“พาณิชย์”ยันยูเคออกเบรทซิทไม่กระทบไทย

“พาณิชย์”ยันยูเคออกเบรทซิทไม่กระทบไทย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เร่งทำ เอฟทีเอ กับยูเค  หลังออกจากการเป็นสมาชิกอียู อย่างเป็นทางการ ย้ำ ไม่กระทบผู้ประกอบการไทย  เตรียมจัดสัมมนาให้ความรู้ด้านกฎระเบียบการทำการค้ากับยูเคมี.ค.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่สหราชอาณาจักร (ยูเค) ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการเมื่อเวลา  23.00 น  ของวันที่ 31 ม.ค.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งยูเคใช้เวลาดำเนินการกว่า 3 ปี นับจากวันที่ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559 จนสามารถบรรลุผลการเจรจาข้อตกลงการถอนตัว และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาของทั้งสองฝ่ายได้เป็นผลสำเร็จนั้น  นับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2563 จะเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 11 เดือน ที่ยูเคจะยังคงอยู่ภายใต้กฎระเบียบของอียูแต่ไม่มีสิทธิออกเสียงใดๆ โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องเร่งเจรจาจัดทำความตกลงทั้งด้านการค้าไปจนถึงความมั่นคงเพื่อให้การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่สะดุดเมื่อยูเคออกจากอียูอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 1 ม.ค. 2564

สำหรับผลกระทบต่อไทยจากกรณีที่ยูเคออกจากการเป็นสมาชิกอียู (เบร็กซิท) นั้น ประเมินว่า ไม่น่ามีผลกระทบมาก อาจมีเพียงความผันผวนอ่อนค่าลงของเงินปอนด์เล็กน้อย โดยการค้าระหว่างยูเคกับประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยจะยังคงดำเนินไปได้ตามปกติ ภายใต้กฎระเบียบการค้าเดิมเสมือนว่ายูเคยังอยู่กับอียูไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างนี้ ยูเคจะหารือกับอียูเพื่อเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งกรมฯ จะติดตามผลการหารือนี้อย่างใกล้ชิดว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร และจะมีผลกระทบหรือสร้างโอกาสทางการค้ากับไทยมากน้อยเพียงใด เพื่อประสานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเตรียมการปรับตัวได้ทันท่วงที

นางอรมน กล่าวว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์เบร็กซิทอย่างใกล้ชิด และเตรียมการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเจรจากับทั้งอียูเเละยูเคเรื่องการแก้ไขตารางข้อผูกพันโควตาภาษีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับโควตาสินค้าจำนวน 31 รายการ อาทิ มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ปลากระป๋อง เป็นต้น ที่ไทยเคยได้รับโควตาจากอียู เเละจะต้องมีการจัดสรรเเบ่งโควตาใหม่ภายหลังยูเคออกจากอียู (เบร็กซิท) โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นในการรักษาผลประโยชน์ของไทยให้ได้รับปริมาณโควตารวม (ที่ทั้งอียูและยูเคจะต้องจัดสรรโควตาให้ไทยใหม่) ไม่น้อยกว่าที่ไทยเคยได้รับเมื่อตอนที่ยูเคยังเป็นสมาชิกอียู รวมทั้งสะท้อนปริมาณการค้าจริงระหว่างไทยกับอียู 27 ประเทศ และยูเคให้มากที่สุด เนื่องจากยูเคเป็นคู่ค้ารายสำคัญอันดับที่ 21 ของไทย (อันดับที่ 2 ในอียู รองจากเยอรมนี) มีมูลค่าการค้ากับไทยปี 2562 อยู่ที่ 6,260 ล้านดอลลาร์ โดยไทยได้ดุลการค้า 1,426 ล้านดอลลาร์ การกระชับความสัมพันธ์กับยูเคภายหลังเบร็กซิทจึงเป็นเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญ

“ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษานโยบายและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับยูเค และมีกำหนดจัดประชุมเพื่อระดมความเห็นกับภาครัฐและภาคเอกชน ในวันที่ 7 และ 13 ก.พ. 2563  ซึ่งเมื่อไทยและยูเคจัดทำรายงานการศึกษานโยบายการค้าของกันและกันเสร็จแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะเข้าสู่กระบวนการหารือเพื่อจัดทำรายงานนโยบายการค้าร่วมกันต่อไป ซึ่งจะช่วยปูทางไปสู่การจัดทำเอฟทีเอระหว่างกันในอนาคต"นางอรมน กล่าว

นางอรมน กล่าวว่า หลังจากนี้ กรมฯจะจัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ และผู้สนใจในเรื่องการประกอบธุรกิจและกฎระเบียบการทำการค้ากับยูเคภายหลังเบร็กซิทในเดือนมี.ค. โดยเชิญวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือเบร็กซิท รวมถึงแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วนระหว่างไทยและยูเคต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกัน กรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเรื่องประโยชน์และผลกระทบต่อไทยในการทำเอฟทีเอกับยูเค รวมทั้งเตรียมจัดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และภาคประชาสังคมในเรื่องดังกล่าว เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอระดับนโยบายตัดสินใจเรื่องการทำเอฟทีเอระหว่างสองประเทศต่อไป

ทั้งนี้ การค้าไทยกับยูเคในปี 2562 มีมูลค่ารวม 6,260 ล้านดอลลาร์ หดตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 11.04 % โดยไทยส่งออกไปยูเค 3,843 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ไก่แปรรูป รถยนต์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกล เป็นต้นและไทยนำเข้าจากยูเค 2,417 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น