'อีอีซี' ความใฝ่ฝันรัฐบาล

'อีอีซี' ความใฝ่ฝันรัฐบาล

แม้ไทยให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนมากมายกับต่างชาติ เช่น ให้เช่าที่ได้ 99 ปี ก็ยังดึงต่างชาติมาลงทุนได้ยาก ปี 2562 แม้ตัวเลขการลงทุนเยอะ แต่เทียบกับปี 2561 เม็ดเงินน้อยลง 23% หรือมนต์เสน่ห์ของอีอีซีไม่ได้มีอยู่จริงเท่าที่ควร

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก : Eastern Economic Corridor หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “อีอีซี” นั้นเป็นโครงการที่รัฐบาลปัจจุบัน ตั้งความหวังไว้มาก ว่าจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงแข็งแรง ผู้เขียนก็เชียร์อยู่ แต่ก็ได้วิพากษ์โครงการนี้ในหลายจุดอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าสร้างผลร้ายต่อประเทศชาติในระยะยาว  

เรามาดูการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศในเชิงเปรียบเทียบ

อีอีซี "มีเป้าหมายหลัก ยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ...ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง ...10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่ออนาคต ...5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ ซึ่งในตัวโครงการได้มีการออกแบบการขนส่งและการคมนาคมไว้อย่างครอบคลุม ...รวมถึงให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดให้บรรษัทข้ามชาติจากทั่วทุกมุมโลก ...แผนการลงทุนของรัฐบาลตามกรอบการลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) รวมเม็ดเงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท”

ในความเป็นจริง เงินลงทุน 1.5 ล้านล้านบาทนี้ น้อยเกินไป! เพราะเป็นการลงทุนจริงเพียง 6 แสนล้าน อีก 3 แสนล้านหวังว่าภาคเอกชนจะมาลงทุนต่อเนื่องและอีก 6 แสนล้านเป็น อื่นๆ

เมืองปุตราจายา ที่มีขนาด 45.8 ตารางกิโลเมตร (พอๆ กับเขตบางเขน) กลับมีเงินลงทุนถึง 8.1 พันล้านเหรียญหรือ 2.5 แสนล้านบาท รัฐบาลขาดเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาโครงการนี้จนกระทั่งต้องออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่าสูงถึง 8.1 หมื่นล้านริงกิต (6.1 แสนล้านบาท) ยิ่งกว่านั้นนครไซเบอร์จายา ที่หวังเป็นศูนย์ไอทีภูมิภาคเอเชียก็ได้ข่าวว่าไม่รอดเหมือนกัน ถึงขนาดออกข่าวว่า “Cyberjaya a failure, think tank study finds"

โครงการที่เชิดหน้าชูตา รัฐบาลมาเลเซียที่มีข่าวว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จนี้ ทำให้เรานึกถึง “ฝันหวาน” อีอีซีที่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 3 จังหวัด ไม่ใช่ใหญ่แค่เขตบางเขน จะประสบความสำเร็จได้จริงหรือ ยิ่งเมื่อเทียบกับเงินลงทุนก็น้อยมาก มีเพียงไม่กี่โครงการที่ทำอยู่แล้วยังล่าช้าอยู่มากเช่นกัน

ทีนี้ เราต้องนึกถึงทางหนีทีไล่เหมือนกัน ไม่ใช่หลับหูหลับตาเชื่อข้อมูลด้านเดียวว่าจะ “โชติช่วงชัชวาล” ระลอก 2

ในปี 2561 ประมาณการว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ในอาเซียนราว 155 พันล้านเหรียญ (4.8 ล้านล้านบาท) โดยราวครึ่งหนึ่ง หรือ 77.6 พันล้านเหรียญ ไปอยู่ที่สิงคโปร์ รองลงมาคืออินโดนีเซีย เวียดนาม ส่วนไทยเป็นอันดับที่ 4 ฟิลิปปินส์เป็นอันดับที่ 5 ใน 10 ประเทศอาเซียน ขนาดว่าไทยให้ต่างชาติมี สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนมากมาย ให้เช่าที่ได้ 99 ปี ให้ซื้อห้องชุดได้ 100% ในเขตอีอีซี ก็ยังดึงต่างชาติมาลงทุนได้ยาก

จากข้อมูลล่าสุด (ม.ค.-ก.ย.2562) ของสำนักงาน BOI ก็ระบุว่าการลงทุนต่างๆ น้อยมากกว่าที่วางแผนไว้  โดยมีการขอรับการส่งเสริมฯ มีมูลค่า 314,130 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11% การอนุมัติการส่งเสริม มีมูลค่า 274,340 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 41% ส่วนการออกบัตรส่งเสริม มีมูลค่า 271,730 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 36%

ในแง่ข่าวดีและข่าวร้าย โดยข่าวดีก็คือมีการลงทุนในอีอีซีในมูลค่าสูงสุด โดยในเดือน ม.ค.-ก.ย. 2562 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคกลางมากที่สุด 539 โครงการ เงินลงทุน 72,870 ล้านบาท คิดเป็น 23% ของเงินลงทุนทั้งหมด การลงทุนในภาคตะวันออกมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับ 2 จำนวน 389 โครงการ คิดเป็น 33% ของจำนวนโครงการทั้งหมด แต่มีเงินลงทุนมากที่สุด หรือ 175,180 ล้านบาท คิดเป็น 56% ของเงินลงทุนทั้งหมด นี่แสดงว่า ข่าวร้ายก็คือในพื้นที่อื่นๆ ของทั้งประเทศมีเม็ดเงินไปลงทุนน้อยมาก เครื่องจักรเศรษฐกิจตัวเดียวที่ฝากไว้ก็คืออีอีซี

BOI รายงานการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี จำนวน 360 โครงการ เงินลงทุน 167,930 ล้านบาท อยู่ในชลบุรี 163 โครงการ เงินลงทุน 92,110 ล้านบาท อยู่ในระยอง 157 โครงการ เงินลงทุน 57,930 ล้านบาท และอยู่ในฉะเชิงเทรา 40 โครงการ เงินลงทุน 17,890 ล้านบาท แต่อย่าเพิ่งดีใจเพราะเมื่อเทียบกับปี 2561 ในห้วงเวลาเดียวกันกลับปรากฏว่า มูลค่าการลงทุนในอีอีซี ลดลงถึง 23% นี่แสดงว่า “มนต์เสน่ห์” ของอีอีซีไม่ได้มีอยู่จริงเท่าที่ควร

อย่างในญี่ปุ่น การย้ายฐานการผลิตต่างๆ ออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะไทยในภูมิภาคอาเซียน ช่วงปี 2529-2533 การที่ผลิตภาพด้านอุตสาหกรรมในประเทศลดลง อุตสาหกรรมบริการก็ลดลงเป็นเงาตามตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเมืองต่างๆ ก็ค่อย ๆ “เหือดแห้ง” ในอนาคตที่ฐานการผลิตต่าง ๆ ของไทยย้ายออกนอกประเทศ รวมทั้งอุตสาหกรรมจากต่างประเทศก็ย้ายออกไปอยู่เวียดนาม กัมพูชา พม่า ลาว และอินโดนีเซียแล้ว เศรษฐกิจที่เคยเฟื่องฟูในไทย ก็อาจจะถดถอยลงตามลำดับ

ขนาด ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังออกปากเองว่า ในสถานการณ์บาทแข็งก็ยังไม่มีใครลงทุนหรือซื้อเครื่องจักรเข้ามา
ต่างกำเงินไว้เพราะยังไม่มั่นใจในการลงทุน นี่คืออาการที่สุดจะน่าเป็นห่วงของอีอีซี  เราควรลงทุนแต่ต้องคิดให้รอบคอบ