ธปท.แก้เกณฑ์ 'คลินิกแก้หนี้' รอบ 3

ธปท.แก้เกณฑ์ 'คลินิกแก้หนี้' รอบ 3

ธปท.จ่อปรับเกณฑ์ "คลินิกแก้หนี้" เป็นรอบที่ 3  เปิดกลุ่มที่เป็นเอ็นพีแอลหลังวันที่ 1 ม.ค.2562 และกลุ่มที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีเข้าร่วมได้  ด้าน "ออมสิน" เข้าร่วมโครงการอีกราย หวังช่วยลดภาระหนี้ลูกหนี้

แหล่งข่าวจากวงการการเงิน เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับเกณฑ์โครงการคลินิกแก้หนี้อีกรอบ  กำหนดแถลงรายละเอียดวันที่ 3 ก.พ.นี้ โดยจะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้เข้าโครงการได้เพิ่มขึ้น คาดว่าจะเห็นการขยายโอกาสให้ลูกหนี้เสียที่เป็นหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล ภายหลังวันที่ 1 ม.ค.2562 ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ด้วย จากเกณฑ์เดิมที่กำหนดให้คนที่เป็นหนี้เสียก่อน 1 ม.ค.2562 เท่านั้น ที่สามารถเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ เพื่อให้ลูกหนี้ใหม่เข้าโครงการได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังจะมีการขยายเกณฑ์ ให้ลูกหนี้ที่อยุ่ระหว่างดำเนินคดีในชั้นศาล หรือคดีแดง สามารถเข้าโครงการได้ด้วย เพราะปัจจุบันมีลูกหนี้จำนวนมากที่อยู่ระหว่างการถูกฟ้องร้องและดำเนินคดี ทำให้ถูกตัดโอกาสในการแก้ไขปัญหาหนี้ได้ ดังนั้นจะเห็นลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การขยายให้ลูกหนี้สามารถเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ได้เพิ่มเติม เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าลูกหนี้ที่เข้าโครงการได้ยังมีค่อนข้างน้อย และยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน โดยล่าสุดมีลูกหนี้ที่เข้าโครงการสำเร็จ และอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้กับบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM ) เพียง 2,600 คน และมีจำนวนบัญชีคนที่เข้าโครงการได้เพียงกว่า 9 พันบัญชีเท่านั้น

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารจะเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ด้วย เพื่อให้ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิตของธนาคารสามารถเข้าโครงการได้ โดยหากดูลูกหนี้บัตรเครดิตของธนาคารออมสิน ปัจจุบันมีลูกค้ารวมอยู่ราว 3-4 แสนล้านบาท ขณะที่มีลูกหนี้เอ็นพีแอลเพียง 2% เท่านั้น

“รอบก่อนเราไม่เคยเข้าโครงการ เพราะเราเพิ่งทำบัตรเครดิตมาได้ 3 ปี ซึ่งครั้งนี้ออมสินพร้อมเข้าโครงการด้วย เพื่อให้ SAM เป็นเซ็นเตอร์ในการแก้หนี้เสียของลูกค้าบัตรเครดิต เพื่อบรรเทาปัญหาการชำระหนี้ ลดภาระหนี้ของลูกหนี้ได้ จากเดิมหากลูกหนี้เป็นหนี้เสียหลายแห่ง ภาระหนี้ก็จะสูง”

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.นี้ เป็นต้นไป ธปท. จะเริ่มเผยแพร่ตารางข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกวัตถุประสงค์ (Loans to Household classified by Purpose) ซึ่งเป็นข้อมูลที่เก็บรวมรวบจากแบงก์และนอนแบงก์ที่ปล่อยกู้ให้แก่บุคคลธรรมดา ข้อมูลดังกล่าวเป็นการแจงแจกเพิ่มเติมตารางข้อมูลที่เผยแพร่ปัจจุบันที่จำแนกเพียงว่าสถาบันการเงินใดเป็นผู้ปล่อยกู้เท่านั้น

ทั้งนี้ เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 มียอดคงค้างอยู่ที่ 13.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น79.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และเมื่อปรับปรุงฤดูกาลแล้วอยู่ที่ 79.3% ของ จีดีพี ขยายตัว5.5%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ข้อมูลชุดใหม่ที่เริ่มเผยแพร่มีความถี่เป็นรายไตรมาส และมีข้อมูลย้อนหลังไปถึงไตรมาส 1 ปี 2555

สำหรับสัดส่วนของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์ในช่วง 7 ปีที่ผ่านไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ล่าสุดโดยประมาณหนึ่งในสามเป็นการกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ รองลงมาเป็นการกู้ไปเพื่อกินเพื่อใช้ เพื่อการประกอบอาชีพ และเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ในอัตรา 20% 18% และ 13%ตามลำดับ