'มะเร็ง' ใครว่าร้าย เป็นได้ ก็หายได้

'มะเร็ง' ใครว่าร้าย เป็นได้ ก็หายได้

มะเร็ง โรคร้ายที่ไม่มีใครอยากได้ยิน เพราะเชื่อว่าหากเป็นแล้วจะทำให้เสียชีวิต แต่ปัจจุบันนวัตกรรมในการรักษาก้าวหน้าไปอย่างมาก เป็นการรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน หรือการรักษามะเร็งด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งจะช่วยให้อัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น

"เสียใจด้วยครับ...คุณเป็นโรคมะเร็ง" เป็นประโยคหนึ่งที่ไม่มีใครอยากได้ยินที่สุดในชีวิต คนที่เคยมีบุคลิกที่ดูร่าเริงสดใสกลับหม่นหมอง กลายเป็นคนละคนจากที่เคย เพราะคนเหล่านี้มักเชื่อว่าเป็นโรคที่อันตราย ที่เมื่อเป็นแล้วจะทำให้เสียชีวิต แต่จากสถิติกระทรวงสาธารณสุขไทยพบว่า โรคมะเร็ง ถือเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด โดยผู้เสียชีวิตสูงถึงกว่า 67,000 คนต่อปี หรืออาจกล่าวได้ว่า ทุกๆ หนึ่งชั่วโมง จะมีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเฉลี่ย 7.7 คน หรืออาจต้องเจ็บปวดจากผลข้างเคียงจากการรักษาที่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง

การรักษาโรคมะเร็งทั่วไปมักคุ้นเคยกับวิธีการผ่าตัด, เคมีบำบัด หรือฉายรังสี ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงมากน้อยแตกต่างกันไป แต่นวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก ทั้งยังช่วยให้อัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น จากผลการศึกษา Concord-3 โดยคณะสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนลอนดอนระบุว่า ในช่วงการศึกษา ปี ค.ศ.2000-2014 มีผู้ป่วยมะเร็งที่สามารถดำรงชีวิตได้นานมากกว่า 5 ปีเพิ่มขึ้น 5% ก่อนปี ค.ศ.2000 โดยเฉพาะ "มะเร็งปอด" ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย เพราะนวัตกรรมการรักษาในปัจจุบันสามารถลดผลกระทบจากการฉายรังสีที่อาจทำลายเซลล์ข้างเคียงได้ดีขึ้น จนกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีและดำรงชีวิตยาวนานขึ้น

ในปัจจุบันมีการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน (Targeted Proton Therapy) เป็นการรักษาโดยให้ปริมาณรังสีที่สม่ำเสมอ ครอบคลุมเป้ารักษา โดยบริเวณนอกลำรังสี จะได้รับรังสีน้อยที่สุดหรือไม่ได้รับเลย ทำให้ฆ่าเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง และช่วยลดผลข้างเคียงสู่เซลล์อื่นๆ จากการฉายรังสีมากกว่าแบบโฟตอนที่เป็นรังสีดั้งเดิม โดยเฉพาะตำแหน่งมะเร็งที่ต้องใช้ความแม่นยำสูง เช่น มะเร็งสมองที่ก้อนมะเร็งอาจอยู่ใกล้อวัยวะสำคัญอื่นๆ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดตั้งศูนย์โปรตอน สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งด้วยโปรตอนแห่งแรกในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะเปิดบริการให้กับประชาชนในเดือน ก.ย.2563

นอกจากนี้ การรักษามะเร็งด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นอีกนวัตกรรมการรักษามะเร็ง โดยที่ใช้ยาที่ผลิตขึ้นจากเซลล์และฉีดให้ผู้ป่วย เพื่อทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นผ่านกระบวนการพิเศษ ทำให้มีความสามารถในการจดจำ และทำลายเซลล์มะเร็งที่เป็นเป้าหมายได้อย่างจำเพาะ โดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติในร่างกาย ซึ่งจากผลการรักษาปัจจุบันจะได้ผลดีกับการรักษามะเร็งผิวหนัง Melanoma, ปอด, ศีรษะและคอ เป็นต้น

นอกเหนือจากนวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ วิธีการตรวจหาโรคแต่เนิ่นๆ เพื่อเตรียมพร้อมต่อการป้องกันหรือรักษามะเร็งนั้น ก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยต่างประเทศมีการใช้ เทคโนโลยีใหม่อย่างการตรวจยีน (Genetic Cancer Screening) มาวิเคราะห์โอกาส หรือตรวจให้พบว่าเป็นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเหมาะกับคนในครอบครัวสายเลือดเดียวกันที่เป็นมะเร็ง และอาจเป็นหลายชนิด โดยไม่ต้องรอให้ร่างกายบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็ง หากเรารู้ตัวว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง การป้องกัน หรือการวางแผนรักษาจะง่ายและมีโอกาสหายขาดสูง ซึ่งนักแสดงระดับโลกอย่างแองเจลลิน่า โจลี่ ก็ตัดสินใจตัดและปลูกถ่ายเต้านมใหม่ หลังพบว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งถึง 87%

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ ย่อมตามมาด้วยค่ารักษาที่แพงขึ้นกว่าวิธีการดั้งเดิม เช่น การรักษาด้วยรังสีโปรตอนอาจต้องใช้รักษาร่วมกับวิธีการรักษาอื่นๆ เช่น การให้เคมีบำบัด หรือการฉายรังสีแบบปริมาณสูงเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายประมาณกว่า 1 ล้านบาท หรือยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่ในปัจจุบันเรายังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีค่าใช้จ่ายราว 2 แสนบาท ต่อ 1 วัคซีน

ซึ่งเฉลี่ยแล้วหากรักษาราว 2 ปี อาจต้องมีค่าใช้จ่ายราว 7 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง โดยวิธีการรักษาเหล่านี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือประกัน สังคมไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด แต่ การทำประกันสุขภาพ หรือแบบประกันโรคร้ายแรง หรือประกันมะเร็ง จะช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายเหล่านี้ อีกทั้งยังช่วยให้สามารถเข้า ถึงนวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ ได้ทันท่วงที และช่วยให้เพิ่มอัตราการรอดชีวิตหรือเพิ่มโอกาสหายจากมะเร็งได้มากขึ้น

จะเห็นว่านวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งที่ทันสมัยมากขึ้นในปัจจุบัน โรคมะเร็งอาจไม่ใช่โรคร้ายที่เราคิดเหมือนในอดีต ถึงเป็นได้ก็หายง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี การวางแผนเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง นอกเหนือจากเราต้องตระหนักรู้เบื้องต้นว่าการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันจะรักษาได้อย่างไร การวางแผนค่าใช้จ่าย เช่น การทำประกันสุขภาพที่ช่วยบรรเทาค่าใช้จ่าย การรักษาหรือกำหนดวงเงินผลประโยชน์เพื่อการรักษาได้ชัดเจน อีกทั้งยังช่วยเปิดโอกาสให้เราสามารถเข้าถึงวิธีการรักษาใหม่ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งทำให้เพิ่มกำลังใจให้กับผู้ป่วย เพื่อเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็งและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติต่อไปอีกด้วย

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดยศิวกร ทองหล่อ AFPTTM Wealth Manager