'ซีพีจีซี' เร่งนิคมฯเฟส 1 หวังดึงลงทุน 6 หมื่นล้าน

'ซีพีจีซี' เร่งนิคมฯเฟส 1 หวังดึงลงทุน 6 หมื่นล้าน

นิคมฯ ซีพีจีซี ลุยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกว่า 2 พันล้านบาท เปิดขายพื้นที่เฟสแรก 1 พันไร่ คาดยอดขาย 80% ภายในปีนี้ เผยหากลงทุนเต็มโครงการ 3 พันไร่ จะมีมูลค่าทะลุ 6 หมื่นล้านบาท

บริษัท ซี.พี.แลนด์จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่เริ่มเข้าสู่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม โดยตั้งบริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น จำกัด ขึ้นมาพัฒนานิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี จ.ระยอง พื้นที่ 3,068 ไร่

นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ห่างจากสถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภาเพียง 35 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ซีพีได้สิทธิลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)

สุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานกรรมการบริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น จำกัด  เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามกับธนาคารกรุงไทยเพื่อสนับสนุนด้านการเงิน 5,000 ล้านบาท ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี จ.ระยอง รวมทั้งลงนามกับบริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียร์ริ่ง กรุ๊ป ยีอาน จากจีน เพื่อรับเหมาก่อสร้างพัฒนานิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี วงเงิน 2,000 ล้านบาท

การพัฒนาแบ่งเป็น 3 เฟส คือ เฟสที่ 1 พัฒนาที่ดิน 1,000 ไร่ ใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคสัดส่วน 90% ของสาธารณูปโภคทั้งหมด ได้แก่ ถนนสายหลัก 3 กิโลเมตร โรงงานบำบัดน้ำเสีย และผลิตน้ำดิบ โครงข่ายไฟฟ้าและโทรคมนาคม ซึ่งจะนำฝังลงใต้ดินทั้งหมด 

เฟสที่ 2 จะเริ่มต้นก่อสร้างปลายปี 2563 พื้นที่ 1,000 ไร่ ใช้เงินลงทุน 800 ล้านบาท และเฟสที่ 3 พื้นที่ 1,000 พัน และสร้างโรงงานผลิตน้ำดิบขนาดเล็กใช้เงินลงทุน 500 ล้านบาท

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซีจะมีพื้นที่อุตสาหกรรม 2,205 ไร่ คิดเป็น 71.89% ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม 112 ไร่ คิดเป็น 3.67% พื้นที่สีเขียว 309 ไร่ คิดเป็น 10.08% และพื้นที่สาธารณูปโภค 443 ไร่ คิดเป็น 14.36% 

158082083763

สำหรับมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการจะมี 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินลงทุนซื้อที่ดินในขั้นต้น 3,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งมีแผนที่จะวางระบบ 5จี ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาและออกแบบระบบ เนื่องจากเทคโนโลยี 5 จี มีความจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ในการการจัดทำระบบสมาร์ทแฟคตอรี่ สมาร์ทซิตี้

“ในเฟสที่ 1 ขายพื้นที่ไปแล้วบางส่วน และปีนี้ตั้งเป้ามียอดขาย 70-80% ของเฟสที่ 1 โดยผู้ประกอบการจีนเป็นกลุ่มที่สนใจมาลงทุนมากที่สุด ส่วนนักลงทุนชาติอื่นก็สนใจมาก เช่น ญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะเกิดการลงทุนตั้งโรงงานทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มไม่ต่ำกว่า 20,000 อัตรา”

โดยขณะนี้นักลงทุนที่เข้ามาเจรจาจะเป็นโรงงานผลิตอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ โรงงานผลิตอุปกรณ์การบิน โรงงานผลิตอาหารฟังชั่นนอลเพื่อสุขภาพ โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ และโรงงานผลิตวัสดุเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชั้นสูงที่จะมาลงทุนในอีอีซี

รวมทั้งในอนาคตมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะร่วมลงทุนกับผู้เชี่ยวชาญด้านโรงไฟฟ้า และอาจจะมีมากกว่า 2 ราย ขณะนี้ก็ได้มีหลายรายเข้ามาหารือ โดยคาดว่าจะทยอยสร้างเป็นระยะทั้งหมด 3 โรง มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 100 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งแรกจะมีกำลังผลิต 38 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนเมกะวัตต์ 1.4-1.5 ล้านดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะป้อนให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลัก และคาดว่าภายในปี 2563 จะเห็นความชัดเจนการลงทุนโรงไฟฟ้า

ส่วนสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนา มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อแผนการลงทุนของจีน เพราะได้เจรจาไปก่อนหน้านี้แล้ว และแม้ว่าจะเดินทางมาไทยไม่ได้ ก็ติดต่อประสานงานกันโดยตลอด คาดหว่าสถานการระบาดของโรคระบาดจะจบภายใน 1-2 เดือน หลังจากนั้นการลงทุนจีนก็จะกลับมาเหมือนเดิม 

ในขณะที่การไปดึงดูดการลงทุนในจีน บริษัทฯได้ตั้งสำนักงานที่จีน พนักงานส่วนใหญ่ก็เป็นคนจีน ทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ทั่วถึง รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี เป็นการร่วมทุนกับบริษัทกว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป ที่เป็นบริษัทใหญ่ของจีน ทำให้เป็นแรงดึงดูดสำคัญให้นักลงทุนจีนมั่นใจมาตั้งฐานการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้

“ขณะนี้ต่างชาติโดยเฉพาะจีนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยมาก ซึ่งแม้ว่าเวียดนามเศรษฐกิจจะเติบโตเร็วและมีประชากรเกือบ 100 ล้านคน มีการอนุมัติทำธุรกิจที่รวดเร็ว แต่ไทยได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐาน และมีสิทธิประโยชน์ดึงดูดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ดีมาก ทำให้จีนยังมองไทยเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญ" 

ในขณะที่รัฐบาลจีนยังเร่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจีนไปลงทุนต่างประเทศ ทำให้นักลงทุนจีนออกมาต่างประเทศเร็วยิ่งขึ้น แต่ถ้าไทยปรับปรุงความรวดเร็วในการพิจารณาสิทธิประโยชน์การลงทุนและการอนุมัติใบอนุญาตทำธุรกิจจะยิ่งทำให้ไทยมีความโดดเด่นมากขึ้น

นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ยังมีระบบสาธารณูปโภคที่สมบูรณ์ มีระบบไฟฟ้าที่มั่นคงจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีระบบน้ำประปาที่ผลิตน้ำประปาได้ 14,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มาจากบ่อน้ำในโครงการและน้ำจากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ โดยมีบ่อสำรองน้ำในโครงการทั้งหมด 8 บ่อ มีปริมาณน้ำดิบ 495,515 ลูกบาศก์เมตร มีระบบบำบัดน้ำเสียมีกำลังบำบัด 12,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน 

รวมทั้งมีระบบถนนสานประธานกว้าง 50 เมตร 6 เสน ถนนสายรองกว่า 30 เมตร 4 เลน มีพื้นที่จอดรถส่วนกลาง 10 ไร่ มีระบบการสื่อสารเครือข่ายโทรคมนาคมความเร็วสูงและระบบไฟเบอร์ออฟติก มีระบบหัวจ่ายดับเพลิงกระจายทั่วทั้งโครงการ และมีท่อก๊าซธรรมชาติของ ปตท. วิ่งผ่านกลางและรอบโครงการ 3 สาย