ธุรกิจญี่ปุ่นในไทยผวา เศรษฐกิจครึ่งแรกปี 63 ซบ

ธุรกิจญี่ปุ่นในไทยผวา เศรษฐกิจครึ่งแรกปี 63 ซบ

ธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่นที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและความเห็นของนักธุรกิจกลุ่มนี้จึงมีความน่าสนใจต่อมุมมองการทำการค้าในปัจจุบัน ซึ่งหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB )ได้ทำการสำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจฯเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้งตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา

อัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร กรุงเทพ เปิดเผย ว่า จากการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 พ.ย.- 3 ธ.ค. 2562 จากบริษัทที่เป็นสมาชิก JCCB 595 ราย คิดเป็น 34 % ของสมาชิกทั้งหมด 1,750 ราย พบว่าค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ( DI) ยังคงอยู่ในแดนลบอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ครึ่งแรกของปี62 ที่ติดลบ 19 และครึ่งหลัง ติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 38 และคาดว่าครึ่งแรกของ63 ค่าดัชนีจะติดลบ 18ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว โดยได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และการแข็งค่าของเงินบาท โดยการผลิตรถยนต์ได้รับผลกระทบมาที่สุด ติดลบถึง 78 % ฉุดให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหล็กและอิเล็กทรอนิกส์ตกต่ำไปด้วย แม้ปี 63แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการจะยังกังวลเกี่ยวกับภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาท

อย่างไรก็ตามผลการสำรวจดังกล่าวยังไม่เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาที่จะใช้วิเคราะห์ในครั้งต่อไปในอีก 6 เดือนข้างหน้า ในเบื้องต้นคาดว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อจะกระทบกับภาคการส่งออก ซึ่งทุกบริษัทได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ โดยหวังว่าจีนจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรีบด่วน

158082296739

สำหรับการสำรวจเกี่ยวกับการลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักรหรืออุตสาหกรรมการผลิต ส่วนใหญ่ 39% จะไม่ลงทุนเพิ่ม สอดคล้องกับความเห็นส่วนใหญ่ที่คาดการณ์ว่าครึ่งแรกของปี 2563 การส่งออกจะไม่เพิ่มขึ้น โดยความเห็นดังกล่าวถือเป็นแนวโน้มที่ดีเมื่อเทียบกับบริษัทที่คาดว่าการส่งออกในปี 2562จะเพิ่มขึ้นเพียง 19%  ส่วน40%คาดว่าการส่งออกจะ “คงที่”  ในขณะที่ 41% คาดว่าการส่งออกจะ “ลดลง”

 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมั่นใจว่าภาวะเศรษฐกิจ ปี 2563 จะฟื้นตัว โดยมีตลาดที่สำคัญคือ เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย เมียนมา และญี่ปุ่น

เมื่อถามถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนพบว่าบริษัทส่วนใหญ่ระบุว่า ใช้อัตรา ตั้งแต่ 30.5บาทต่อดอลลาร์ ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 31 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่ากว่าเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าที่ บริษัทส่วนใหญ่ระบุว่า ใช้อัตรา ตั้งแต่ 32.5 บาทต่อดอลลาร์ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 33 บาทต่อต่อดอลลาร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนหนึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ใช้ ในการวางแผนธุรกิจบ้างแล้ว ในขณะอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยน บริษัทส่วนใหญ่ระบุ ว่า ใช้อัตราตั้งแต่ 3.5 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 3.6 เยนต่อบาท ซึ่งใกล้เคียงกับผลสำรวจครั้งก่อนหน้า

นอกจากนี้ผู้ประกอบการญี่ปุ่น ระบุว่าการดำเนินธุรกิจในไทยยังมีปัญหา  ซึ่งปัญหาที่บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่คือ 76% ตอบได้แก่ การแข่งขันรุนแรงขึ้น รองลงมามีสัดส่วน 51% ตอบว่าค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้น และ38% ตอบว่าอุปสงค์ภายในประเทศซบเซากรณีนี้แสดงให้เห็นความกังวลของผู้ประกอบการว่าความต้องการในประเทศจะตกต่ำ ในขณะที่บริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนมากยังการขาดแคลนวิศวกร การย้ายงานของพนักงาน และการขาดแคลนบุคลากรระดับผู้จัดการในสายงานธุรการ

ทั้งนี้บริษัทส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลไทย ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสาธารณูปโภค คมนาคมขนส่งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล การพัฒนาปรับปรุงระบบและการบังคับใช้ระบบศุลกากรและพิธีการศุลกากร การรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน การพัฒนาปรับปรุงการบังคับใช้ระบบภาษี เป็นต้น

อัทสึชิ กล่าวอีกว่าผลสำรวจได้สอบถามผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน มีบริษัทที่ระบุว่า ได้รับผลกระทบเชิงบวก กว่า 11% ที่คาดว่าจะเกิดการย้ายการลงทุนเข้ามาในไทย ที่เหลือระบุว่าจะมีผลกระทบเชิงลบ 56% ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้า และหากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนยืดเยื้อ และคาดว่าจะกระทบกับของเศรษฐกิจโลกโดยรวม ในขณะที่ความต้องการในประเทศไทยจะลดลงตามอัตราการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยและเป็นกระทบกับการส่งออกไปยังประเทศ ภูมิภาคอื่นๆ ด้วย

สำหรับความสนใจที่มีต่อการลงทุนภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีมีบริษัทผู้ตอบแบบสอบถาม 129 บริษัทในจำนวนนี้ 23% สนใจที่ให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการนำเข้า-ส่งออก การผ่อนปรนกฎระเบียบ และ การลดความซับซ้อนในการดำเนินกระบวนการต่างๆ

ส่วนมาตรการไทยแลนด์พลัส พบว่า บริษัทต่างต้องการให้ ปรับปรุง พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวบางส่วนและการผ่อนปรนเงื่อนไขในการออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) การผลักดันการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุม และเดินหน้า หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP หรือ TPP11) มาตรการหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติ บุคคลเพิ่มเติมสำหรับค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านระบบอัตโนมัติ ระหว่างปีพ.ศ. 2562-2563

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยกระดับการศึกษา และองค์กรการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา สนับสนุนการจัดการฝึกอบรมและ พัฒนาทักษะภายนอกบริษัท และการสนับสนุนการฝึกวิชาชีพในขณะกำลังศึกษาด้วย