เปิดเงื่อนไข 'คลินิกแก้หนี้ 2563' หนี้บัตรเครดิต เข้าร่วมได้ไหม?

เปิดเงื่อนไข 'คลินิกแก้หนี้ 2563' หนี้บัตรเครดิต เข้าร่วมได้ไหม?

ไขข้อสงสัยให้กระจ่าง กับคลินิกแก้หนี้ทั้ง 3 เฟส เปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ขณะที่เฟส 3 ที่เริ่มในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา มีกฎเกณฑ์เพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร? พร้อมตอบคำถามคนไทยเป็นหนี้มากแค่ไหน?

ใครมีบัตรเครดิตบ้าง หรือใครคิดจะทำบัตรเครดิต ยกมือขึ้นแสดงตัวกันหน่อย ไม่ใช่อะไรหรอก เพียงแค่อยากจะบอกว่า ก่อนจะทำ ต้องคิดให้ดีว่า ตัวเองมีวินัยทางการเงินมากน้อยแค่ไหน เพราะหากใช้จนเพลินมือแล้ว อาจต้องมานั่งเครียดทีหลังว่าจะเอาเงินที่ไหน ไปจ่ายหนี้บัตรเครดิตดี แล้วพอหมักหมมมากขึ้นเรื่อยๆ จะกลายเป็น "หนี้เสีย" (NPL) และอาจติดแบล็กลิสต์ของสถาบันการเงินได้

แต่อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ปล่อยโปรเจคคลินิกแก้หนี้ออกมาช่วยแล้ว และเป็นระยะที่ 3 แต่โครงการนี้ยังรวมถึงหนี้เสียในกลุ่มอื่นๆ ด้วย

หนี้เสีย / หนี้ด้อยคุณภาพ / NPL
=
ไม่ได้จ่ายหนี้ให้ธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ตามที่กำหนดไว้ ติดต่อกันมากกว่า 90 วันขึ้นไป (ไม่รวมหนี้นอกระบบ)

  • คลินิกรอบใหม่ เฟส 3 เริ่ม 1 ..2563

อย่างที่กล่าวตั้งแต่เริ่มต้นว่า ตอนนี้โครงการคลินิกแก้หนี้ เป็นระยะที่ 3 แล้ว ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 โดยรอบนี้ก็มีการปรับเกณฑ์เพิ่มเติม โดยขยายขอบเขตการพิจารณาอีก 3 เกณฑ์ จากมีเจ้าหนี้ 2 แห่งขึ้นไป เป็นมีเจ้าหนี้เพียงรายเดียว ก็สามารถสมัครเข้าร่วมได้ รวมถึงลูกหนี้ที่อยู่ในกระบวนการของศาลและคำพิพากษา คือคดีแดง และคดีดำนั้น ก็สามารถเข้าโครงการได้ อีกทั้งขยายระยะเวลาการก่อหนี้เสียเป็น ก่อน 1 มกราคม 2563

เพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์เดิม จากโครงการในระยะที่ 1 และ 2 (ที่จะไปอธิบายด้านล่างบทความนี้) ได้แก่ ต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ อายุไม่เกิน 65 ปี และแน่นอนว่าต้องมี "หนี้เสีย" (NPL) อย่างบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน จะมีสักกี่ใบก็สมัครเข้าร่วมได้ แต่ต้องมีหนี้รวมทั้งหมดไม่เกิน 2 ล้านบาท และต้องมีเจ้าหนี้จาก 35 แห่ง ที่เป็นธนาคารและผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non-bank เท่านั้น 

สิ่งสำคัญอีกอย่าง นอกจากการเตรียมเอกสารส่วนตัวแล้ว ต้องตรวจสอบข้อมูลภาระหนี้ทั้งหมดจากเครดิตบูโร หรือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรืออาจไปขอที่ธนาคาร หรือ บสส. ก่อน ตรงนี้มีค่าธรรมเนียมต่อครั้ง ราวๆ ไม่เกิน 150 บาท เพราะต้องเอาไปใช้ยื่นในการสมัครด้วย

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปทบอกว่า ในระยะที่ 3 หรือเฟส 3 นี้ ยังมีธนาคารเจ้าหนี้เข้าร่วมเพิ่มอีก 1 แห่ง ก็คือ ธนาคารออมสิน ทำให้รวมแล้วมีทั้งธนาคารและนอนแบงก์รวมกันทั้งหมด 35 แห่ง โดย ธปท.ตั้งเป้าเห็นลูกหนี้เข้าร่วมโครงการ และเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้สะสมในปี 2563 กว่า 8,000 ราย ในส่วนนี้จะเป็นลูกหนี้ใหม่กว่า 5,000 ราย

158081551128

  • เช็คจบที่เดียว 'ธนาคาร-นอนแบงก์' เข้าร่วมบ้าง?

เปิดดูชัดๆ ขณะนี้ 16 ธนาคารที่เข้าร่วมคลิกนิกแก้หนี้มีอะไรบ้าง?

1.ธนาคารกสิกรไทย

2.ธนาคารไทยพาณิชย์

3.ธนาคารกรุงไทย

4.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 

5.ธนาคารทหารไทย

6.ธนาคารกรุงเทพ

7.ธนาคารธนชาต

8.ธนาคารยูโอบี

9.ธนาคารทิสโก้

10.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

11.ธนาคารไอซีบีซี (ไทย)

12.ธนาคารเกียรตินาคิน

13.ธนาคารแลนด์แอนด์เฮาส์

14.ธนาคารซิตี้แบงค์ เอ็น.เอ.

15.ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย

16.ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย)

ส่วนผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non-bank ปัจจุบันมีทั้งหมด 19 แห่ง ดังนี้

1.บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด

2.บริษัท เจนเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด

3.บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด

4.บริษัท เทสโก้ คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด

5.บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์(ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

6.บริษัท อีซี่ บาย จำกัด (มหาชน)

7.บริษัท ซิตี้คอร์ปลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

8.บริษัท พรอมิส (ประเทศไทย) จำกัด

9.บริษัท ซัมมิท แคปปิตอล จำกัด

10.บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน)

11.บริษัท ไอทีทีพี จำกัด

12.บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)

13.บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน)

14.บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด

15.บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน)

16.บริษัท จี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)

17.บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)

18.บริษัท นครหลวง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)

19.บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

  • แบกหนี้มาหนัก ต้องสมัครที่ไหน?

จากคุณสมบัติที่พูดถึงข้างบนแล้ว ใครคิดว่าตรงกับตัวเองสุดๆ และสนใจจะเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ ต้องสมัครเข้าไป สะดวกแบบไหนก็เลือกเอา เพราะทำได้ 5 วิธี คือ

1.เปิดไปที่เว็บไซต์ www.debtclinicbysam หรือ www.คลินิกแก้หนี้.com

2.ผ่านทางไลน์ ค้นหาไอดี debtclinicbysam

3.เดินเข้าไปที่สำนักงานโครงการเลย อาคารเล้าเป้งง้วน 1 ชั้น 12 ซอยเฉยพ่วง ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพ

4.หากอยู่ต่างจังหวัด ก็สามารถไปที่สาขาได้ มี 4 สาขา คือ สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น พิษณุโลก และเชียงใหม่

5.โทรศัพท์ไปที่ Call Center 0-2610-2266 ซึ่งจากทั้งหมดทั้งมวลนั้น เมื่อส่งข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ก็รอประมาณ 7-10 วันทำการ เจ้าหน้าที่ก็จะติดต่อกลับไป

  • ย้อนดูคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 1-2

ใช่แล้ว นี่ไม่ใช่โปรเจคใหม่อะไร เพราะว่ามีมาเกือบๆ 2 ปีแล้ว หรือตั้งแต่กลางปี 2560 โดยเป็นการร่วมมือของแบงก์ชาติ กับสถาบันการเงินสมาชิก บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) หรือ บสส. ที่จะเข้ามาเป็นตัวกลาง ระหว่างเจ้าหนี้ และลูกหนี้

แน่นอนว่า โปรเจคนี้เป็นประโยชน์กับลูกหนี้แน่ๆ เพราะว่าจะช่วยให้ลูกหนี้จ่ายแค่เงินต้นที่ค้างไว้ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราผ่อนปรนไม่เกิน 7% ตามช่วงของรายได้ โดยระยะเวลาในการผ่อนชำระไม่เกิน 10 ปี

สำหรับโครงการในปี 2560 ซึ่งเป็นระยะที่ 1 ในการดำเนินการโปรเจคนี้ มีการปรับเกณฑ์เพื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้ได้หลากหลายมากขึ้น หากเปรียบเทียบเกณฑ์การพิจาณาหลักๆ ก็คงยังเหมือนเดิม คือ ต้องเป็นบุคคลธรรมดา ที่มีเงินเดือนประจำ อายุไม่เกิน 65 ปี มียอดหนี้เงินต้นค้างชำระรวมไม่เกิน 2 ล้านบาท รวมถึงต้องไม่ถูกฟ้องดำเนินคดี

แต่มีการเปลี่ยนช่วงเวลาของการมีหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ค้างเกินกว่า 3 เดือน กับธนาคารตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป จากเกณฑ์เดิมต้องมีหนี้ก่อน 1 พฤษภาคม 2560 เป็นเกณฑ์ใหม่ ต้องมีหนี้ก่อน 1 เมษายน 2561

โครงการนี้ก็มีมาเรื่อยๆ จนเกิดเป็นโครงการระยะที่ 2 เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 15 พฤษภาคม 2562 ก็ปรับเกณฑ์พิจารณาเพิ่มขึ้นมานิดหน่อย ไม่ว่าจะเป็นการขยายวงขอบเขตของหนี้ โดยครั้งนี้รวมหนี้จากบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non-bank ด้วยอีก 19 แห่ง เพราะว่าที่ผ่านมาระยะที่ 1 พบลูกหนี้มีหนี้จากส่วนนี้ถึง 80% 

นอกจากนี้ได้เปลี่ยนจากบุคคลธรรมดาที่มีเงินเดือนประจำ มาเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ และขยายเงื่อนไขเป็น ต้องไม่ถูกดำเนินคดี หรือถูกดำเนินคดีแต่ยังไม่มีคำพิพากษา อีกทั้งต้องเป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารหรือ Non-bank ที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2562

ทั้งนี้ นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. บอกว่า ธันวาคม 2562 โครงการนี้สามารถช่วยประชาชนแก้หนี้บัตรไปแล้ว 3,194 ราย ครอบคลุมบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดกว่า 13,000 ใบ มีหนี้บัตรเฉลี่ยรายละ 3 ใบ มูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 234,843 บาท ในจำนวนนี้ 72 รายชำระหนี้หมดแล้ว สามารถหลุดจากวงจรหนี้บัตร 

  • คนไทยเป็นหนี้เยอะแค่ไหน?

อ่านมาถึงตรงนี้ เกิดความสงสัยว่า จริงๆ แล้วคนไทยเป็นหนี้มากน้อยแค่ไหนกันเชียว ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจและสรุปออกมาแล้วว่า ปี 2562 ที่ผ่านมา คนไทยมีหนี้ครัวเรือน 340,053 ล้านบาท ต่อ 1 ครัวเรือน เป็นทั้งหนี้ในระบบ ที่มีสัดส่วนถึง 59.2% ซึ่งปัจจุบันคนไทยต้องผ่อนชำระ หรือจ่ายตกเดือนละ 16,960 บาท และหนี้นอกระบบ ในไทยก็มีไม่น้อย 40.8% ซึ่งคนไทยที่เป็นหนี้ในรูปแบบนี้ ต้องจ่ายต่อเดือนกว่า 5,222 บาท

ขณะที่ ธปท. บอกว่า คนไทยเป็นหนี้เยอะขึ้น โดยมีการเปรียบเทียบประชากรที่มีหนี้ พบว่าปี 2552 คนไทยที่มีหนี้ราว 20% เฉลี่ยแล้วเป็นหนี้ต่อครัวเรือนประมาณ 70,000 บาท แต่พอมาปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 30% และเฉลี่ยเป็นหนี้ 150,000 บาท หากนับเป็นจำนวนคนแล้วมีทั้งหมด 21 ล้านคน และในจำนวนนี้ 3 ล้านคน มีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือที่เรียกว่าหนี้เสียนั่งเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้คนเป็นหนี้เสียน้อยลง และคงต้องรอบคอบระมัดระวังไม่ให้เกิดหนี้เสียที่เพิ่มมากขึ้นจากการช่วยเหลือของภาครัฐนี้

ที่มา :

bot , .debtclinicbysam , bangkokbiznews , bot(2)