดีตจะใช้เจ้าหน้าที่ในการเดินสำรวจ ซึ่งใช้เวลานาน แต่เมื่อมีโดรนก็สามารถประหยัดเวลาและทรัพยากรได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการใช้งานโดรน จะต้องมีการอบรมเจ้าหน้าที่ก่อนใช้งานจริงในการใช้ซอฟต์แวร์ควบคุมสำหรับกำหนดพล็อตเส้นทางการบินและการสั่งถ่ายภาพ นำภาพที่ได้มาประมวลผลร่วมกัน เพื่อสร้างเป็นโมเดลสามมิติสำหรับจัดทำเป็นแผนที่สามมิติต่อไป ซึ่งแผนภาพนี้ไม่เพียงจะขยับดูได้แบบภาพเสมือนจริงแต่ยังมีความลึกและขยายดูรายละเอียดได้ทุกแง่มุม ทั้งยังสามารถคำนวณพื้นที่และองศาได้อย่างแม่นยำ ให้เห็นความแตกต่างหากเกิดการเปลี่ยนแปลง

158083714172

ด้านนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ในปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าประมาณ 30% หากในอดีต 20-30 ปีก่อนหน้านี้มีการใช้เทคโนโลยีโดรน เชื่อว่าพื้นที่ป่าจะเหลือมากกว่านี้ เนื่องจากโดรนสามารถบินเพื่อบันทึกภาพได้อย่างชัดเจนว่ามีพื้นที่ไหนถูกบุกรุกไปบ้าง หากมีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้นก็จะใช้ภาพเหล่านี้เป็นหลักฐานได้ ขณะที่ในสมัยก่อนไม่มีเทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศอย่างชัดเจนเพื่อเป็นหลักฐาน กรมฯก็ต้องทะเลาะกับชาวบ้านเพราะไม่มีหลักฐานการบุกรุกที่ชัดเจน

การจัดทำแผนที่ใหม่แบบ 3 มิติ ไม่เพียงจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อภาพถ่ายผ่านดาวเทียมปีละหลายร้อยล้านบาท ยังมีความรวดเร็วและทันสมัยกว่า โดยไม่ต้องรอเวลา 15 วัน ที่ดาวเทียมจะหมุนมาหาพิกัดเดิมเพื่อถ่ายภาพตามความต้องการ ซ้ำยังเป็นการลดความเสี่ยงการปะทะเมื่อเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ต้องเผชิญหน้ากับผู้ลักลอบตัดไม้

158083716230