สร้างภูมิคุ้มกัน สกัด 'Fake News'

สร้างภูมิคุ้มกัน สกัด 'Fake News'

หนึ่งในทักษะที่ต้องมีในยุคดิจิทัล ก็คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง เพื่อสกัด Fake News

ความสามารถในการวิเคราะห์และตัดสินจากข้อมูลที่มีคุณภาพในโลกอินเทอร์เน็ต

ยิ่งการที่มีคนบางกลุ่มพยายามสร้างข่าวลวง ซึ่งอาจเป็นเพราะความสนุก คึกคะนอง ความเกลียดชัง หรือหวังผลทางการเมือง ก็ยิ่งทำให้เกิดความปั่นป่วนขึ้น ทุกวันนี้เราเห็นข่าวสารต่างๆ ถูกแชร์ออกมามากมายผ่านทางโซเชียลมีเดียล บ้างก็เป็นภาพที่บรรจงแต่งขึ้นมา บ้างก็เป็นข้อความ และเนื้อหาแนะนำเรื่องราวต่างๆ มากมายไปจนถึงทางด้านการแพทย์ ซึ่งส่วนมากไม่มีการระบุแหล่งที่มา หรืออ้างแหล่งที่ผิดๆ จนหลายคนไม่รู้ว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่ 

ยิ่งล่าสุดในสถานการณ์ของการระบาดไข้หวัดโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เราจะเห็นข้อความถูกแชร์มาสารพัด บ้างก็ให้ความรู้ที่ไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่ บ้างก็สร้างข่าวให้เกิดความตื่นตระหนกจนเกินเหตุ บ้างก็เจตนาหวังผลทางการเมือง จนรัฐบาลในหลายๆ ประเทศเริ่มมีความกังวลต่อการสร้างข่าวลวงเหล่านี้

หนึ่งในทักษะเชิงดิจิทัลที่ผู้คนควรมี คือทักษะด้านความสามารถการค้นหาและใช้ข้อมูล
ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การค้นข้อมูลจาก กูเกิล หรือ เสิร์ช เอ็นจิ้น ต่างๆ เท่านั้น
แต่ควรจะรวมไปถึงความสามารถในการวิเคราะห์และตัดสินจากข้อมูลที่มีคุณภาพในโลกอินเทอร์เน็ต

เราอยู่ในสังคมของการ Click, Like และ Share ผู้คนจำนวนมากเลือกคลิกข้อมูลต่างๆ ขึ้นมาอ่านอย่างผิวเผิน มีการกด Like ด้วยความชื่นชม และบางครั้งก็ส่งข้อมูลที่อ่านคร่าวๆ เหล่านั้นแชร์ให้กระจายออกไป ในโลกออนไลน์การสร้างเนื้อหาต่างๆ เป็นเรื่องง่าย แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือ ผู้คนที่จะใช้โลกออนไลน์ได้มีประโยชน์ต้องมีภูมิคุ้มกันในการรับข้อมูลข่าวสารที่ดี และเลือกรับให้เป็น ถ้าสังคมมีความอ่อนแอขาดภุมิคุ้มกัน การมีข้อมูลมหาศาลจะกลายเป็นผลร้ายต่อสังคม ผู้คนเลือกบริโภคข้อมูลผิดๆ เกิดความผิดพลาด บางครั้งอาจทำให้ความเข้าใจองค์ความรู้บางอย่างผิดเพี้ยนไป

ดังนั้นหนึ่งในทักษะเชิงดิจิทัลที่ผู้คนควรมี คือทักษะด้านความสามารถการค้นหาและใช้ข้อมูล ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การค้นข้อมูลจาก กูเกิล หรือ เสิร์ช เอ็นจิ้น ต่างๆ เท่านั้น แต่ควรจะรวมไปถึงความสามารถในการวิเคราะห์และตัดสินจากข้อมูลที่มีคุณภาพในโลกอินเทอร์เน็ต รวมถึงทักษะในการอ้างอิงข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ และเข้าใจถึงลิขสิทธิ์ของข้อมูลและการนำไปใช้

ยิ่งในโลกปัจจุบันที่มีข้อมูลอยู่มากมาย เราจะสอนผู้คนให้ทราบได้อย่างไรว่า ข้อมูลใดถูกต้อง ดังนั้นทักษะเหล่านี้จะต้องถูกปูพื้นฐานตั้งแต่เด็กให้เข้าใจในเชิงเปรียบเทียบ วิเคราะห์แหล่งที่มาของข้อมูล หาแหล่งข้อมูลอ้างอิง การเรียนการสอนตั้งแต่ในระดับประถมศึกษาจึงจำเป็นต้องสอนให้เด็กสืบค้นข้อมูลออนไลน์อย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่สอนแค่ให้ค้นได้แล้วเอามาตัดปะมาส่ง แต่จะต้องฝึกเด็กให้คิดเชิงวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลที่ถูกผิดได้ ซึ่งถ้าเราสามารถสอนคนให้รู้จักใช้ข้อมูลได้อย่างมีคุณภาพ ความกังวลเรื่องข่าวลวงต่างๆ ก็จะน้อยลงไป และสังคมออนไลน์ที่กด Click, Like และ Share ก็จะมีข้อมูลที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย