ขนส่งสาธารณะ, พระเอกคนใหม่ลดก๊าซเรือนกระจก I Green Pulse

ขนส่งสาธารณะ, พระเอกคนใหม่ลดก๊าซเรือนกระจก I Green Pulse

รัฐบาลคาดว่า ภาคการขนส่ง จะเป็นภาคส่วนถัดไปของประเทศไทยที่จะมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนและเป้าหมายที่ไทยมีพันธะผูกพันกับนานาประเทศ

ดร. รวีวรรณ ภูริเดข เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในการแถลงข่าวที่ ทส. วันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า ภาคการขนส่งจะเป็นภาคส่วนถัดไปของประเทศไทยที่จะมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนและเป้าหมายที่ไทยมีพันธะผูกพันกับนานาประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โดยที่ผ่านมา ภาคพลังงานเป็นภาคส่วนหลักที่ช่วยให้การลดก๊าซฯ ของประเทศเกินเป้าหมายคือ ได้ถึง 14% จากที่ตั้งเป้าที่ 7%

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะมีพันธะที่ต้องลดก๊าซฯ ให้ได้อีกถึง 20% ในปีนี้ และภาคขนส่งจะเป็นภาคส่วนสำคัญถัดไปที่จะช่วยทำให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่ถูกเร่งสร้างและเชื่อมโยงกันเป็นระบบมากขึ้น ดร.รวีวรรณกล่าว

 

​ประเทศไทย เป็นประเทศสมาชิกของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งมีพันธะกรณีกับนานาประเทศภายใต้อนุสัญญาดังกล่าวที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก

 

ที่ผ่านมา ประเทศไทยดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ(Nationally Appropriate Mitigation Action : NAMA)ภายในปี2563 และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด(Nationally DeterminedContribution: NDC) ภายใต้ข้อตกลงฉบับใหม่ของอนุสัญญาคือ Paris Agreement ภายในปี2573 โดยคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อปลายปี 2557 มีมติเห็นชอบกับการแสดงเจตจำนงการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศไทย (NAMA)โดยเสนอตัวเลขศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างร้อยละ 7-20 (25–73 ล้านตัน

คาร์บอนได้ออกไซด์) ในปี 2563 หรือในปีนี้

 

โดยภาคพลังงานและขนส่งดำเนินการเองในประเทศ (Domestically-supported NAMA) ที่ร้อยละ 7 และขอรับการสนับสนุนระหว่างประเทศ (Internationally-supported NAMA) อีกร้อยละ 13 โดยเทียบเคียงกับปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยพื้นฐาน(BAU)ที่ใช้ในปี 2548 ซึ่งเป็นปีตั้งต้นที่ประเทศไทยได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการต่อสำนักเลขาธิการ UNFCCC

 

ทั้งนี้ NAMA ในส่วนที่ดำเนินการเองภายในประเทศ ประกอบด้วยมาตรการหลักตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (2558-2579) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (2558-2579)

 

และระยะภายหลังปี 2563 ซึ่งจะดำเนินการภายใต้ NDC โดยกำหนดเป้าหมายที่ร้อยละ 20-25 จากสาขาพลังงานและขนส่ง สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรม และการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสีย

 

ขณะนี้ สผ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ NDC ฉบับปรับปรุง เพื่อศึกษาวิเคราะห์รวบรวมข้อมูลและยกร่างฉบับปรับปรุงให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของความตกลงปารีส

 

จนถึงปี 2560 ประเทศไทยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้จำนวน 51.72 ล้านตันหรือประมาณ ร้อยละ 14

 

ในเดือนมีนาคมนี้ ทส.จะร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคมและกระทรวงอุตสาหกรรมจัดงานแถลงความสำเร็จผลการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายNAMAและเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายไปสู่ NDC ต่อไปเพื่อประกาศความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ดำเนินการได้เองภายในประเทศ และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ทุกภาคส่วนทราบ