‘กสิกร’ ปักธงบุกตลาดรายย่อยตปท.

‘กสิกร’ ปักธงบุกตลาดรายย่อยตปท.

"กสิกร" ปูพรมขยายตลาดต่างประเทศ ทั้ง จีน เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย วางเป้าระยะยาวบุกธุรกิรายย่อย หวังเป็นนิวเอสเคิร์ฟสร้างรายได้ให้กับแบงก์ จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเพียง 10% คาดเริ่มเปิดธุรกิรายย่อยในจีนปลายปีนี้ 

 นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารมีแผนขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเป็นพันธมิตรกับธนาคารในท้องถิ่นและการมีสาขาในต่างประเทศ แต่จะไม่เน้นการขยายสาขา เพราะต่อไปจะใช้ช่องทางดิจิทัลในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายย่อยในต่างประเทศ 

“ การขยายตลาดต่างประเทศ จะมุ่งขยายไปสู่กลุ่มลูกค้ารายย่อยมากขึ้น จากเดิมธุรกิจในต่างประเทศจะเป็นลูกค้ารายใหญ่เป็นส่วนใหญ่ และคาดหวังว่าจะเป็นส่วนที่สร้างรายได้ให้กับแบงก์ในอนาคต จากปัจจุบันกสิกรมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศประมาณ 10% คาดว่าจะได้เห็นในจีนก่อน อย่างไรก็ตามลูกค้ารายย่อยของจีนจะเน้นกลุ่มที่เป็นนีชจริงๆ”

สำหรับธุรกิจในต่างประเทศนั้น จะมีการเปิดสาขาในเวียดนาม การเข้าไปร่วมลงทุนกับแบงก์ในเมียนมา และการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน อินโดนีเซีย  จากปัจจุบันที่ถืออยู่ 9.99% ซึ่งตามข้อตกลง (MOU) นั้น ธนาคารแมสเปี้ยน  เปิดให้ธนาคารกสิกรไทยถือหุ้นได้ในสัดส่วน 30-40% ทั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยไม่ต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกิน 50% ขณะเดียวกันธนาคารแมสเปี้ยนก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากจากต่างชาติ เป้าหมายหลักของธนาคารพันธมิตรทั้ง 2 ฝ่ายคือ ความร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าว่า  ธนาคารมีแผนเพิ่มช่องทางการให้บริการลูกค้าบุคคล หรือรายย่อยในจีนผ่านดิจิทัลทั้งหมด ทั้งสินเชื่อ เงินฝาก และบริการอื่นๆ ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตสูง แม้การแข่งขันด้านดิจิทัลแบงกิ้งในจีนจะรุนแรง  แต่เชื่อว่ายังมีช่องว่างเข้าไปทำธุรกิจได้ ด้วยจำนวนลูกค้ารีเทลในจีนที่มีเกือบ 1 พันล้านคน คาดว่าจะเริ่มเห็นภายในสิ้นปี 2563 นี้

นอกจากนี้ ธนาคารตั้งเป้าเข้าไปเจาะในตลาดอื่นในต่างประเทศด้วยธุรกิจรีเทล เพราะด้วยศักยภาพและเทคโนโลยีที่มีอยู่ ทำให้กสิกรสามารถเข้าไปแข่งขันและเจาะตลาดได้มากขึ้น ซึ่งธุรกิจรายย่อยในต่างประเทศ จะถือเป็น New S-curve หรือแหล่งที่สร้างรายได้ใหม่ให้กับกสิกรไทยในอนาคตอันใกล้นี้

"ในจีนเราไม่เคยทำรีเทล แต่ตอนนี้เราพร้อมแล้ว โดยทีมงานกำลังตั้งแล็ป คาดว่าปลายปีนี้น่าจะเห็นการเข้าไปเจาะรีเทลได้ เพระรีเทลสมัยใหม่บนโลกดิจิทัล ไม่เหมือนโลกที่เราเคยเห็นในอดีต วันนี้บนโลกดิจิทัลทำได้หมด ต้นทุนต่ำ แต่ผลตอบแทนสูงกว่าบริการแบบอื่นๆ"

สำหรับการขยายตลาดในต่างประเทศ  ล่าสุดได้ขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสาขาธนาคารต่างประเทศในเวียดนามแล้ว คาดจเห็นความคืบหน้าภายในปีนี้ อีกทั้งได้ขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจในเมียนมา ในรูปแบบการถือหุ้นธนาคารท้องถิ่น   ส่วนในอินโดนีเซีย อยู่ระหว่างเจรจาเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารแมสเบี้ยน จากปัจจุบันที่อยู่ราว 9.99%

เขากล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าในการขยายการให้บริการโอนเงิน ชำระเงินรองรับสกุลเงินจาก 6 สกุล เป็น 14 สกุลในปีนี้ และการให้บริการในอนาคตจะรองรับดิจิทัลเคอเรนซี่ได้ด้วย โดยเฉพาะดิจิทัลเคอเรนซี่ของจีน ที่จีนอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยเอาเงินหยวนมาอยู่บนออนไลน์ อยู่ระหว่างพิจารณาว่าต้องทำอย่างไร