ผู้ลี้ภัยเวเนซุเอลา-วิกฤติที่แตกต่าง

ผู้ลี้ภัยเวเนซุเอลา-วิกฤติที่แตกต่าง

ผู้ลี้ภัยเวเนซุเอลา-วิกฤติที่แตกต่าง โดยยูเอ็นเอชซีอาร์ เผยว่า นับตั้งแต่ปี 2558 ประชาชนชาวเวเนซุเอลาเดินทางออกจากประเทศ เพื่อหนีเอาชีวิตรอดจากความรุนแรงและการขาดแคลนสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตแล้ว 4.5 ล้านคน

ภาพคลื่นผู้อพยพหนีสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดเพราะไฟสงคราม กระจายพรายพลัดกันไปตามที่ต่างๆ เป็นภาพที่ผู้คนในส่วนอื่นๆ ของโลกพอจะเข้าใจได้ว่าอะไรทำให้พวกเขาต้องลี้ภัย แต่สำหรับประชาชนในประเทศที่ยังมีรัฐบาลบริหารงานด้วยความชอบธรรม ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ฝ่ายค้านยังคงทำหน้าที่ แล้วไฉนผู้คนถึงต้องอพยพออกไปไม่หยุด ซึ่งสภาพแบบนี้กำลังเกิดขึ้นที่เวเนซุเอลา

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เผยว่า นับตั้งแต่ปี 2558 ประชาชนชาวเวเนซุเอลายังต้องเดินทางออกจากประเทศ เพื่อหนีเอาชีวิตรอดจากความรุนแรงและการขาดแคลนสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยารักษาโรค และการบริการขั้นพื้นฐาน ทำให้แต่ละวันมีชาวเวเนซุเอลาต้องออกจากประเทศเฉลี่ยกว่า 5,000 คน เพื่อไปแสวงหาความปลอดภัยและความคุ้มครองนอกแผ่นดินเกิด รวมแล้วกว่า 4.5 ล้านคน

วิกฤตการณ์การลี้ภัยและอพยพครั้งนี้เป็นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ภูมิภาคละตินอเมริกา มีความร้ายแรงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากวิกฤติซีเรีย และต้องการความช่วยเหลือที่เร่งด่วนที่สุด

158043560671

ด้วยความห่างไกลคนละซีกโลกระหว่างไทยกับเวเนซุเอลา ด้วยสภาพปัญหาที่แตกต่างจากที่อื่น จึงยากที่คนไทยและคนนอกภูมิภาคจะเข้าใจหากฟังข่าวเพียงผิวเผิน ยูเอ็นเอชซีอาร์ พร้อมปู ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ทูตสันถวไมตรี และสื่อพันธมิตร ร่วมกันเปิดตัวสารคดีเพื่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพจากวิกฤติเวเนซุเอลา ในงาน Venezuela Film Night ทีมงานจัดทำสารคดีลงพื้นที่ประเทศโคลอมเบีย ที่รองรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพชาวเวเนซุเอลามากที่สุดในโลก ร่วมเปิดวงเสวนาเล่าถึงบรรยากาศที่มีทั้งความโศกเศร้าแต่ก็แฝงด้วยแง่คิด

ปู ไปรยา เล่าว่า เธอติดตามข่าวสารของเวเนซุเอลามาระยะหนึ่งแล้ว พบว่าแตกต่างจากที่อื่นตรงที่ปัญหาไม่ได้เกิดจากสงคราม แต่เป็นเพราะระบบล่มสลาย ขาดแคลนบริการสาธารณสุข สาธารณูปโภค เศรษฐกิจพัง เงินกลายเป็นกระดาษ

“ปูเจอผู้ชายคนหนึ่งเคยทำงานด้านการเงินอยู่ที่เวเนซุเอลา มีรายได้ มีบ้าน มีรถขับ มีสวน ชีวิตค่อนข้างสบาย เขาบอกว่าไม่เคยคิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ ถึงตอนนี้เขาก็ยังไม่มีรายได้พอจะรับภรรยาและลูกข้ามมาอยู่โคลอมเบียได้ เกิดมาเขาไม่เคยคิดว่าจะมาทำอาชีพถักกระเป๋าเพราะเป็นงานต่ำ แต่ตอนนี้เขาบอกว่าภูมิใจที่สุดที่ได้ถักกระเป๋าเลี้ยงครอบครัว” ทูตสันถวไมตรีของยูเอ็นเอชซีอาร์ เล่าประสบการณ์การลงพื้นที่ถ่ายทำสารคดีสั้นเรื่อง “Sin Fronteras: Venezuela at the Crossroads” ที่ประเทศโคลอมเบีย

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวมากฝีมือ ที่ร่วมลงพื้นที่ด้วย ให้ความเห็นตอกย้ำความยากลำบากที่เกิดขึ้นเธอยอมรับว่า เคยลงพื้นที่มามากมายส่วนใหญ่ปัญหามาจากสงคราม การประหัตประหารกันด้วยอาวุธ เป็นเหตุให้เกิดผู้ลี้ภัย เช่น ซีเรีย เลบานอน ซูดานใต้ ยูกันดา ค็อกซ์บาซาร์ (บังกลาเทศ) แต่เวเนซุเอลาแตกต่างจากทุกที่

“ในแง่ของข่าว ประเด็นที่วิกฤติระดับโลกในปีที่แล้ว เรื่องของเวเนซุเอลาเป็นเรื่องที่น่าเรียนรู้มาก ในฐานะคนทำข่าวนอกจากเราเห็นใจคนเวเนซุเอลาที่เกิดความทุกข์ยาก จะหาข้าวกินยังไม่มี ต้องเอาทุกอย่างไปแลก ในทางข่าวนี่คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ว่าถ้าหากประเทศเราเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เกิดความล่มสลายของทุกๆ อย่างแล้วเราจะอยู่อย่างไร” ฐปณีย์หลังจากลงพื้นที่ประเทศโคลอมเบียที่รับผู้ลี้ภัยเวเนซุเอลามากที่สุดกว่า 1.4 ล้านคน สภาพเมืองชายแดนที่เคยรุ่งเรืองเพราะเป็นเมืองค้าขาย ชาวเวเนซุเอลาเคยนำเงินมาซื้อของที่นี่กลับกลายเป็นเมืองที่ต้องรองรับผู้ลี้ภัย ร้านค้าที่ตกค่ำต้องปิดประตู แต่ฟุตบาธหน้าร้านคือบ้านของผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลาได้อาศัย

"บ้านของเขามีแค่รถเข็น ข้างในมีผ้าห่ม เสื้อผ้า กระบอกน้ำ ของใช้ในครอบครัว กลางวันก็ออกไปหาเงิน กลางคืนก็มานอนกับพื้น จากคนที่เคยมีบ้านหลังใหญ่ วันหนึ่งพวกเขาเหลือแค่ผ้าห่มผืนเดียว"

สุชาดา ภูกิตติกุล รองผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน ยูเอ็นเอชซีอาร์ ขยายความถึงการลงพื้นที่โคลอมเบีย

" ยูเอ็นเอชซีอาร์มีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้ลี้ภัย โคลอมเบียเป็นประเทศที่รองรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพชาวเวเนซุเอลามากที่สุด 1.4 ล้านคน และเป็นพื้นที่ที่ยังมีคนเดินทาง ยูเอ็นเอชซีอาร์ทำงานครอบคลุม 360 องศาในโคลอมเบีย เริ่มตั้งแต่ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน เมื่อพวกเขาข้ามมาเราคุ้มครองให้ปัจจัย 4 ให้ที่พักพิงที่ปลอดภัย"

สุชาดาย้ำว่า นี่แค่เริ่มต้น งานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไม่ได้เป็นแค่วันเดียว ยูเอ็นเอชซีอาร์ต้องดูแลในระยะกลาง เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ส่วนการดูแลระยะยาวคือให้ผู้ลี้ภัยอยู่อย่างเกื้อกูลกับประเทศโคลอมเบียด้วย

แม้การลงพื้นที่จะพบกับความจริงอันน่าหดหู่ในสิ่งที่ชาวเวเนซุเอลาต้องประสบพบเจอ แต่สำหรับฐปณีย์เธอได้พบกับความประทับใจในอีกมุมหนึ่งของเหตุการณ์

"ประทับใจน้ำใจของชาวโคลอมเบีย เขาเป็นประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวย เพิ่งผ่านสงคราม ความขัดแย้ง และอยู่ระหว่างกระบวนการสันติภาพ ในโคลอมเบียยังมีผู้พลัดถิ่นในประเทศอีกมาก แต่เขาก็พร้อมที่จะเปิดรับเพื่อนบ้านเพราะในอดีตคนโคลอมเบียก็เคยลี้ภัยไปที่เวเนซุเอลา พอวันนึงที่เวเนซุเอลายากลำบาก เพื่อนบ้านคือประตูด่านแรกที่จะเปิดรับ"

158043561794

สิ่งที่ชาวโคลอมเบียทำในสายตาของฐปณีย์คือการเปิดใจยอมรับผู้ลี้ภัยในฐานะของเพื่อนมนุษย์ ผู้ลี้ภัยไม่ใช่สิ่งที่่น่ากลัว เธอในฐานะคนทำข่าวอยากรณรงค์ให้สังคมเข้าใจและลดความเกลียดกลัวผู้ลี้ภัย ที่เธอมองว่า วันหนึ่งเราอาจจะเป็นผู้ลี้ภัยคนนั้นก็ได้

นอกจากสารคดีเรื่อง “Sin Fronteras: Venezuela at the Crossroads” ที่ปู ไปรยา ร่วมงานกับแมงกาต้า โปรดักชั่นส์แล้ว ยังมีผลงานสารคดีจากสื่อพันธมิตรอีก 2 เรื่อง ได้แก่ ไฮไลท์พิเศษจากรายการข่าว 3 มิิติและ The Reporters โดยฐปณีย์ และภาพยนตร์สารคดี HUMANS OF NOWHERE โดย เดอะสแตนดาร์ด ที่ช่วยฉายภาพวิกฤติครั้งนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และยูเอ็นเอชซีอาร์จะหาโอกาสนำเสนอสู่สายตาผู้ชมต่อไป

“ยูเอ็นเอชซีอาร์ทำงานในพื้นที่ตลอดเวลาเพื่อประเมินความต้องการด้านการคุ้มครอง และมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เราขอขอบคุณความร่วมมืออันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และการสนับสนุนจากทุกคน โดยเฉพาะองค์กรพันธมิตร และประชาชนชาวไทยที่มีให้กับการทำงานของเราโดยตลอดมา” จูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทยสรุปถึงการทำงานโดยรวม