แผนปฏิรูปฯ พลังงานใหม่ ดันกิจการไฟฟ้า-ก๊าซฯ เสรี

แผนปฏิรูปฯ พลังงานใหม่ ดันกิจการไฟฟ้า-ก๊าซฯ เสรี

คณะกรรมการปฏิรูปฯ รับฟังความคิดเห็นแผนปฏิรูปฯ พลังงาน ฉบับใหม่เตรียมเสนอครม. มี.ค.นี้ ดัน 3 การไฟฟ้าบรูณาการแผนลงทุน 5 ปี พร้อมปลดล็อคให้ กฟผ.ผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว

นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เปิดเผยในการรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 วานนี้ (4 ก.พ.) ว่าสาระสำคัญที่จะนำเสนอต่อภาครัฐให้ดำเนินการระยะเร่งด่วนปี 2563 อาทิ กำหนดให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบให้ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกับ กระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ระยะ 5 ปี ทั้งการผลิต ระบบส่ง ระบบจำหน่าย

โดยประกาศใช้แผนบรูณาการฯ (ปี2566-2570) และหากการลงทุนมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องกำหนดอยู่ในแผนฯดังกล่าว จึงสามารถเสนอกระทรวงพลังงานพิจารณาก่อนเสนอ ครม. เพื่อลดปัญหาการลงทุนที่ซ้ำซ้อนของ 3 การไฟฟ้าที่อาจจะนำไปสู่การส่งผ่านภาระค่าไฟฟ้าไปสู่ภาคประชาชน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเป็นการปรับเปลี่ยนจากแผนปฏิรูปฯเดิม ที่เคยเสนอให้โอนย้าย 2 การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ กฟน.และกฟภ.มาอยู่ภายใต้กระทรวงกระทรวงพลังงาน แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการในทางปฏิบัติได้

รวมถึง กำหนดให้ กกพ.เสนอ กพช. และครม.เพื่อขอความเห็นชอบการยกเว้นนโยบาย Enhancing Single Buyer ที่กำหนดให้ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว ภายในเดือน เม.ย.นี้ โดยให้ดำเนินภายใต้โครงการ ERC Sandbox เพื่อทดสอบระบบการซื้อขายไฟฟ้าเสมือนจริง และการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรีเต็มรูปแบบภายในปี 2564 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าเสรี

นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า แผนปฏิรูปประเทศฯ ฉบับปัจจุบัน ใช้งานมาครบ 2 ปีแล้ว จึงต้องปรับปรุงแผนฯใหม่ ที่จะใช้ใน 3 ปีข้างหน้า (ปี 2563-2565) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหลังจากรับฟังความคิดเห็นครบ 4 ครั้งแล้ว คณะกรรมการฯ จะรวบรวมข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงแผนฯให้สมบูรณ์ และนำเสนอต่อ ครม.พิจารณาภายในเดือนมี.ค.นี้ และรายงานรัฐสภารับทราบ ภายในเดือนเม.ย. ก่อนผลักดันสู่ภาคการปฏิบัติต่อไป

คณะกรรมการฯ เห็นด้วยกับภาครัฐที่ส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพและพืชพลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการกระตุ้นราคาสินค้าเกษตร โดยหากใช้พืชพลังงานได้ 10% จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 1.3 แสนล้านบาทต่อปี จากมูลค่าพลังงานมีสัดส่วนถึง 16% ของ GDP ประเทศ