ไทยกับ 'ดอกเบี้ยนโยบาย' ที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์

ไทยกับ 'ดอกเบี้ยนโยบาย' ที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์

แม้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะมีการปรับลดลงมาแล้วอยู่ที่ 1.25% แต่ก็ยังเจอกับ 3 ปัจจัยรุมเร้าที่อาจทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ธปท.จะปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.00% หากเป็นเช่นนั้นจริงถือว่าต่ำในสุดในประวัติศาสตร์ มาดูกันว่า 3 ปัจจัยนี้มีอะไรบ้าง?

เปิดปี 2020 มาด้วยข่าวดีด้านข้อตกลงการค้า Phase 1 ระหว่างสหรัฐและจีน ก่อนที่ทุกอย่างจะกลับมาน่ากังวล หลังจากสหรัฐและอิหร่านประจันหน้ากัน ตามมาด้วยไวรัสโคโรน่าที่ระบาดอย่างรวดเร็ว เรามองภาพเศรษฐกิจโลกปี 2020 จะสดใสขึ้นกว่า ปีที่แล้วหลังจากธนาคารกลางทั่วโลกพร้อมใจกันลดดอกเบี้ยกันถ้วนหน้า ตามธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED แต่กลับต้องมาเจอหลายปัจจัยที่คาดไม่ถึงขึ้น

อย่าง BOT เองเราก็มองว่าจะลดดอกเบี้ยลง 1 ครั้งในช่วงไตรมาส 1 นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาท ได้อ่อนค่าลงกว่า 5% จากเหตุการณ์ที่ไวรัสโคโรน่าแพร่กระจายในเอเชีย สวนทางกับภาพไทยบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่า 9% ในปีที่แล้ว ซึ่งกดดันภาคส่งออกไทยอย่างมาก โดยภาคส่งออกไทยในปี 2019 หดตัวถึง 2.65% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียวต่างจากก่อนหน้านี้ที่มองแค่ว่าอาจจะไม่โต

หากมองย้อนกลับไป กนง.มีมติลดดอกเบี้ยไป 2 ครั้งในปี 2019
ซึ่งหาก กนง.ลดดอกเบี้ยลงจากระดับ 1.25% ในปัจจุบันมาอยู่ที่ 1.00%
จะถือว่าเป็นระดับดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์

โดยปัจจัยที่หนุนการลดดอกเบี้ยมี 3 ข้อ ดังนี้

1.เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในแนวโน้มชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากภาษีนำเข้าสหรัฐและจีน ที่แม้ว่าจะยกเลิกหรือลดลงไปแล้วบางส่วน แต่กว่า 2 ใน 3 ของภาษีนำเข้าก็ยังคงอยู่ และดูเหมือนว่าจะคงอยู่อย่างนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งสหรัฐในเดือน พ.ย. นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าก็อาจส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และค้าปลีก ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของไทย อีกทั้งตัวขับเคลื่อนอื่นที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาคือ การบริโภคภาคเอกชนที่คอยเกื้อหนุนอยู่เริ่มมีสัญญาณหดตัวแล้ว กลับกลายเป็นว่าต้องพึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐที่เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยสามารถทำได้เพียงอย่างเดียว เพราะปัจจัยอื่นๆ ล้วนเป็นปัจจัยภายนอก และนอกเหนือจากการควบคุม

2.เหตุผลเดียวที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ดังที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น คือ การใช้จ่ายจากทางภาครัฐ แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณ มีการอนุมัติล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้การเบิกจ่ายจริงในไตรมาส 1 น้อย ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ดูเหมือนว่าจะต้องมีการเลื่อนออกไปอีก หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้อง จากคำร้องที่มีการเสียบบัตรแทนกัน

3.อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และต่ำกว่า 1% ซึ่งแนวโน้มจะยังคงอยู่ในระดับต่ำอีกต่อไป ทั้งนี้ โอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้นั้นค่อนข้างเป็นไปได้ต่ำ เพราะราคาน้ำมัน คาดว่าจะถูกกดดันจากไวรัสโคโรน่าที่กระทบต่อการเดินทาง และ Demand กับ Supply ที่อยู่ในระดับเหมาะสม

นอกเหนือจากปัจจัยดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีสัญญาณหลายอย่างที่ได้บ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุม กนง. วันที่ 5 ก.พ.นี้ เช่น ก่อนหน้านี้ มีการประกาศใช้เกณฑ์อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน หรือ LTV ที่เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเก็งกำไรของอสังหาริมทรัพย์ สำหรับสัญญาที่ 2 แต่ทาง ธปท. ได้มีการผ่อนคลายเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง

รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี และ 5 ปี ของไทยที่ปรับลงแรงประมาณ 0.2% มาอยู่ที่ 1.09% และ 1.21% ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงตลาดมีมุมมองว่า การประชุมครั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่ ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 1.00% ลงมาต่ำที่สุดในประวัติการณ์