4 ส่วนผสม สร้างความมั่งคั่ง

4 ส่วนผสม สร้างความมั่งคั่ง

4 แนวคิดสร้างความมั่งคั่ง ที่มากกว่าการพยายามทำงานให้เดือนเพิ่ม หรือโบนัสขึ้นเท่านั้น มีอะไรบ้างมาลองทำตามกัน

"การสร้างความมั่งคั่ง" เป็นคำที่หลายๆ คนได้ยินบ่อย และมักจะคิดว่ามันเป็นเรื่องของแนวทางในการเพิ่มพูนสินทรัพย์เงินทองให้เติบโตมากขึ้น แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ส่วนเดียวนะครับ จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายส่วนที่สำคัญที่เราอาจละเลยหรือมองข้ามไป ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมค่าใช้จ่าย การบริหารหนี้สิน และการบริหารความเสี่ยง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผมเชื่อว่าส่วนต่างๆ เหล่านี้ จะสามารถช่วยให้เราสร้างความมั่งคั่งได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามความมั่งคั่ง ไม่ได้แปลว่าเราจำเป็นต้องมีเงินเยอะเหมือนมหาเศรษฐี แต่ผมมองว่าเราควรถามตัวเอง ว่าเราพอใจที่จุดไหนเป็นลำดับแรก ดังนั้น ในวันนี้ผมจึงอยากจะมาแบ่งปันแนวคิดและรายละเอียดของแต่ละส่วนในการเสริมสร้างความมั่งคั่ง เพื่อเป็นไอเดียให้ท่านผู้อ่านได้นำไปปรับใช้กันครับ

  • สร้างรายได้

คนที่ร่ำรวยนั้น ไม่ใช่เพราะมีเงินมากในกระเป๋าอย่างเดียว หากแต่มีเงินไหลเข้ากระเป๋าอยู่ตลอดเวลา การสร้างรายได้ให้มากขึ้นเป็นสิ่งที่หลายคนพยายามขวนขวาย ด้วยการทำงานอย่างหนัก เพื่อให้มีเงินเดือนที่สูงขึ้นหรือเพื่อโบนัสที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีนะครับ แต่ถ้าหากคุณเกิดตกงาน หรือธุรกิจเดียวที่คุณทำอยู่ กำลังเจอกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาเหมือนกันปัจจุบันนี้ ช่องทางในการสร้างรายได้ของคุณจะสะดุดลงทันที ซึ่งมันจะดีกว่า หากเราสร้างรายได้ให้มากกว่าหนึ่งช่องทาง และถ้าเราลองสังเกตดีๆ จะพบว่ามหาเศรษฐีระดับโลกแทบทุกคน ไม่ยอมให้ความมั่งคั่งของเขาถูกกำหนด

"ความมั่งคั่งไม่ได้ แปลว่าเราจำเป็นต้องมีเงินเยอะเหมือนมหาเศรษฐี"

เช่น คุณธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือ เจริญโภคภัณฑ์ เจ้าตลาดธุรกิจการเกษตร อาหาร ค้าปลีก และโทรคมนาคม ที่เริ่มจากการสร้างฐานในประเทศไทยแล้วขยายการลงทุนไปค่อนโลก เพราะเขาไม่ยอมให้ความมั่งคั่งของเขาถูกกำหนดมาจากรายได้ หรือยอดขายเพียงช่องทางเดียว และจากเพียงประเทศเดียว จึงทำให้เขาสามารถสร้างความมั่งคั่งได้มาจนถึงทุกวันนี้

  • บริหารค่าใช้จ่าย

สิ่งหนึ่งที่สำคัญและควรทำควบคู่กับการหารายได้ นั่นก็คือการบริหารจัดการรายจ่าย โดยใจความสำคัญของหลักการดังกล่าวนั้นง่ายนิดเดียวครับ เพียงแค่จ่าย ให้น้อยกว่าที่ได้รับมาเท่านั้นเอง แต่ดูจะเป็นเรื่องที่หลายๆ คนทำได้จริงยากพอสมควรเลยนะครับ ลองดูกันแบบง่ายๆ โดยท่านผู้อ่านลองตอบคำถามผมดูนะครับว่า หากท่านผู้อ่านมีเวลาเพียง 10 นาที ในการคำนวณ ว่าปีนี้มีรายได้ทั้งหมดเท่าไร

ผมเชื่อว่า หลายท่านตอบได้ก่อนเวลาจะครบด้วยซ้ำ แต่กลับกันหากผมถามว่าลองช่วยคำนวณหารายจ่ายทั้งปีภายในระยะเวลาเท่ากัน ผมเชื่อแน่ว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงใช้เวลาเป็นชั่วโมงเลยทีเดียว ส่วนคนที่ตอบได้ทันเวลาต้องขอชื่นชมว่าเป็นคนที่มีวินัยทางการเงินสูง และมีการจดบัญชีที่สม่ำเสมอดีมากครับ

  • บริหารหนี้สิน

ถ้าให้นิยามหนทางสู่ความมั่งคั่งแบบกะทัดรัด ผมมองว่าคือการเพิ่มขนาดของสินทรัพย์ ซึ่งตามหลักสมการบัญชีเบื้องต้น ได้ให้ความหมายของสินทรัพย์ว่าคือส่วน ประกอบของทุนและหนี้สิน (Assets = Liabilities + Owners Equity) เมื่อคนเราเริ่มทำงานหรือสร้างธุรกิจจนเกิดรายได้ ขนาดของสินทรัพย์เราก็โตขึ้นเรื่อยๆ เป็นเงินทุนที่ไว้ให้เราบริหารจัดการว่าจะสะสมเงินออมหรือเปลี่ยนเงินออมเป็นสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ อย่างหุ้น กองทุนรวม ประกัน ชีวิต ที่ดิน เป็นต้น และสินทรัพย์บางอย่าง เช่น บ้าน มีราคาสูงและมีแนวโน้มที่จะแพงขึ้นในอนาคต บางทีหากเราต้องการซื้อด้วยเงินสดเต็มจำนวนอาจต้องใช้ระยะเวลาเก็บเงินอีกนาน ดังนั้นการบริหารจัดการหนี้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยคุณได้ 

  • บริหารความเสี่ยง

การบริหารจัดการความเสี่ยง คือ การกำหนดกลยุทธ์และหาวิธีลดโอกาส และผลกระทบของความเสี่ยงต่อสถานะทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นให้อยู่ในระดับที่เรายอมรับได้ สำหรับวิธีการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเตรียมกลไกการจัดการไว้แล้ว

โดยผมขอเสริมเพียงอย่างเดียวว่าในการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุด คือ การที่เรามีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เราลงทุนให้เป็นอย่างดี ลงทุนอย่างมีเหตุผล เหนืออารมณ์เท่านั้นครับ และอย่าละเลยความเสี่ยงที่ใกล้ตัวที่ผมมักจะแนะนำให้ เห็นความสำคัญเป็นลำดับแรกเสมอ นั่นคือความเสี่ยงภัยด้านบุคคล เช่น หากเรา

ซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวเสียชีวิตก่อนวัยอันควรหรือเจ็บป่วย ทำให้รายได้ประจำเกิดสะดุดแล้วจะเกิดปัญหาทางการเงินอย่างไรบ้าง สมาชิกที่เหลือสามารถดำรงชีวิต ได้โดยมีความมั่นคงทางการเงินไม่แตกต่าง จากเดิมหรือไม่ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญมาก แต่หลายท่านอาจจะลืมพิจารณา โดยความเสี่ยงประเภทนี้จะนิยมบริหาร โดยการถ่ายโอนความเสี่ยงไปที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ซึ่งปัจจุบันก็มีออกมาค่อนข้างหลากหลายชนิด และครอบคลุมความเสี่ยงด้านต่างๆ ครับ

จบไปแล้วกับส่วนต่างๆ ในการสร้างความมั่งคั่งที่ผมได้เรียบเรียงมานำเสนอ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะได้นำไปใช้เป็นไอเดีย ในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวท่านเองได้เป็นอย่างดีนะครับ แล้วกลับมาพบกันใหม่ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ