'เที่ยวเชียงราย' สไตล์ใหม่ เมื่อเรือนจำกลายเป็นที่เที่ยวเชิงเกษตร!

'เที่ยวเชียงราย' สไตล์ใหม่ เมื่อเรือนจำกลายเป็นที่เที่ยวเชิงเกษตร!

ชวน "เที่ยวเชียงราย" ที่โครงการกำลังใจในพระดำริฯ สัมผัสกลิ่นอายธรรมชาติบนพื้นที่ที่โอบล้อมไปด้วยภูเขา ณ เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จ.เชียงราย พร้อมสนับสนุนการฝึกอาชีพและต่อยอดความรู้ให้ผู้ก้าวพลาดไม่หวนทำผิดซ้ำ

ใครที่มีโอกาสไป "เที่ยวเชียงราย" ลองแวะไปเช็กอินแหล่งท่องเที่ยวสไตล์ใหม่ที่คุณอาจไม่เคยรู้จักมาก่อนอย่าง "ศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จ.เชียงราย" ทำไมเรือนจำกลางถึงกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้? ชวนขาเที่ยวมาหาคำตอบไปพร้อมกัน...

ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก "เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง" ที่เที่ยวเชียงรายแห่งนี้กันสักนิด ที่นี่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ภายในเรือนจำมีการดำเนินงานโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในกระบวนการสร้างโอกาสการดำรงชีวิตของผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ สร้างทักษะการดำรงชีวิตและให้ความรู้ทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ก่อนที่จะพ้นโทษและไม่หวนมากลับมากระทำผิดอีก

  • จากเรือนจำสู่การเป็น "ที่เที่ยวเชียงราย"

เรือนจำชั่วคราวดอยฮางแห่งนี้ ถือเป็นเรือนจำชั่วคราวแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เมื่อย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2553 เรือนจำแห่งนี้เป็น 1 ใน 5 เรือนจำนำร่อง ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีพระราชดําริในการน้อมนําหลักปรัชญาเศรฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้ในกระบวนการสร้างโอกาสการดำรงชีวิตของผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “องค์กรพอเพียง” ในมิติที่ 3 คือ คืนคนดีสู่สังคม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 พระองค์ทรงแนะให้นําแนวทาง “ศาสตร์พระราชา” มาเป็นหลักในการจัดทําแนวทางปฏิบัติของโครงการกําลังใจในพระดําริฯ และการปรับใช้กับผู้ต้องขัง ณ เรือนจําชั่วคราวดอยฮาง จังหวัดเชียงราย และจากการติดตามผลการดำเนินการพบว่ากระบวนการดังกล่าวเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อตัวผู้ต้องขัง จึงได้มีการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และอธิบดีกรมคุมประพฤติ ได้พิจารณาร่วมกันเห็นว่าเรือนจําชั่วคราวดอยฮางมีความพร้อมทั้งลักษณะกายภาพ และทรัพยากรในด้านการบริหารจัดการ

158080498234

จึงเห็นควรที่จะพัฒนาเรือนจําชั่วคราวดอยฮางให้เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรดอยฮาง จึงได้ดำเนินการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปเที่ยวชมบรรยากาศร่มรื่นและอากาศบริสุทธิ์ พร้อมเรียนรู้การทำเกษตรพอเพียงบนพื้นที่กว่า 75 ไร่ 2 งาน ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้

ที่นี่จัดสรรเป็นพื้นที่เรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร 35 ไร่ โดยแบ่งเป็นโซนต่างๆ มีทั้งหมดจำนวน 4 โซน โซนแรกที่น่าดึงดูดใจนักท่องเที่ยวและมองเห็นโดดเด่นมาแต่ไกลก็คือ โซนนั่งพักผ่อนแบบชิลๆ บนบ้านต้นไม้ สามารถสั่งกาแฟจากร้าน Inspire by Princess ซึ่งตั้งอยู่ภายในเรือนจำแห่งนี้ แล้วนำขึ้นไปนั่งดื่มพร้อมชมวิวสวยๆ บนต้นไม้ได้ด้วย

ส่วนวิวทิวทัศน์โดยรอบก็จะมองเห็นแปลงนาอินทรีย์และสวนปลูกผลไม้ เช่น องุ่นดำ สตรอเบอร์รี่ และเมลอน ถัดไปใกล้ๆ กันก็จะมองเห็นแปลงปลูกพืชสมุนไพร แปลงมะนาว บ่อเลี้ยงปลาพอเพียง แปลงสาธิตการเลี้ยงและผลิตมูลไส้เดือน และการผลิตปุ๋ยคอก ฯลฯ

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้เพราะมีอีกโซนที่น่าสนใจคือ โซนฝึกอาชีพเกี่ยวกับการนวดไทยแผนโบราณ เช่น การนวดย่ำขาง และการตอกเส้นตามแบบฉบับล้านนาโดยผู้ก้าวพลาด เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่อยากนวดคลายเส้นหรือผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น

158080498376

158080498487

  • ฝึกอาชีพ สร้างรายได้ คืนชีวิตให้ผู้ก้าวพลาด

ภายในเรือนจำจะแบ่งผู้ต้องขังไปดูแลในพื้นที่ต่างๆ เช่น พื้นที่ปลูกผัก ผลไม้ สวนยางพารา เลี้ยงไก่ปลูกข้าวและผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ เมื่อได้ผลผลิตจะเอามาวางจำหน่ายภายใน หรือขายส่งให้พ่อค้าแม่ค้าในละแวกนั้นที่สามารถเข้ามาซื้อผลผลิตเอาไปจำหน่ายต่อ สุดท้ายกำไรที่ได้จะคืนสู่ผู้ต้องขัง  

ภวัต พลวัฒน์ หัวหน้าเรือนจำชั่วคราวดอยฮางเล่าให้ฟังว่า เรือนจำชั่วคราวดอยฮางมีลักษณะเดียวกับทัณฑสถานเปิด ควบคุมผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษให้มาฝึกวิชาชีพด้านการเกษตรปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ โดยจะรับผู้ต้องขังกำหนดโทษไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน ต่างจากทัณฑสถานเปิดแห่งอื่นๆ ที่รับผู้ต้องขังไม่เกิน 7 ปี แต่จะมีระบบการจัดการฝึกวิชาชีพไปในแนวทางเดียวกัน 

“การฝึกวิชาชีพส่วนใหญ่เป็นการทำการเกษตร เพราะอย่างแรกมีพื้นที่เยอะ และผู้ต้องขังที่ถูกคัดเลือกมามีพื้นฐานการทำการเกษตรกรรม สิ่งที่เพิ่มมาอย่างการทำปุ๋ยชีวภาพ เรื่องของพืชผักสวนครัว และการอบรมการประกอบวิชาชีพระยะสั้น” หัวหน้าเรือนจำอธิบาย

158080498417

การฝึกวิชาชีพของผู้ต้องขังจะแบ่งเป็น 10 กองงาน เช่น งานปลูกผัก ปลูกผลไม้ งานทำปุ๋ย งานสวนยาง หรืองานเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น กำไรที่ได้จากงานเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะส่งให้เรือนจำกลาง ฝ่ายฝึกวิชาชีพ และอีกส่วนที่เหลือจะแบ่งเข้ามาเป็นเงินปันผลของผู้ต้องขัง

หัวหน้าเรือนจำเล่าต่ออีกว่า ผู้ต้องขังทุกคนมีรายได้เพราะว่ามีงานทำ คนทำงานก็ย่อมจะมีรายได้ตามมา โดยจะจ่ายเป็นเงินปันผล 2 เดือนต่อหนึ่งครั้ง ผู้ต้องขังจะมีรายได้ 50% ของกำไรที่ได้จากการขายสินค้า ซึ่งปันผลแต่ละรอบก็จะได้เงินประมาณหลักร้อยบาท รายได้ของผู้ต้องขังจะไม่เท่ากัน ต้องดูจากผลคะแนนของแต่ละคน โดยคะแนนนั้นได้มาจากการมีส่วนร่วมของงานต่างๆ (คะแนนสูงสุดอยู่ที่ 12 คะแนน)

ปัจจุบันเรือนจำชั่วคราวดอยฮางมีผู้ต้องขัง 159 คน (พื้นที่นี้สามารถรองรับได้ทั้งหมด 200 คน) หนึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการกำลังใจในพระราชดำริฯ ซึ่งรับแค่รุ่นละ 50 คน โดยในปีนี้เป็นรุ่นที่ 11 แล้ว เกณฑ์การคัดเลือกหลักจะเลือกจากผู้ต้องขังที่รับโทษไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน และโครงการกำลังใจในพระราชดำริฯ กำหนดโทษไม่เกิน 5 ปี เมื่อผ่านการฝึกอบรมจากโครงการนี้แล้ว ทางเรือนจำจะพักโทษให้ 

158080498458

  • ทำผิดแต่คิดแก้ไข สังคมไทยพร้อมให้โอกาสแค่ไหน?

ในอีกมุมหนึ่ง ผู้ต้องขังบางคนเมื่อพ้นโทษไปแล้วก็กลับมาทำความผิดซ้ำอีกตามที่พบเห็นในข่าวอยู่เรื่อยๆ ทำให้มีคำถามตามมาว่า ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนั้น? คำตอบคือ ส่วนใหญ่ผู้ที่พ้นโทษออกไป มักจะถูกตอกย้ำด้วยคำพูดดูถูก โดนปฏิเสธการจ้างงาน ทำให้ไม่มีรายได้ จนไม่สามารถกลับไปยืนในสังคมได้ กลายเป็นว่าเขาไม่มีทางเลือกอื่นอีกนอกจากกลับไปทำผิดซ้ำๆ และเข้าคุกอีกตามเคย แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้พ้นโทษไม่น้อยที่สามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อย่างปกติ อาจเป็นเพราะแรงสนับสนุนบางอย่างที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้น กล้าที่จะเผชิญหน้ากับสังคม ใช้ชีวิตได้อย่างอิสระอีกครั้ง 

หนึ่งในผู้พ้นโทษที่เพิ่งจะออกจากเรือนจำชั่วคราวได้ 3 วัน เล่าประสบการณ์ตรงของเขาให้ฟังว่า ผู้ต้องขังที่จะมาอยู่ที่เรือนจำเปิดได้ ต้องเป็นผู้ที่ทำความผิดครั้งแรก ซึ่งการได้ออกมาจากเรือนจำเป็นความโชคดีเหมือนถูกหวย เพราะบรรยากาศข้างนอกเรือนจำดีกว่าข้างในมาก ทั้งยังได้เจอพ่อแม่พี่น้อง สามารถคุยและกอดญาติๆ ที่มาเยี่ยมได้ แต่ข้างในเรือนจำนั้นไม่สามารถแบบนี้ทำได้ ได้แค่คุยผ่านโทรศัพท์เท่านั้น 

158080498347

ผู้พ้นโทษรายนี้ยังบอกอีกว่า โครงการกำลังใจในพระราชดำริฯ สอนอาชีพและให้ความรู้กับเขาอย่างมากมาย โดยเฉพาะความรู้เรื่อง "การเลี้ยงหมูหลุม" ที่เขาสนใจเป็นพิเศษเพราะว่าตัวเขาเองมีทั้งสวนผลไม้และฟาร์มหมูอยู่ที่บ้าน การเลี้ยงหมูหลุมจึงเป็นความรู้ใหม่ที่สามารถเอาไปต่อยอดได้ ส่วนตัวไม่คิดจะกลับมาที่นี่อีกแน่นอน ตั้งปณิธานไว้ว่าจะไม่ทำผิดพลาด เพราะตระหนักรู้แล้วว่าถ้าทำความผิดซ้ำอีกจะไม่ได้รับโอกาสให้มาอยู่เรือนจำเปิดได้อีกเลย

นอกจากโครงการกำลังใจในพระราชดำริฯ ที่เปิดโอกาสในการฝึกสอนวิชาชีพด้านเกษตรกรรมแล้ว ยังมีหน่วยงานภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนโครงการนี้ด้วย นั่นคือโครงการ “เงินติดล้อ นำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้” เป็นโครงการสำรวจความต้องการของผู้ก้าวพลาดและนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรอบรมในรูปแบบการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรม (activity-based learning) เพื่อให้การเรียนรู้ด้านการเงินเป็นเรื่องสนุกและเข้าใจง่าย โดยผ่าน 3 กิจกรรมด้านการสร้างอาชีพ ได้แก่ การให้ความรู้ทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพ การให้สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ และการสนับสนุนผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากกลุ่มผู้ก้าวพลาด

พุฒิพงศ์ ภักดีพิพัฒน์กุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสื่อสารสาขาและพัฒนาศักยภาพผู้นำฝ่ายขายบริษัท เงินติดล้อ จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการฯ ข้างต้นว่า ปัญหาของผู้ก้าวพลาดบางกลุ่มที่มีการกระทำความผิดซ้ำเรื่อยๆ ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ มีหลายองค์กรที่อยากช่วยให้คนดีกลับคืนสู่สังคม ทำให้ทางองค์กรกลับมาตั้งคำถามที่ว่า จะนำพวกเขากลับคืนสู่สังคมได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคงได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของการสร้างกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และอยู่รอดในสังคมได้

158080498347_1

“ผู้ต้องขังได้รับความรู้มากมายเกี่ยวกับการทำงานเกษตร วิชาชีพหัตถกรรม พวกเขารู้แค่ว่าปลูกผักยังไงให้ผลผลิตที่ดี ทำขนมอย่างไรให้อร่อย แต่ถามว่าในชีวิตจริงๆ มันไม่ใช่แค่นั้น ที่จำเป็นต้องรู้อีกอย่างคือ การขายอย่างไรให้ได้กำไร? ทำแล้วคุ้มกับต้นทุนการผลิตหรือไม่? เมื่อเรามีความรู้เรื่องเงินก็อยากมาแบ่งปันให้กับผู้ก้าวพลาดนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง” พุฒิพงศ์ กล่าว 

โครงการของภาคเอกชนที่ได้เข้ามาช่วยเหลือครั้งนี้ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะช่วยให้ผู้พ้นโทษสามารถใช้ชีวิตได้อยากปกติสุขอีกครั้ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมยังไม่มีการยอมรับคนที่เคยติดคุก เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน เพื่อให้คนที่เคยทำผิดได้มีโอกาสทำงานและสร้างรายได้เลี้ยงชีพให้กับตัวเอง ขณะเดียวกันสังคมควรเข้าใจและยอมรับ เพื่อไม่ให้ผู้พ้นโทษกระทำความผิดซ้ำอีก