กฟผ.จ่อนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตใหม่

กฟผ.จ่อนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตใหม่

กฟผ. เตรียมชง “สนธิรัตน์” เคาะแผนเร่งนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตใหม่ ไม่เกิน 1 ล้านตันปีนี้ ชี้เป็นจังหวะเหมาะเหตุราคาก๊าซตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ เงินบาทแข็งค่า

นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.อยู่ระหว่างจัดทำแผนจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ล็อตใหม่ ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มอบหมายให้ กฟผ. และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้จังหวะราคา LNG ตลาดโลกถูกลงมาใช้ประโยชน์ในประเทศ โดยให้เร่งรัดการนำเข้า LNG มาป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และไม่ให้กระทบต่อสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือ Global DCQ

โดยเบื้องต้น กฟผ.มีแผนที่จะนำเข้า LNG ล็อตใหม่ เพื่อนำมาป้อนเป็นเชื้อเพลิงใน 3 โรงไฟฟ้า คือ โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา,โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.อยุธยา และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ จ.สมุทรปราการ 

ขณะนี้ อยู่ระหว่างกำหนดปริมาณความต้องการใช้ LNG ที่เหมาะสม คาดว่า จะไม่ถึง 1 ล้านตันในปีนี้ เนื่องจากเหลือระยะเวลาดำเนินการเพียง 6 เดือนเท่านั้น เพราะการนำเข้า LNG ล็อตใหม่ ยังมีหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ทั้งการเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) จึงคาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเร็วสุดราวเดือน พ.ค.-มิ.ย.63 จากนั้น จะเริ่มนำเข้า LNG ล็อตใหม่มาใช้ได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ 

“กฟผ.คาดว่า จะสรุปแผนนำเข้า LNG ล็อตใหม่ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาได้ในเร็วๆนี้ ซึ่งจังหวะนี้ถือว่ามีความเหมาะสมที่จะเร่งนำเข้า LNG เนื่องจากราคา LNG ตลาดโลก (อ้างอิง JKM) แบบตลาดจร (Spot) อยู่ที่ราว 4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคา Pool Gas เฉลี่ยอยู่ที่ 7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู”

ทั้งนี้ กฟผ. มองว่า การเร่งรัดนำเข้า LNG จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศปรับสูงขึ้นกว่าคาดการณ์ไว้ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น โดยอุณหภูมิเฉลี่ย 23 วันของเดือน ม.ค.2563 อยู่ที่ 34 องศาเซลเซียส จากเดือน ม.ค.2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 32.1 องศาเซลเซียส ทำให้คาดว่าทั้งปี63 ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจะเติบโตราว 4% สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ประเมินว่าจะเติบโตราว 2% จากปี2562 มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า อยู่ที่ 197,700 ล้านหน่วย